จับตาหุ้น 4 กลุ่มรับผลบวก “ไมโครซอฟต์” ผงาดไทย ปักหมุดดาต้าเซ็นเตอร์
ไมโครซอฟต์เดินหน้าลงทุน “ดาต้าเซ็นเตอร์” ในไทยตามนัด เร่งเจรจาพาร์ตเนอร์ปิดดีลสิ้นปีนี้ “กัลฟ์” ขานรับเปิดศูนย์ข้อมูล 11 แห่ง รวม Capacity 23 เมกะวัตต์ ภายในเดือน เม.ย. 68 รองรับลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ “บล.กรุงศรี” คัดหุ้นเด่น 4 กลุ่มรับประโยชน์จากกระแส Data Center นำโดย GULF-ADVANC-TRUE-DELTA-BDMS-CPF-SCC-INSET-BE8-BBIK
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนายสัตยา นาเดลลา ประธานกรรมการบริหาร Microsoft ได้มาเยือนประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งประกาศแผนการลงทุนศูนย์ข้อมูล (Data Center) ในไทย ช่วงของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี
ล่าสุดนายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ขณะนี้ว่า ปัจจุบันบริษัทอยู่ในขั้นตอนของการเจรจากับพาร์ตเนอร์ในประเทศไทย ที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาดาต้าเซ็นเตอร์ โดยคาดว่าการเจรจาข้อตกลงจะเสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้
สำหรับมูลค่าการลงทุนจะถูกเปิดเผยอย่างเป็นทางการหลังจากการเจรจาข้อตกลงกับพาร์ตเนอร์เสร็จสิ้นแล้ว โดยเบื้องต้นจะมีดาต้าเซ็นเตอร์ของ Microsoft ในไทยทั้งหมด 3 แห่ง และคาดว่าจำนวนจะเพิ่มขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ ดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทยจะเป็นรูปแบบของ Leasing หรือการเช่าศูนย์ข้อมูล เนื่องจากเทคโนโลยีในไทยเปลี่ยนไปเร็วมาก ทำให้ต้องมีการทำสัญญาเช่า พร้อมทั้งคัดเลือกพาร์ตเนอร์ไปด้วย
ส่วนกรณีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี นายธนวัฒน์ ชี้แจงว่า Microsoft ประเทศไทย ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด และแผนการพัฒนาโครงการทุกอย่างยังเป็นไปตามปกติ โดย Microsoft ประเทศไทย มั่นใจว่าการที่ไทยมีดาต้าเซ็นเตอร์เป็นของตัวเอง จะสามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยคลาวด์ AI ในไทย จะอยู่ในคลังข้อมูลของ Microsoft ทั่วโลก
นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ กรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เปิดเผยว่า ดาต้าเซ็นเตอร์ที่ร่วมลงทุนกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC จะเปิดใช้อย่างเป็นทางการเดือน เม.ย. 2568 นี้ ขณะนี้มีลูกค้าหลายรายที่สนใจเช่าบริการของศูนย์ข้อมูลดังกล่าว โดยมีทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งนักลงทุนจากต่างประเทศ
นางสาวสมฤทัย ตัณฑกิตติ Head of Investor Relations Unit ADVANC กล่าวว่า สำหรับมุมมองธุรกิจคลาวด์และดาต้าเซ็นเตอร์ ในอนาคตมีแนวโน้มเติบโตสูง ทุกคนต้องการเก็บข้อมูลและประมวลผล ดังนั้นมองว่าธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์จึงมาแรง และมีโอกาสเก็บข้อมูลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับประเทศไทยคาดว่าจะเติบโตกว่า 20% โดยหลายบริษัทพยายามเปิดตัวดาต้าเซ็นเตอร์ในไทย อาทิ ไมโครซอฟท์ เป็นต้น
ส่วนดาต้าเซ็นเตอร์ที่บริษัทร่วมลงทุนกับ GULF นั้น อยู่ระหว่างก่อสร้างและคาดเปิดใช้ไตรมาส 2/2568 โดยจะมีทั้งหมด 11 แห่ง รวม Capacity 23 เมกะวัตต์
นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) หรือ KSS ระบุว่า จากกรณีกรรมการผู้จัดการใหญ่ Microsoft ประเทศไทย แสดงวิสัยทัศน์ว่า ไมโครซอฟท์เห็นโอกาสที่ AI และคลาวด์จะเข้ามาช่วยยกระดับและสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับคนไทยและประเทศไทย ทั้งกับภาคการศึกษา การท่องเที่ยว ด้านดูแลสุขภาพ หรือเฮลท์แคร์ การเงิน ภาครัฐ ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม การผลิต การท่องเที่ยว ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ ฯลฯ สอดคล้องกับมุมมอง KSS ที่นำเสนอ หลังร่วมงาน Thailand Focus ที่ความพร้อมเทคโนโลยีไทยกำลังเพิ่มขึ้น และจะนํามาสู่การเกิดรูปแบบการใช้ หรือ Use Case ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพต่อยอดกำไรอุตสาหกรรมต่าง ๆ
สำหรับความคืบหน้าล่าสุดเรื่องการจัดตั้ง Data Center ของ Micosoft ในไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมงานขั้นสุดท้ายร่วมกับพาร์ตเนอร์ โดยปีนี้คาดว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องการทํางานระหว่างกัน จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนของการเตรียมการและเปิดตัวต่อไป โดยจะแตกต่างกับในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ Microsoft จะลงทุนสร้างเอง ส่วนการเป็นพันธมิตร KSS มองเป็นไปได้สูงที่จะอยู่ในกลุ่มผู้ให้บริการมือถือที่มีความเชี่ยวชาญการลงทุน Data Center อยู่แล้ว (เดิมลงทุนเพื่อใช้งานภายใน) ประเมินบวกต่อทั้ง ADVANC และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE
ส่วนกลุ่มที่มีโอกาสได้ประโยชน์จากกระแส Data Center, Cloud, AI หลังจากนี้มีทั้งหมด 4 กลุ่ม คือกลุ่มที่ 1 ผู้ได้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานขยายตัวโดยตรง อาทิ GULF, บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH, ADVANC, TRUE, บริษัท อินฟราเซท จำกัด (มหาชน) หรือ INSET, บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA และบริษัท เอสทีพี แอนด์ ไอ จำกัด (มหาชน) หรือ STPI
กลุ่มที่ 2 กลุ่ม Digital Tech ที่ Data Center จะนํามาสู่การขยายงานประเภท Cloud Adoption และ AI รวมถึง Automation Adoption ที่ Use Case ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เริ่มเติบโตเร่งตัวขึ้น อาทิ บริษัท เบริล 8 พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ BE8, บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BBIK
กลุ่มที่ 3 กระแส Cycle เทคโนโลยี AI ที่ผลักดันอุปกรณ์สื่อสารต่าง ๆ พัฒนาให้มี AI พื้นฐานติดเครื่องมากขึ้น นํามาสู่การเปลี่ยนเครื่องใหม่ บวกต่อบริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA, บริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท จำกัด (มหาชน) หรือ ADVICE, บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SYNEX, บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ COM7
กลุ่มที่ 4 ผู้ได้ประโยชน์จากกรณีการนำไปใช้งานหรือ Use Case ในเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและนำมาสู่ผลกำไร เช่น ค้าปลีก การแพทย์ เกษตร อุตสาหกรรม มองบวกกลุ่มผู้นำในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพลงทุน อาทิ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL, บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS, บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF, บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC