CLSA เปิด 4 ปัจจัยหนุน SET ไตรมาส 4 พร้อมชู 5 หุ้นท็อปพิก!

CLSA มองตลาดหุ้นไทยไตรมาส 4 รับ 4 ปัจจัยบวก “ลดดอกเบี้ย-กองทุนวายุภักษ์ 2-ไฮซีซั่นท่องเที่ยว-ดิจิทัลวอลเล็ต” พร้อมชู 5 หุ้นท็อปพิก CPN, CPALL, AMATA, BDMS และ TOP


บริษัทหลักทรัพย์ ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ CLSA ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ตลาดทุนไทยจะได้รับโมเมนตัมเชิงบวกในไตรมาส 4/67 ด้วย 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การปรับลดอัตราดอกเบี้ย, กองทุนวายุภักษ์ 2, ช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยว และโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

โดยมองว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะส่งผลกระทบต่อตลาดน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า เนื่องจากการเบิกจ่ายเงินแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ขณะที่คาดการณ์ว่าอาจมีประชากรเพียงกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าว

พร้อมกันนี้ คาดการณ์ว่านโยบายต่างๆ ที่มีอยู่เดิมจะได้รับการดำเนินการต่อไป แต่ยังคงไม่มั่นใจกับโครงการใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าและกำหนดอัตราค่าโดยสารให้คงที่ที่ 20 บาทต่อเที่ยว, การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดาและการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อช่วยเหลือคนจน, รวมถึงการส่งเสริมการลงทุนใหม่ใน Data center

ทั้งนี้ การซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง การลดหย่อนภาษีต้องมีการวางแผนงบประมาณเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการลดภาระภาษีและการรักษารายได้ที่เพียงพอสำหรับการลงทุนของภาครัฐ ขณะที่ Data center ต้องใช้ไฟฟ้าราคาถูกและพลังงานสีเขียว ซึ่งต้องใช้เวลาในการปรับโครงสร้างกฎระเบียบด้านพลังงาน

อีกทั้งมองว่ากองทุนวายุภักษ์ 2 จะส่งผลกระทบต่อตลาดมากที่สุด โดยกองทุนวายุภักษ์ 1 ในปัจจุบันมีการลงทุนในหุ้น 90% และตราสารหนี้และสินทรัพย์อื่นๆ อีก 10% หากอ้างอิงตามการจัดสรรกองทุนนี้ กองทุนวายุภักษ์ 2 จะคิดสัดส่วนเป็น 0.8% ของมูลค่าตลาด (16.8 ล้านล้านบาท ณ วันที่ 30 ส.ค.67 เทียบกับ 1.50% ของมูลค่าตลาดของกองทุนวายุภักษ์ 1 ในปี 46)

CLSA คาดการณ์ว่าตัวเลขดังกล่าวจะหนุนดัชนี SET ขึ้น 7% ขณะที่ EPS ของตลาดจะเติบโตขึ้น 14% ในปี 68 เทียบกับ 24% ในปี 46-48 (ช่วงปีที่มีการเปิดตัวกองทุนวายุภักษ์ 1) โดยตลาดให้ผลตอบแทน 11% ในช่วงสามเดือนแรกหลังจากมีการจัดตั้งกองทุนกองทุนวายุภักษ์ 1

ด้านการปรับลดอัตราดอกเบี้ย CLSA คาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดลง 25bp ในไตรมาส 4/67 สถิติจากสี่ในห้ารอบการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ผ่านมาบ่งชี้ว่าตลาดจะมีแนวโน้มที่ดีในสองหรือสามเดือนแรกหลังจากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยมีหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ การเงินผู้บริโภค ธนาคาร และพลังงาน ที่มีแนวโน้มบวกนำ

ทั้งนี้ การขาดการปฏิรูปโครงสร้างและการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมไปสู่ภาคอุตสาหกรรมใหม่และหนี้ครัวเรือนที่สูง เป็นอุปสรรคสำคัญและส่งผลจำกัดมูลค่าตลาดเมื่อเทียบกับระดับก่อนเกิดโควิด ขณะเดียวกันก็มองเห็นความหวังจากภาคการท่องเที่ยว สาธารณสุข สินค้าอุปโภคบริโภค และโรงกลั่นน้ำมันระดับโลก

อย่างไรก็ตาม ด้านธนาคารและการเงินผู้บริโภคยังคงเป็นจุดอ่อน จากคุณภาพสินทรัพย์ที่เสื่อมลงขณะที่หนี้เสีย (Non Performing Loan หรือ NPL) เพิ่มขึ้น โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและนำไปสู่การเติบโตของสินเชื่อและคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีขึ้น

อัตราส่วนราคาต่อกำไร (CAPE) ของประเทศมีมูลค่าลดลงเหลือ 13 เท่า จากที่ก่อนหน้านี้มีระดับเฉลี่ยอยู่ที่ 20 เท่า ตั้งแต่เดือนต.ค.48 ทำให้ประเทศไทยเป็นตลาดที่มีอันดับเครดิตต่ำเป็นอันดับสามในเอเชีย รองจากจีนและฮ่องกง

CLSA คาดการณ์กำไรของบริษัทจดทะเบียนในปี 68 จะโตขึ้น 14% โดยสูงกว่าที่ Bloomberg คาดการณ์ไว้ที่ 13% เล็กน้อย และปรับเป้าหมายดัชนี SET ณ สิ้นปี 68 โดยเพิ่มจาก 1,422 จุด เป็น 1,500 จุด อิงจากอัตราส่วน PE 14.60 เท่า

สำหรับหุ้นที่จะได้รับประโยชน์จาก 4 ปัจจัยดังที่กล่าวมามากที่สุด (top-pick) ได้แก่ CPN, CPALL, AMATA, BDMS และ TOP

Back to top button