ภาพเศรษฐกิจไทย หลังโปรดเกล้าฯ ครม.อุ๊งอิ๊ง1 ผ่านเลนส์นักวิชาการ-ภาคเอกชน

บิ๊กเอกชนขานรับ ครม.ใหม่ เชื่อ แก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ดี ชงวางนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจหลากด้าน เน้นหนักธุรกิจท่องเที่ยว - เทคโนโลยี


ภายหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ คณะรัฐมนตรี ( ครม.) ภายใต้รัฐบาลของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ภาคเอกชนและภาคธุรกิจเริ่มขยับตัว โดยเฉพาะการตั้งความหวังว่า รัฐบาลชุดใหม่นี้ จะสามารถนำพาประเทศไปต่อได้ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ที่ยังเปราะบางอยู่

เมื่อรายชื่อ ครม. เริ่มนิ่ง และ เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ก็เริ่มเห็นบรรดาผู้บริหารภาคเอกชน ออกมาให้สัมภาษณ์ ไม่ว่าจะเป็น นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า รัฐบาลเริ่มมีเสถียรภาพ สิ่งที่อยากเห็นต่อจากนี้ ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้ คือ อยากให้รัฐบาลใหม่ สร้างแบรนด์ประเทศไทยให้เป็นหมุดหมายที่เป็นพรีเมี่ยม เดสติเนชั่น จะได้ช่วยตอบโจทย์ในเรื่องของคุณภาพการท่องเที่ยวของไทย การสร้างแบรนด์ดิ้งประเทศไทย ยังสมารถใช้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ ได้อีกด้วย ที่สำคัญรัฐบาลต้องคำนึงถึง การสนับสนุนมาตรการทางภาษีให้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว รวมถึงการสนับสนุนให้ธุรกิจที่มีการบริหารจัดการด้านความยั่งยืน สามารถนำค่าใช้จ่ายไปขอลดหย่อนภาษี

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หนุนรัฐบาล สร้างแพลตฟอร์มที่รวบรวมผู้ประกอบการให้เข้ามารวมกัน

นอกจากนี้ อยากให้รัฐบาลกระตุ้นการเข้าถึงตลาด เช่น สร้างแพลตฟอร์มที่รวบรวมผู้ประกอบการให้เข้ามารวมกัน โดยรัฐบาลเข้ามาช่วยโปรโมท

นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AW

ด้านนางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ระบุสั้นๆว่า เชื่อว่ารัฐบาลใหม่ จะให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยว เพราะ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้ดี

ขณะที่ตัวแทนด้านธุรกิจภาคเทคโนโลยี อย่าง นายอโณทัย เวทยากร กรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้บริหารส่วนงานเทคโนโลยี บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ไทยมีโอกาสอย่างมากในการก้าวไปสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลภูมิภาค เนื่องจากอยู่ในภูมิศาสตร์ที่ดี และมีความก้าวล้ำการใช้งานเทคโนโลยีหลายด้าน ทั้ง QR Code หรือ พร้อมเพย์ ขณะนี้ สถานการณ์ทางการเมือง ถือว่า ค่อนข้างนิ่งแล้ว ตนจึงอยากให้รัฐบาลมองไป 3 เรื่องด้วยกัน ในการพัฒนาด้านเทคโลยี ประกอบด้วย

1.นโยบายภาครัฐที่ต้องมีความชัดเจน สร้างการตระหนักรู้ให้ภาคอุตสาหกรรม และประชาชน

นายอโณทัย เวทยากร กรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้บริหารส่วนงานเทคโนโลยี บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด แนะ รัฐบาล พัฒนากลุ่มธุรกิจเทคโนโลยี ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง – ส่งเสริม ธุรกิจสตาร์ทอัพ

2.การใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐาน โดยการขยายโครงข่าย 5G ที่เร็วแรงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล เพื่อช่วยให้กลุ่มเปราะบาง สามารถเข้าถึงการใช้งานเทคโนโลยีหรือบริการภาครัฐ

3.การส่งเสริมสตาร์ทอัพ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ประสบความสำเร็จค่อนข้างน้อย ภาครัฐจะต้องร่วมมือองค์กรเอกชน ส่งเสริมสตาร์ทอัพ ที่ถือเป็นฐานสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต

ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์ สอบถามไปยัง รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลฯ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในเวลานี้ ภายใต้รัฐบาลเพื่อไทย ถือว่า ทิศทางเศรษฐกิจ ดีขึ้น ใช่หรือไม่

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลฯ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ห่วง สงครามในยุโรปและตะวันออกกลาง กระทบ เศรษฐกิจไทย

รศ.ดร.อนุสรณ์  มองว่า เงินทุนระยะสั้นเก็งกำไรจะไหลเข้าลงทุนตลาดการเงินต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยยังมีความน่าสนใจต่อการลงทุน เพราะอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ (P/E) ต่ำ ผลกำไรบริษัทจดทะเบียนฟื้นตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีการใช้มาตรการลดหย่อนภาษีผ่านกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (TESG) ที่จะช่วยกระตุ้นการลงทุน พร้อมกับมีการจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์ 1.5 แสนล้าน ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูและเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุน

อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งที่ต้องเตือนให้รัฐบาลเพื่อไทยระมัดระวัง คือ เตรียมรับมือเศรษฐกิจยุคสงครามเนื่องจากมีความเป็นไปได้มากขึ้นที่สงครามในยุโรปและตะวันออกกลางจะขยายวง รวมทั้งสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา การทุ่มตลาดของจีนอาจเข้มข้นระหว่างและหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา สังคมไทยและรัฐบาลควรเตรียมการเรื่องความมั่นคงทางอาหารและพลังงานไว้โดยไม่ประมาท การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจต้องเน้นไปที่การรักษาเสถียรภาพและการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและรายได้ให้เป็นธรรม

Back to top button