BCP เปิดเป้าหมายเชิงรุกปี 73 ธุรกิจต้นน้ำหนุน EBITDA เติบโต
CGSI แนะนำ “ซื้อ” หุ้น BCP ที่ราคาเป้าหมาย 40 บาท หลังมองว่า BCP จะมีซินเนอร์ยี่ด้านการดำเนินงานเพิ่มขึ้นในปี 68 เมื่อโรงกลั่นมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
ฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด หรือ CGSI ระบุในบทวิเคราะห์ ว่า บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ประกาศแผนลงทุน 5 ปี (68-73) โดยตั้งงบลงทุนไว้ 1.20 แสนล้านบาท จะใช้งบลงทุนราว 35% เพื่อซื้อสินทรัพย์ในธุรกิจปิโตรเลียม โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติในเอเชียไม่เกิน 50k boe/d ขณะที่จะจัดสรรงบลงทุนราว 3.60 หมื่นล้านบาทสำหรับธุรกิจโรงกลั่น ซึ่ง 66% จะนำมาใช้ซ่อมบำรุงโรงกลั่นสองแห่ง และเครือข่ายทางการตลาด
นอกจากนี้ BCP จะเพิ่มธุรกิจใหม่เข้ามาในพอร์ต ประกอบด้วย Data centre, CCUS (carbon capture, utilisation and storage) และไฮโดรเจน รวมทั้งตั้งเป้าใช้กระแสเงินสดภายในบริษัทและเงินกู้ในอัตรา 50:50 เป็นแหล่งเงินทุนรองรับแผนลงทุนดังกล่าว
BCP ตั้งเป้าเพิ่ม EBITDA เป็น 1 แสนล้านบาทในปี 2573 จาก 3.6 หมื่นล้านบาทในปี 66 โดยมองว่า ธุรกิจที่จะขับเคลื่อนการเติบโตคือ ธุรกิจ E&P (ปริมาณขายจากสินทรัพย์ในปัจจุบัน 50kboe/d และจากการซื้อกิจการอีก 50kboe/d) ขณะที่ตั้งเป้าเพิ่ม EBITDA จากธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมันปี 2573 เป็น 3.1 หมื่นล้านบาท จาก 1.9 หมื่นล้านบาทในปี 66 ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพ, ขยายเครือข่ายสาขา รวมทั้งจากค่าการกลั่น (GRM) ที่สูงขึ้น
พร้อมเชื่อว่าผลประโยชน์ด้านการดำเนินงานที่คาดจะได้จาก synergy กับบริษัท บางจาก ศรีราชา จำกัด (มหาชน) หรือ BSRC จะเพิ่มเป็น 5 พันล้านบาทในปี 67 จากเดิมคาด 3 พันล้านบาท และ 5.50 พันล้านบาทในปี 68 ซึ่งส่วนหนึ่งจะมาจาก การขยายขีดความสามารถของท่าเทียบเรือ (jetty) ที่ดำเนินงานโดย BSRC ให้เรือ VLCC จอดเทียบท่าเพื่อลดต้นทุนค่าขนส่งน้ำมันดิบ
BCP เผยว่าการก่อสร้างโรงงานผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) คืบหน้า 55% ในสิ้นเดือนส.ค.67 ขณะที่คาดการณ์ว่าหน่วยปรับสภาพน้ำมันพืชใช้แล้ว (UCO) จะเปิดดำเนินงานภายในเดือนธ.ค.67 ส่วนหน่วยผลิตหลักน่าจะเปิดเชิงพาณิชย์เดือนเม.ย.68 โดยช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา BCP รวบรวม UCO ในประเทศได้สูงสุด 300k ลิตร/วันและปริมาณ UCO น่าจะเพิ่มเป็นราว 55-60% ของปริมาณทั้งหมดที่ต้องใช้ภายในปี 68 ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า BCP ยังต้องนำเข้า UCO อีกราว 40-45% ทั้งนี้ BCP ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดของสัญญาซื้อขายที่บริษัททำกับผู้รับซื้อหลัก (offtaker)
ฝ่ายวิเคราะห์ CGSI มองว่า ปัจจัยลบที่จะกดดันราคาหุ้น BCP ระยะสั้นคือการที่ crack spread ของน้ำมันดีเซลในเอเชียลดลง เพราะยอดส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากจีน อย่างไรก็ตาม โรงกลั่นพระโขนงที่กลับมาเปิดดำเนินงานหลังหยุดซ่อมบำรุงในไตรมาส 2/67 น่าจะทำให้ธุรกิจโรงกลั่นมีกำไรเติบโตจากไตรมาสก่อนในไตรมาส 3/67 จึงยังแนะนำ “ซื้อ” ที่ราคาเป้าหมาย 40 บาท เนื่องจาก BCP จะมี synergy ด้านการดำเนินงานเพิ่มขึ้นในปี 68 เมื่อโรงกลั่นมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
พร้อมมองว่าราคาหุ้น BCP อาจปรับตัวขึ้นหากโรงกลั่นพระโขนงมีอัตราการใช้กำลังการผลิตสูงกว่าคาด ส่วน downside risk จะมาจากมาร์จิน SAF ที่หดแคบลงในปี 68 หลังกำลังการผลิตใหม่ในสิงคโปร์เริ่มจัดส่ง SAF ให้กับสายการบินบางแห่งในสนามบิน Changi