เปิดโผ 18 หุ้นรับประโยชน์ “ราคาน้ำมันดิบ” ลดลง

18 หุ้นที่ได้ประโยชน์ในยามราคาน้ำมันดิบลดลง โดยแยกออกเป็นกลุ่ม หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า, วัสดุก่อสร้าง, ขนส่ง, ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค และเช่าซื้อ เป็นต้น ส่งผลให้ต้นทุนลดลงตามไปด้วย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (4 ก.ย. 2567) ณ เวลา 16:36 น. ตามเวลาไทย โดยราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) อยู่ที่ 70.20ดอลลาร์/บาร์เรล ปรับตัวลง 0.14 ดอลลาร์ หรือ 0.20% และน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) อยู่ที่ 73.63 ดอลลาร์/บาร์เรล ปรับตัวลง 0.08 ดอลลาร์ หรือ 0.11% จากเดิม ณปลายเดือน ส.ค. 67 ราคาน้ำมัน WTI-BRENT ยืนเหนือ 80 ดอลลาร์/บาร์เรล อย่างไรก็ตามที่ปรับตัวลงสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความกังวลการฟื้นตัวของตัวเลขเศรษฐกิจในจีนและสหรัฐฯ (DEMAND ลดลง)

รวมถึงฝั่ง SUPPLY มีความกังวลว่าจะหายไปจาก 2 เหตุผล ดังนี้ 1.สมาชิก OPEC+ จะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน 1.8 แสนบาร์เรล/วัน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 จากปัจจุบันที่มีการปรับลดกำลังการผลิตรวม 5.86 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งประกอบด้วยการปรับลดอย่างเป็นทางการของ OPEC+ 3.66 ล้านบาร์เรล/วัน และการปรับลดกำลังการผลิตโดยสมัครใจของสมาชิกกลุ่มฯ 2.2 ล้านบาร์เรล/วัน

2.ข้อพิพาทด้านการเมืองในลิเบียฝั่งตะวันตกและตะวันออกมีแนวโน้มคลี่คลายลงส่งผลให้ความกังวลว่าลิเบียจะระงับการผลิตมากถึง 1.0 ล้านบาร์เรล/วัน ที่ก่อนหน้านี้กังวลก็ได้คลี่คลายลงเช่นกัน

ทั้งนี้ หากพิจารณาราคาน้ำมัน WTI เฉลี่ยเดือน ก.ย. 2567 ล่าสุดอยู่ที่ 70.4 เหรียญฯ/บาร์เรล ลดลง 6.6% จากเดือนก่อนหน้า และลดลง 21.2% จากงวดเดียวของปีก่อน จึงอาจเห็นอัตราเงินเฟ้อของประเทศต่างๆทยอยลดลงตามลำดับ ซึ่งจุดสังเกตคงหนีไม่พ้นสหรัฐฯ ที่ตัวเลข CPI เดือน ส.ค. 2567 จะประกาศ 11 ก.ย. 2567 ซึ่งมีโอกาสลดลงจากเดือนก่อนหน้าและจากงวดเดียวของปีก่อน เช่นกัน

โดยผลดังกล่าวส่งผลให้การใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีโอกาสเกิดเร็วและแรงขึ้น โดยพิจารณาจาก FED WATCH TOOL จะเห็นได้ว่าโอกาสที่ (เฟด) จะปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ก.ย. 2567 อยู่ที่ 100% แบ่งเป็น ปรับลด 25 BPS. 59% และปรับลด 50 BPS.41% ขณะที่ ณ สิ้นปีนี้คาดดอกเบี้ยสหรัฐฯที่ 4.50%

บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุว่า จากประเด็นข้างต้น ประเมินว่าหุ้นที่ได้ประโยชน์ในยามราคาน้ำมันดิบลดลง ได้แก่หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า, วัสดุก่อสร้าง, ขนส่ง, ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค และเช่าซื้อ เป็นต้น

ส่วนหลักทรัพย์ที่จะได้รับประโยชน์ในยามน้ำมันดิบปรับตัวลดลงแยกออกเป็นกลุ่มธุรกิจดังนี้ สำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้า ได้แก่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC, บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM, บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF, บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH

กลุ่มวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ SCCC, บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) หรือ SCC, บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPL, บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TASCO, บริษัท ไดนาสตี้เซรามิค จำกัด (มหาชน) หรือ DCC, บริษัท วนชัย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ VNG

กลุ่มขนส่ง ได้แก่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA, บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV, บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)  หรือ AOT

กลุ่มผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค  ได้แก่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC, บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP

กลุ่มเช่าซื้อ ได้แก่ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC, บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD, บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR

Back to top button