เปิดแผนปรับ “โครงสร้างหนี้ทั้งระบบ” ครม.อิ๊งค์1 พร้อมแจกเงิน “ดิจิทัลวอลเล็ต” กระตุ้น ศก.

รัฐบาลเดินหน้าปรับโครงสร้างหนี้ “กลุ่มสินเชื่อบ้านและรถ” ช่วยลูกหนี้นอก-ในระบบ และปกป้องผลประโยชน์ประกอบการ SMEs รวมถึงการมุ่งลดราคาค่าพลังงานและสาธารณูปโภค และผลักดันโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเตรียมแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภาของรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ในวันที่ 12 – 13 กันยายน 2567 นโยบายสำคัญที่รัฐบาลชูเป็นเรื่องเร่งด่วน และต้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบนั้นคือ การแก้ไขปัญหาหนี้ ควบคู่กับการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน เนื่องจากประชาชนที่มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินครัวเรือน ซึ่งขณะนี้มีมูลค่ากว่า 16 ล้านล้านบาท หรือมากกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขณะที่สัดส่วนหนี้เสีย (NPLs) ก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับปัญหาหนี้นอกระบบภายใต้บริบทของความเหลื่อมล้าของรายได้

“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ตั้งแต่นโยบายเร่งด่วนที่ทางรัฐบาลจะเร่งดำเนินการแก้ไขก่อนเป็นอันดับแรก นั้นคือการเพิ่มรายได้และปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อบ้านและรถ ซึ่งจะช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ ภายใต้ปรัชญาที่จะไม่ขัดต่อวินัยทางการเงินและไม่ทำให้เกิดภาวะภัยทางจริยธรรม (Moral Hazard) ของผู้มีภาระหนี้สิน ควบคู่กับการเพิ่มความรู้ทางการเงินและส่งเสริมการออมในรูปแบบใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทย โดยจะดำเนินนโยบายผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทบริหารสินทรัพย์

การเปลี่ยนโครงสร้างทางภาษีครั้งใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับการกระจ่ายรายได้ ดึงแรงงานนอกระบบที่มีอยู่มากกว่าร้อยละ 50 เข้าสู่ระบบ พร้อมกับการศึกษาความเป็นไปได้ของการปฏิรูประบบภาษีไปสู่แบบ Negative Income Tax ที่ผู้มีรายได้น้อยจะได้รับ “เงินภาษีคืน เป็นขั้นบันได” ตามเกณฑ์ที่กำหนด

อีกทั้งจะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้น ให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ควบคู่กับการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรก และผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล และพัฒนาศูนย์ข้อมูลภาครัฐ ที่มุ่งการพัฒนานโยบายที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน พร้อมเพิ่มโอกาสในการเข้าถึง แหล่งทุนเพื่อการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน และการประกอบอาชีพ

พร้อมกันนี้ รัฐบาลจะส่งเสริมพัฒนาศักยภาพและจัดสวัสดิการสังคมให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างความเท่าเทียมทางโอกาสและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่สำคัญ ได้แก่ คนพิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของรัฐได้โดยสะดวกตามที่กฎหมายบัญญัติ

นอกจากนี้ รัฐบาลจะเร่งออกมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการลดราคาค่าพลังงานและสาธารณูปโภค ปรับโครงสร้างราคาพลังงานควบคู่กับการเร่งรัดจัดทำปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งผลักดันการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ (Mass Transit) และการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับนโยบาย ค่าโดยสารราคาเดียว” ตลอดสาย เพื่อลดภาระค่าเดินทาง

Back to top button