รัฐฯ ตั้งเป้าใช้ “Entertainment Complex-เที่ยวเชิงสุขภาพ” กระตุ้นเม็ดเงินท่องเที่ยว

“ครม.อิ๊งค์1” เดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ เร่งผลักดันนโยบาย Entertainment Complex รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและเม็ดเงินมหาศาล


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธุรกิจการท่องท่องเที่ยวเป็นอีกหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่รัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร จะหยิบยกมาเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล และบรรจุไว้ในนโยบายที่เตรียมแถลงต่อที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 12 – 13 กันยายน 2567 ซึ่งรัฐบาลมีแผนการขับเคลื่อนนโยบายด้วยการท่องเที่ยวไว้ในหลายเรื่อง

เริ่มตั้งแต่การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว โดยหนึ่งเรื่องที่จะสานต่อต่อจากรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นั้นคือ การปรับโครงสร้างการตรวจลงตราทั้งหมดของประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ขอวีช่า เช่น กลุ่มผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ (MICE) และกลุ่มชาวต่างชาติที่ทำงานทางไกล (Digital Nomad) ซึ่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 1.892 ล้านล้านบาท ในปี 2566

นอกจากนี้ จะมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Maก-made Destinations) นั้นคือ สถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) นำคอนเสิร์ต เทศกาล และการแข่งขันกีฬาระดับโลกมาจัดในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมี สวนน้ำ สวนสนุก ศูนย์การค้า รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองน่าเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและเม็ดเงินมหาศาลที่จะกระจายลงสู้ผู้ประกอบการภายในประเทศได้อย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกันรัฐบาลจะเน้นการส่งเสริมการยกระดับภูมิปัญญาไทยไปสู่วัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Creative Culture) เพื่อส่งเสริม Soft Power ของประเทศ ด้วยการการปรับใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน (Local Wisdom) ซึ่งเป็นศักยภาพของคนไทยและทุนทางวัฒนธรรมของประเทศไทย อาหารท้องถิ่นไทย ผ้าไทย มวยไทย ศิลปะการแสดงไทย ดนตรีไทย ผสมผสานกับศิลปะร่วมสมัย และสุราชุมชน เพื่อยกระดับสินค้าโครงการ OTOP ทั้งด้านมาตรฐาน และดีไชน์ให้ทันสมัย โดดเด่น แตกต่าง และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก รวมทั้งจะสนับสนุนการสอดแทรกทุนทางวัฒนธรรมในภาพยนตร์ไทยและสื่อทุกรูปแบบ

พร้อมกันนี้รัฐบาลจะเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ (Care and Wellness Economy) และบริการทางการแพทย์ (Medical Hub) โดยอาศัยพื้นฐานจิตวิญญาณการบริการของคนไทยที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ต่อยอดจากธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์แผนไทยที่เป็นจุดแข็ง เพื่อรองรับความต้องการด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นจากการที่ประชากรโลกเข้าสู่สังคมสูงวัย พร้อมกับส่งเสริมการผลิตและการใช้งานอุปกรณ์ทางการแพทย์ภายในประเทศ สนับสนุนการยกระดับสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยโดยใช้นวัตกรรม รวมถึงการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มในทางเศรษฐกิจและควบคุมผลกระทบทางสังคม โดยการตรากฎหมาย ตลอดจนสนับสนุนการนำเทคโนโลยีสุขภาพ (Health Tech) และนวัตกรรม ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) มายกระดับมาตรฐานสาธารณสุขไทยให้ทัดเทียมมาตรฐานนานาชาติ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ของภูมิภาค

Back to top button