BTS นัดเจรจา “กทม.” สะสางหนี้สายสีเขียว 1.4 หมื่นล้านบาท สัปดาห์นี้!

“บีทีเอส” นัดเจรจา “กรุงเทพธนาคม” สัปดาห์นี้ สะสางหนี้งาน O&M สายสีเขียวส่วนต่อขยาย ทั้งต้นและดอกเบี้ยรวมกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท ผู้บริหารมั่นใจกทม.มีเงินจ่าย หลัง “ชัชชาติ” ลั่นจบก่อน 100 วัน ประเมินเบื้องต้นหลังรับชำระหนี้กด D/E เหลือแค่ 0.25 เท่า ด้านโบรกฯ เชียร์ “ซื้อ” BTS รับผลดีกทม.เร่งจ่ายหนี้ พร้อมแผนซื้อคืนสัมปทานสายสีเขียว เหลือง และชมพู คืบหน้า ราคาเป้าหมาย 5.90 บาท


นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC และผู้อำนวยการใหญ่สายธุรกิจ MOVE บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ได้ทำหนังสือเชิญ BTS เข้าหารือภาพรวมในการชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง (เดือนพฤษภาคม 2562 ถึงพฤษภาคม 2564) และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต (เดือนเมษายน 2560 ถึงพฤษภาคม 2564) ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด

สำหรับหนี้ O&M ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2567 ที่กทม.จะต้องชำระให้ BTS อยู่ที่ประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น เงินต้น 1.2 หมื่นล้านบาท และดอกเบี้ยประมาณ 2 พันล้านบาท ซึ่งน่าจะมีการพูดคุยเรื่องรายละเอียดการชำระหนี้ และกำหนดการชำระที่กทม.ระบุว่าน่าจะดำเนินการได้ภายใน 100 วัน เร็วกว่าที่ศาลกำหนดไว้ให้จ่ายภายใน 180 วัน

ทั้งนี้ BTS มั่นใจว่ากทม.มีเงินเพียงพอสำหรับการชำระหนี้ โดยเบื้องต้นอาจใช้เงินจากเงินสะสมจ่ายขาดของกทม. ที่ก่อนหน้านี้กทม.เคยรายงานที่ประชุมสภากทม.ว่ามีเงินสะสมที่ปลอดภาระผูกพัน 51,804.22 ล้านบาท ซึ่งหลังจากกทม.ชำระค่างานระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) หรืองาน E&M โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 (ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) วงเงิน 23,488.69 ล้านบาทมาแล้ว ก็คาดว่าจะยังมีเงินเหลืออยู่สำหรับการชำระค่างาน O&M ดังกล่าว

โดยภายหลังจากได้รับการชำระหนี้งาน O&M จากกทม.แล้ว BTS มีแผนนำเงินส่วนใหญ่ไปชำระหนี้ ซึ่งจะทำให้หนี้สินต่อทุน (D/E) ของ BTS ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับหนี้ O&M ที่กทม.จะต้องชำระให้แก่ BTS มีประมาณ 4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นตามช่วงเวลา ช่วงแรกเกิดขึ้นระหว่างเดือน เม.ย. 2560-พ.ค. 2564 ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินไปแล้วให้จ่ายทั้งต้นพร้อมดอกเบี้ยประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท ช่วงต่อมาเกิดขึ้นระหว่างมิ.ย. 2564-ต.ค. 2565 คิดเป็นวงเงินประมาณ 1 หมื่นกว่าล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองชั้นต้น และอีก 1.4 หมื่นล้านบาท ยังไม่ได้ฟ้อง โดยเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นระหว่างเดือนพ.ย.ถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ หากคิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย MLR+1 จากยอดที่กทม.จะต้องชำระหนี้กว่า 4 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ยจ่ายจะสูงถึงวันละ 7 ล้านบาท หรือปีละประมาณ 2.5 พันล้านบาท

โดยภายหลังจากการชำระหนี้ก้อนแรก งานระบบไฟฟ้า-เครื่องกล รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต 2.3 หมื่นล้านบาท ให้ BTS แล้ว ส่งผลให้หนี้สินต่อทุน (D/E) ลดลงเหลือ 0.44 เท่า และหากได้รับการชำระหนี้งาน O&M อีก 1.4 หมื่นล้านบาท ก็จะยิ่งทำให้หนี้ต่อทุนลดลงเหลือเพียง 0.25 เท่า

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกทม. เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการเร่งรัดการจ่ายหนี้แก่ BTS ขึ้นมาดูแลเรื่องดังกล่าว โดยตามกรอบเวลาการจ่ายหนี้กำหนดให้ดำเนินการภายใน 180 วัน แต่จะเร่งให้เร็วกว่ากำหนด เพราะมีเรื่องของค่าปรับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และดอกเบี้ย ดังนั้นขออย่าได้ปล่อยข่าวว่ากทม.พยายามยื้อเวลา เพราะยิ่งช้าก็ยิ่งเสียดอกเบี้ยเพิ่ม ซึ่งไม่ใช่ผลดีแก่กทม. พร้อมยืนยันว่ากทม.ไม่มีเจตนาที่จะชำระล่าช้า แต่ต้องดำเนินการให้ถูกระเบียบ โดยสิ่งที่ต้องทำขณะนี้คือเสนอเรื่องสู่สภากทม. เพราะการจะใช้เงินสะสมจ่ายขาดมาชำระหนี้ ต้องให้สภากทม.เห็นชอบ

นอกจากนี้ ยังมีอีกประเด็นที่ต้องพิจารณา คือเรื่องการจ่ายเงินค่าจ้างเดินรถสัญญาส่วนต่อขยายที่ 2 (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ) ในอนาคต เพราะสัญญาส่วนที่ 2 ไม่ได้ผ่านสภากทม.มาก่อน จึงต้องนำส่วนของสัญญาที่ 2 เสนอสภากทม.ให้เรียบร้อยตามขั้นตอนด้วย

บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า สาเหตุที่ราคาหุ้น BTS ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมานั้น มีปัจจัยหนุนสำคัญจากกรณีที่กทม.จะเร่งรัดการชำระหนี้ O&M แก่ BTS ให้เร็วกว่า 180 วัน เพราะเชื่อว่ากทม.ต้องชำระหนี้แน่นอน เนื่องจากเป็นคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดและกทม.ไม่น่าจะล่าช้า เพราะจะทำให้ดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีแก่กทม. และเมื่อ BTS ได้รับการชำระหนี้แล้ว ก็จะส่งผลให้มีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้น พร้อมทั้งสามารถชำระหนี้ต่าง ๆ ได้

อย่างไรก็ตาม กทม.อาจชำระหนี้เป็นเงินสดแค่บางส่วน และส่วนที่เหลือจะใช้วิธีเจรจาเรื่องสัมปทานมาแลกหนี้ เพื่อไม่ให้กระทบสภาพคล่องของกทม. แต่ขณะนี้เนื่องจากมีประเด็นใหม่เพิ่มเข้ามา คือการที่รัฐบาลมีแผนเจรจาซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้า ดังนั้นจึงต้องรอดูว่ากทม.จะเจรจากับ BTS ในแง่มุมใดบ้าง เพราะ BTS น่าจะสนใจขายสัมปทานคืนสู่รัฐ เนื่องจากสายสีเขียวหลักเหลืออายุสัญญาประมาณ 5 ปี ขณะที่สายสีเหลืองและสีชมพูยังคงขาดทุนอีกหลายปี

โดยเชื่อว่าผลประกอบการของ BTS นับจากนี้จะฟื้นตัวขึ้น โดยจะมีกำไรติดต่อกันในช่วง 2 ปีนี้ แต่สาเหตุหลักมิได้เกิดจากการที่กทม.ชำระหนี้ แต่เกิดจากการที่ BTS ปลดภาระขาดทุนจากบริษัทร่วมลง โดยเฉพาะการขายหุ้นบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX เหลือถือไว้ไม่ถึง 3% ส่วนการลงทุนนั้น ทาง BTS ยังไม่มีแผนลงทุนอะไรเพิ่มเติม แนะนำ “ถือ” หุ้น BTS ราคาพื้นฐานที่ 5.60 บาท

นายกรภัทร วรเชษฐ์ หัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) หรือ KSS เปิดเผยว่า ราคาหุ้น BTS ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมานั้น มีปัจจัยบวกจาก 2 กรณี โดยกรณีแรกกทม.เตรียมชำระหนี้ให้บีทีเอส จะช่วยสนับสนุนในเรื่องสภาพคล่องของ BTS ให้ดีขึ้น

กรณีที่สอง รัฐบาลมีแผนซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าเพื่อดำเนินนโยบายค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ซึ่งสายทางใดที่มีอายุสัมปทานเหลือไม่มาก และบางสายทางยังคงขาดทุนอยู่ เอกชนที่รับสัมมปทานก็น่าจะสนใจขายคืนรัฐ ซึ่งก็คือ BTS เนื่องจากสายสีเขียวหลักคือสายสุขุมวิท หมอชิต-อ่อนนุช ระยะทาง 17 กิโลเมตร (กม.) และสายสีลม สนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ระยะทาง 6.5 กม. เหลือสัญญาอีกประมาณ 5 ปี จะสิ้นสุดสัมปทานวันที่ 4 ธันวาคม 2572 จากนั้นกทม.จะเปลี่ยนเป็นสัญญาจ้าง BTS เดินรถจนถึงปี 2585

ขณะที่ สายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง และสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี ก็ยังอยู่ในภาวะขาดทุนอีกหลายปี หากขายคืนรัฐและ BTS รับจ้างเดินรถ ก็น่าจะเป็นประโยชน์กับ BTS มากกว่า จึงทำให้ BTS เป็นหุ้นที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน แนะนำ “ซื้อ” ราคา 5.90 บาท

Back to top button