“วายุภักษ์” ลุยระดมทุนประเภท ก. มูลค่า 1.5 แสนล. กระตุ้นตลาด “SET 100 – ESG”

"วายุภักษ์" ลุยระดมทุนประเภท ก.รอบใหม่ 1.5 แสนล้านบาท เปิดขายรายย่อย 16-20 ก.ย.นี้ วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท ส่วนเหลือราว 1-1.2 แสนล้านบาทขายสถาบัน 18-20 ก.ย. จัดสรรแบบ Small Lot First คาดประกาศผลจัดสรร 25 ก.ย.67 พร้อมเข้าซื้อขายในตลาด 7 ต.ค.67 เน้นลงทุน SET100- SET ESG Ratings ระดับ A ขึ้นไป ชูผลตอบแทน 3- 9% ต่อปี คงที่ 10 ปี ฟาก “วราห์” ย้ำหากเกิดความเสี่ยงกองทุนประเภทก.การันตีผู้ถือหน่วยรับเงินคืนก่อนทันที


นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทจัดการกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง เปิดเผยว่า “กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง” จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่  1 กรกฎาคม 2546 ตามมติคณะรัฐมนตรี โดยเป็นกองทุนรวมปิดมีขนาด 100,000 ล้านบาท วัตถุประสงค์เพื่อบริหารจัดการหลักทรัพย์ที่รัฐถือครองอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืนในระยะยาวและมั่นคง โดยลงทุนในกิจการที่มีความจำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อประเทศในเชิงเศรษฐกิจ และต้องการการส่งเสริมจากภาครัฐ  ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาตลาดทุนของประเทศ และเพิ่มทางเลือกในการออมและการลงทุนให้แก่ประชาชน

จากนั้นในปี 2556 บริษัทจัดการได้รับซื้อคืนหน่วยลงทุนประเภท ก. ทั้งหมด และได้แปรสภาพกองทุนเป็นกองทุนรวมเปิด คงเหลือเฉพาะผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. ได้แก่ กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ ล่าสุด ณ วันที่ 6 กันยายน 2567 กองทุนฯ มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม (NAV) 353,596 ล้านบาท และปัจจุบันพร้อมเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. แก่ผู้ลงทุนทั่วไป มูลค่ารวม 100,000 – 150,000 ล้านบาท 

ทั้งนี้นับจากปี 2557-2566 กองทุนฯ ได้รับเงินปันผลจากหลักทรัพย์ที่ลงทุนอย่างสม่ำเสมอเฉลี่ยปีละ 12,278 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเงินปันผลรับต่อมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเฉลี่ยร้อยละ 3.75 ซึ่งเพียงพอที่จะจ่ายผลตอบแทนขั้นต่ำต่อปีแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. นอกจากนี้กองทุนฯมีฐานะทางการเงินที่มั่นคง โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 กองทุนฯมีกำไรสะสม ประมาณ 142,739 ล้านบาท

สำหรับกองทุนฯ มีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์ต่าง ๆ รวมถึงการบริหารทั้งแบบเชิงรุก (Active Investment) และแบบเชิงรับ (Passive Investment) ส่วนใหญ่ลงทุนในหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และจะเน้นลงทุนในหุ้นบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีความมั่นคงในระยะยาว ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี อาทิ บริษัทที่อยู่ใน SET100 ที่ได้รับคะแนน SET ESG Ratings ระดับ A ขึ้นไป หรือบริษัทนอก SET100 ที่ได้รับคะแนน SET ESG Ratings ที่สูงกว่า เป็นต้น 

นอกจากนี้อาจพิจารณาลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ,กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ที่มีอัตราผลตอบแทนดีหรือมีแนวโน้มเติบโตสูง มีสภาพคล่องและมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี

นายวราห์ สุจริตกุล ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง กล่าวว่า เงินที่ได้จากการเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. ส่วนใหญ่จะนำไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนของกองทุนฯ แต่ละปีจะจ่ายให้ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ในรูปแบบเงินปันผลตามผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงของกองทุนฯ ในอัตราไม่ต่ำกว่า 3% ต่อปี แต่ไม่เกินกว่า 9% ต่อปี โดยผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับเงินปันผลอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง คำนวณจากมูลค่าที่ตราไว้ (Par) ของหน่วยลงทุนประเภท ก. ที่ 10 บาทต่อหน่วย ซึ่งไม่ใช่การรับประกันหรือค้ำประกันผลตอบแทน แต่เป็นกลไกคุ้มครองผลตอบแทนของกองทุนฯ ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับเงินปันผลก่อนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. จากนั้นผลตอบแทน ส่วนที่เหลือจะเป็นของหน่วยลงทุนประเภท ข.

ทั้งนี้ ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. มีสิทธิได้รับคืนเงินลงทุนตามแนวทางการชำระคืนเงินลงทุนแบบ Waterfall ซึ่งผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับคืนเงินลงทุนก่อนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. ที่มูลค่าเงินลงทุนเริ่มต้นที่ 10 บาทต่อหน่วย อย่างไรก็ตามกลไกดังกล่าวไม่ใช่การรับประกันหรือค้ำประกันว่า ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับเงินลงทุนเท่ากับมูลค่าเงินลงทุนเริ่มต้น โดยในกรณีที่ NAV รวมของกองทุนฯ ณ วันครบกำหนดระยะเวลาการลงทุนเบื้องต้น (10 ปี) ต่ำกว่ามูลค่าเงินลงทุนเริ่มต้นของหน่วยลงทุนประเภท ก. ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. อาจได้รับคืนเงินลงทุนน้อยกว่ามูลค่าเงินลงทุนเริ่มต้นได้

ทั้งนี้เมื่อครบระยะเวลาการลงทุนเบื้องต้น 10 ปี หากกองทุนฯ จะระดมทุนต่อจะให้สิทธิผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ขยายระยะเวลาการลงทุน หรือขายคืนหน่วยลงทุน (redeem) ตามแนวทางที่กำหนด อย่างไรก็ตามหากกองทุนฯไม่ประสงค์จะระดมทุนต่อ บริษัทจัดการจะรับซื้อคืนหรือไถ่ถอนหน่วยลงทุนประเภท ก. ทั้งหมดโดยอัตโนมัติ

ทั้งนี้กองทุนฯมีกลไกการบริหารความเสี่ยง จากการกำหนดอัตราส่วนมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของทั้งกองทุนฯ ต่อเงินลงทุนของหน่วยลงทุนประเภท ก. (Asset Coverage Ratio “ACR”) โดยจากข้อมูล NAV รวมของกองทุนฯ ณ วันที่ 6 กันยายน 2567 และในกรณีที่เสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. เป็นมูลค่ารวม 150,000 ล้านบาท  ACR จะอยู่ที่ประมาณ 3.36 เท่า

ซึ่งกรณีที่ ACR ลดลงต่ำกว่า 2 เท่า ติดต่อกัน 5 วันทำการ บริษัทจัดการจะเพิ่มสัดส่วนของสินทรัพย์สภาพคล่อง หรือกันส่วนสำรองเพื่อการจ่ายเงินปันผลให้เพียงพอต่อการจ่ายผลตอบแทนขั้นต่ำแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ได้เป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปี และกรณี ACR ลดลงต่ำกว่า 1.5 เท่า ติดต่อกัน 5 วันทำการ บริษัทจัดการอาจพิจารณาเปลี่ยนสินทรัพย์ลงทุนให้เป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง จำนวนไม่น้อยกว่าเงินลงทุนเริ่มต้นของหน่วยลงทุนประเภท ก. ภายในระยะเวลา 90 วัน และเก็บไว้เป็นเงินสำรองตามมาตรการชำระคืนเงินลงทุนของหน่วยลงทุนประเภท ก. โดยจะทยอยเปลี่ยนสินทรัพย์เพื่อผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. หรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติจากผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ทั้งหมดหรือบางส่วน

“สำหรับกลไกการบริหารความเสี่ยงกองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่งตอนนี้รัฐบาลได้ลงทุนมาแล้ว  3.5 แสนล้านบาท และระดมทุนหน่วยลงทุนประเภท ก. อีก 1.5 แสนล้านบาท รวมกันเป็น 5 แสนล้านบาท โดยวงเงิน 5 แสนล้าน จะมาคุ้มครองผลตอบแทนและเงินต้นประเภท ก. จะได้ก่อนหากมีอะไรเกิดขึ้นในช่วงที่ตลาดไม่สดใส ดังนั้นถ้าวงเงิน 5 แสนล้านลงมาอยู่ที่ระดับ 3 แสนล้านบาท จะต้องกันสินทรัพย์สภาพคล่องไว้ให้พอที่จะจ่ายปันผลไปได้ 2 ปี และถ้าลดลงจากระดับ 5 แสนล้านมาอยู่ที่ระดับ 2.5 แสนล้านตรงนี้จะต้องหาสินทรัพย์ที่เทียบเท่าระดับ 1.5 แสนล้านบาท และเพื่อความปลอดภัยอาจจะคืนเงินให้กับผู้ถือหน่วยเลย ซึ่งตรงนี้จะมีกลไกคุ้มครองป้องกันความเสี่ยงไว้ให้หน่วยก.อย่างเข้มงวด” นายวราห์กล่าวเพิ่มเติม

ดังนั้นจึงเสมือนว่าผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ได้รับความคุ้มครองจากกลไกการบริหารความเสี่ยงก่อนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. และเพื่อตอบแทนการให้ความคุ้มครองตามกลไกบริหารความเสี่ยงดังกล่าว ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. จะได้รับเงินปันผล หรือมีสิทธิขายคืนหน่วยลงทุนตลอดอายุโครงการ จาก NAV ข. ส่วนที่เกินจาก NAV เริ่มต้นของหน่วยลงทุนประเภท ข. ที่ 300,000 ล้านบาท

นายธนโชติ รุ่งสิทธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทจัดการกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง กล่าวว่า กองทุนฯจะเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. แก่ผู้ลงทุนทั่วไป ที่ราคาเสนอขาย 10 บาทต่อหน่วย รวมมูลค่าประมาณ 1 แสน-1.5 แสนล้านบาท

โดยแบ่งผู้ลงทุนเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่กลุ่มที่ 1 ผู้ลงทุนรายย่อยในประเทศ จะต้องเป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยที่มีถิ่นที่อยู่ในไทยและมีอายุไม่น้อยกว่า 20 ปีบริบูรณ์ เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือกองทุนส่วนบุคคลของผู้ลงทุนรายย่อยดังกล่าว เบื้องต้นได้กำหนดสัดส่วนการเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. แก่ผู้ลงทุนกลุ่มนี้ 3-5 หมื่นล้านบาท

ส่วนกลุ่มที่ 2 ผู้ลงทุนสถาบันและนิติบุคคลเฉพาะกลุ่ม ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์และธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ,บริษัทประกันวินาศภัย บริษัทประกันชีวิต,กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ,กองทุนประกันสังคม เบื้องต้นได้กำหนดสัดส่วนการเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. แก่ผู้ลงทุนกลุ่มนี้ 1-1.2 แสนล้านบาท

โดยปัจจุบันกองทุนฯได้รับอนุมัติการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการจากผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นที่เรียบร้อยและได้ยื่นหนังสือชี้ชวนฉบับปรับปรุงเพื่อเสนอขายหน่วยลงทุนต่อสำนักงาน ก.ล.ต. และเผยแพร่หนังสือชี้ชวนแก่ผู้ลงทุนทั่วไปแล้ว พร้อมเปิดให้ผู้ลงทุนทั่วไปที่เป็นผู้ลงทุนรายย่อยจองซื้อวันที่ 16-20 กันยายน 2567 จองซื้อขั้นต่ำ 1,000 หน่วย หรือ 10,000 บาท และเพิ่มขึ้นครั้งละ 100 หน่วย หรือ 1,000 บาท

ส่วนที่เหลือราว 1-1.2 แสนล้านบาท จะเสนอขายให้กับนักลงทุนประเภทสถาบันในช่วงวันที่ 18-20 ก.ย. โดยจะจัดสรรในรูปแบบ  Small Lot First เพื่อกระจายให้ผู้ลงทุนได้อย่างทั่วถึง และจะประกาศผลการจัดสรรในวันที่ 25 ก.ย.67  โดยคาดว่าจะเริ่มนำเงินเม็ดเงินระดมทุนใหม่เข้าลงทุนได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.และจะนำหน่วยลงทุนเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์วันที่ 7 ต.ค.67

สำหรับผู้เสนอขายหน่วยลงทุน 8 ราย ได้แก่ 1) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) 2) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) 3) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 4) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 5) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) 6) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 7) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และ 8) ธนาคารออมสิน โดยจะจัดสรรด้วยวิธี Small Lot First ซึ่งผู้จองซื้อทุกรายจะมีโอกาสในการได้รับจัดสรรหน่วยลงทุนเท่ากัน

“ก่อนจะลงไปในเรื่องของการจัดสรรหน่วยลงทุนประเภทก.หลังจากที่มีการเพิ่มทุนเสร็จแล้ว จะมีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และจะมีการซื้อขายในตลาดรองโดยที่จะมีธนาคาคกรุงไทยเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องให้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นราคาจะเป็นตามกลไกตลาดมีความแตกจาก NAV ของกองทุนได้ ส่วนการลงทุนประเภทก.จะจะเสนอขายให้กับนักลงทุนรายย่อยและสถาบันมูลค่าระดมทุนประมาณ 1-1.5 แสนล้านบาท เบื้องต้นเปิดให้นักลงทุนรายย่อยจองซื้อหน่วยลงทุนเบื้องต้น 3.5 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือกลุ่มสถาบันราว 1-1.2 แสนล้านบาท เชื่อว่าการเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. ของกองทุนฯ จะได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนทั่วไป ที่ต้องการได้รับผลตอบแทนมั่นคงในระยะยาว ในรูปแบบเงินปันผลตามเงื่อนไขที่กำหนดจากหลักทรัพย์ที่เข้าลงทุน” นายธนโชติ กล่าวเพิ่มเติม

Back to top button