“กปว.” เปิดช่องปชช. ยื่นทวงหนี้ “สินมั่นคง” ผ่านออนไลน์ถึง 7 พ.ย.นี้!

“กปว.” เปิดช่องทางให้ประชาชนยื่นคำขอทวงหนี้ “สินมั่นคงประกันภัย” ผ่านช่องทางออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง ระหว่างวันที่ 9 ก.ย. ถึง 7 พ.ย. 67 คาดมีผู้ยื่นคำขอลงทะเบียน 1 ล้านราย


ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ ( 9 ก.ย.67 ) นายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) ในฐานะผู้ชำระบัญชีของ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMK เปิดเผยถึงกรณีการชำระบัญชีและเตรียมการให้ประชาชนยื่นคำขอรับชำระหนี้ของ SMK ว่า กปว. เตรียมเปิดระบบรับคำทวงหนี้ในวันนี้ 9 ก.ย. เวลา 08:30 น. ถึงวันที่ 7 พ.ย. 67 สิ้นสุดเวลา 16:30 น.

ทั้งนี้การยื่นคำทวงหนี้ ต้องดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมงเท่านั้นและจะไม่มีไม่มีค่าใช้จ่าย และไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม

ขณะที่ขั้นตอนยื่นคำทวงหนี้ ได้ 2 ช่องทาง ได้แก่ 1. ระบบคุ้มครองสิทธิแบบออนไลน์ https://rps-sev.gif.or.th/Login และระบบคุ้มครองสิทธิแบบออนไลน์ https://rps-sev.gif.or.th/Login ซึ่งสามารถศึกษาคู่มือในการใช้งาน เพื่อเข้าสู่ระบบได้เลย โดยจะมีตั้งแต่กระบวนการลงทะเบียนไปจนถึงวิธีการยื่นคำทวงหนี้

อย่างไรก็ตามหากยื่นคำทวงหนี้แล้วเสร็จ ระบบจะไปสู่หน้าที่ให้กดบันทึกข้อมูล พร้อมมีข้อความแจ้งให้รับทราบยินยอมข้อมูล และเมื่อกดตกลงระบบจะออกเลขรหัสคำทวงหนี้ให้กับเจ้าหนี้ และระบบจะพากลับไปสู่หน้ายื่นคำทวงหนี้อีกครั้ง เพื่อให้เจ้าหนี้กดพิมพ์เอกสาร

โดยเจ้าหนี้ต้องลงลายมือชื่อพร้อมแนบเอกสารหลักฐานตัวจริง ส่งไปรษณีย์มาที่กองทุนประกันวินาศภัย ในฐานะผู้ชำระบัญชี บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตู้ ปณ. 1122 ปณศ.จตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900

“แนะนำว่าให้เจ้าหนี้ยื่นคำทวงหนี้ในระบบไว้ก่อนภาย 60 วัน เพื่อรักษาสิทธิ ส่วนเรื่องเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่อาจจะยังไม่พร้อม สามารถส่งตามมาทีหลังได้ เพราะถ้าไม่ยื่นคำทวงหนี้ในระบบตามเวลากำหนดจะเสียสิทธิได้” นายชนะพล กล่าว

ทั้งนี้ขอยืนยันว่าระบบดังกล่าวรองรับเจ้าหนี้ได้ทั้งหมด เนื่องจากมีการเพิ่มระบบเซิร์ฟเวอร์จากเดิม 4 ตัว เป็น 32 ตัว และจะจัดทีมมอนิเตอร์ตลอด 24 ชั่วโมง

นายชนะพล ผู้จัดการกองทุน กปว. กล่าวต่อว่า เจ้าหนี้ของ SMK คาดการณ์ว่าจะใช้สิทธิยื่นคำทวงหนี้ประมาณ 800,000-1,000,000 ราย เนื่องจากขณะที่ SMK ถูกเพิกถอนใบอนุญาต มีกรมธรรม์ที่ยังไม่หมดสัญญาความคุ้มครองเกือบ 8 แสนราย ซึ่งประเมินจำนวนเจ้าหนี้ที่ไม่ได้ย้ายโอนพอร์ตไปยังบริษัทประกันภัยอื่น จะใช้สิทธิยื่นคำทวงหนี้ขั้นต่ำประมาณ 4 แสนราย

ขณะที่รวมกับเจ้าหนี้ที่มีเคลมค้างจ่ายอีก 484,348 ราย คิดเป็นยอดเงินที่ต้องชำระหนี้ 32,184 ล้านบาท โดยแยกเป็นเจ้าหนี้ประกันภัยโควิด 356,661 ราย ยอดหนี้ต้องชำระ 30,124 ล้านบาท, เจ้าหนี้ประกันภัยรถยนต์ 122,228 ราย ยอดหนี้ต้องชำระ 1,945 ล้านบาท และประกันอื่น ๆ อีก 5,459 ราย ยอดหนี้ต้องชำระ 114 ล้านบาท ซึ่งเป็น ข้อมูล ณ วันที่ 4 กรกฎาคม 2567

ทั้งนี้ เมื่อรวมกับเจ้าหนี้เดิมของ 7 บริษัทที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต ได้แก่ บจ.สัมพันธ์ประกันภัย, บจ.เอ.พี.เอฟ. อินเตอร์เนชั่นแนล อินชัวร์รันส์, บมจ.เจ้าพระยาประกันภัย, บมจ.เอเชียประกันภัย 1950, บมจ.เดอะ วัน ประกันภัย, บมจ.อาคเนย์ประกันภัย และ บมจ.ไทยประกันภัย ซึ่งมีจำนวนเจ้าหนี้ 552,484 ราย ยอดหนี้ค้างจ่าย 48,394 ล้านบาท

โดย กปว.จะต้องชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ทั้งหมด 1.2-1.4 ล้านราย ยอดชำระหนี้รวม 8 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม หลังเจ้าหนี้บริษัทสินมั่นคงประกันภัย ยื่นคำทวงหนี้ครบ 60 วัน น่าจะสรุปจำนวนเจ้าหนี้และยอดหนี้ทั้งหมดได้อย่างชัดเจน

นางณปภัช เดชธัญญนนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า คปภ. เตรียมความพร้อมสนับสนุนกองทุนประกันวินาศภัย ผ่านระบบสายด่วน คปภ. 1186 ในการจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการยื่นคำทวงหนี้ผ่านระบบออนไลน์

ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่สำหรับให้คำแนะนำโดยตรง 30 คู่สาย และมีเจ้าหน้าที่ คปภ.ส่วนภูมิภาคในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ คอยให้คำแนะนำกรณีโทรไปแล้วและอาจจะยังดำเนินการไม่ได้

Back to top button