“ดาวโจนส์” เด้ง 423 จุด นักลงทุนซื้อกลับ หลังราคาหุ้นลงลึก

ดัชนีดาวโจนส์ เด้ง 423 จุด จากแรงซื้อเก็งกำไรของนักลงทุน หลังราคาหุ้นลงลึก กังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ เซ่นตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ต่ำกว่าคาด


ผู้สื่อข่าวรายงาน (9 ก.ย.67) ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นกว่า 400 จุดจากแรงซื้อเก็งกำไรของนักลงทุน หลังตลาดหุ้นวอลล์สตรีทดิ่งลงอย่างหนักในวันศุกร์ ณ เวลา 21:12 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 40,821.23 จุด บวก 423 จุด หรือ 1.06%

โดยราคาหุ้นของบริษัท แอปเปิ้ล อิงค์ ปรับตัวแคบในการซื้อขายที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีท ก่อนการเปิดตัว iPhone 16 ในคืนนี้

อนึ่งก่อนหน้านี้ ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงกว่า 400 จุดในวันศุกร์ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ต่ำกว่าคาด

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 142,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 164,000 ตำแหน่ง

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐยังได้ปรับลดตัวเลขการจ้างงานในเดือนก.ค.สู่ระดับ 89,000 ตำแหน่ง จากเดิมรายงานที่ระดับ 114,000 ตำแหน่ง

ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในวันพุธ และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในวันพฤหัสบดี

ด้าน ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มเข้าสู่ช่วงงดเว้นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงิน (Blackout Period) ก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 17-18 ก.ย.67

ด้านกฎระเบียบของเฟดได้ระบุห้ามเจ้าหน้าที่เฟดแสดงความเห็นหรือให้สัมภาษณ์ในช่วง Blackout Period เกี่ยวกับนโยบายการเงิน โดยเริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่สองก่อนที่การประชุม FOMC จะเริ่มขึ้น และสิ้นสุดในวันพฤหัสบดีหลังการประชุม FOMC เพื่อป้องกันไม่ให้สาธารณชนตีความว่าเป็นการบ่งชี้การดำเนินการด้านอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมนโยบายการเงินที่จะมาถึง

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 77% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 18 ก.ย. หลังจากให้น้ำหนัก 70% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

หากเฟดลดอัตราดอกเบี้ยตามคาดในเดือนนี้ ก็จะเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของเฟดในปีนี้ และครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งขณะนั้นเฟดได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงใกล้ 0% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

Back to top button