มะกันขึ้นแบล็กลิสต์ “สินค้าไทย” 3 รายการ โบรกชี้กระทบ “กลุ่มอาหารส่งออก” เล็กน้อย

"บล.ฟินันเซีย ไซรัส" มองสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำสินค้าไทย “ปลาป่น-น้ำมันปลา-อาหารสัตว์” กระทบกลุ่มอาหารส่งออกเล็กน้อย เชื่อรัฐบาลชี้แจงและปรับความเข้าใจในประเด็นใช้แรงงานเด็ก


ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (11 ก.ย.67) นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศขึ้นบัญชีดำสินค้าไทย  3 รายการ อาทิ ปลาป่น (Thailand Fishmeal) น้ำมันปลา (Thailand Fish Oil) และอาหารสัตว์ (Thailand Animal Feed) เนื่องมาจากปัญหาการใช้แรงงานเด็ก ซึ่งสหรัฐระบุไว้จัดเจนว่าเป็นความพยายามในการกระตุ้นให้ประเทศคู่ค้า ดำเนินการแก่ไขปัญหาแรงงานเด็กและแรงงานบังคับ

ทั้งนี้ ยังไม่ได้ส่งผลต่อการคว่ำบาตรทางการค้าเนื่องจากกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ได้จัดทำบัญชี TDA Report เพื่อกระตุ้นในประเทศคู่ค้าแก้ไขปัญหาใช้งานแรงงานเด็ก อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้มีการดำเนินแก้ไขปัญหาแรงงานภาคการประมงอย่างเข้มแข็ง กรมประมงจะบูรณาการในการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องรวมทั้งผู้ประกอบการด้านการผลิตปลาป่น น้ำมันปลา และอาหารสัตว์ โดยเฉพาะอาหารกุ้ง

ล่าสุด บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) หรือ FSSIA ระบุว่าจากกรณีมีข่าวสหรัฐขึ้นบัญชีดำสินค้าไทยเพิ่ม 3 รายการ ปลาป่น น้ำมันปลา และอาหารสัตวไม่มีหุ้นที่ถูกกระทบโดยตรง

โดยสหรัฐประกาศบัญชีรายชื่อสินค้าที่เชื่อว่ามีการผลิตโดยใช้แรงงานเด็ก (EO List) และแรงงานบังคับ (TVPRA List) ปี 2567 โดยมีเพิ่ม 3 รายการคือ ปลาป่น น้ำมันปลา และอาหารสัตว์ จากเดิม มี 5 รายการที่ขึ้นบัญชีอยู่แล้วคือ กุ้ง ปลา เครื่องนุ่งห่ม อ้อย และสื่อลามก

ขณะที่ คอนเซ็ปต์บัญชีดำนี้ คือ สนง. กิจการแรงงานระหว่างประเทศของสหรัฐ (ILAB) ต้องการรณรงค์ไม่ให้มีการใช้แรงงานทาส แรงงานเด็กในกระบวนการผลิต ซึ่ง ILAB เชื่อว่าปลาป่น ที่ผลิตในไทยมีการแรงงานเด็กและแรงงานบังคับ กล่าวหาว่า เรือประมงไทย มีการใช้แรงงานผิดกฎหมาย และให้ค่าจ้างน้อย

ทั้งนี้ จึงเป็นที่มาของการขึ้นบัญชีดำ ปลาป่น น้ำมันปลา มาจากปลาที่จับโดยแรงงานทาส และอาหารสัตว์ ซึ่งในเอกสารระบุว่าเป็น Animal feed ที่มีการใช้ปลาป่นเป็นวัตถุดิบ เช่น อาหารกุ้ง อาหารปลา แต่ระบุถึงสินค้าปลายน้ำอย่าง เครื่องสำอาง อาหารเสริม และอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีใช้ปลาป่น หรือน้ำมันปลา เป็นวัตถุดิบด้วย

นอกจากนี้ ฝ่ายนักวิเคราะห์ยังระบุอีกว่าจากที่มีข่าวสหรัฐขึ้นบัญชีดำนำเข้าสินค้าจากไทย 3 รายการอาจเป็นปัจจัยเชิงลบ (Sentiment) ต่อหุ้นกลุ่มอาหารส่งออก แต่เชื่อว่าผลกระทบยังจำกัดเพราะการขึ้นบัญชีดำนี้เป็นของหน่วยงานภาครัฐและรัฐบาลไทยกำลังอยู่งระหว่างเจรจาและชี้แจงต่อข้อกล่าวดังกล่าว

ส่วนกุ้งส่งออกของไทยไปยังสหรัฐเพิ่งถอดออกจากบัญชีเฝ้าระวังเมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่ผ่านมา ข่าวนี้มาจากรมต.ว่าการกระทวงแรงงานและได้ระบุบนเว็บไซต์ของรัฐบาลในปี 2567 จากต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) ไทยส่งออกกุ้งอยู่ที่ 18% ของส่งออกประมงรวม เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกมากสุดไปที่ญี่ปุ่นอยู่ที่ 26% จีน อยู่ที่ 24% และ สหรัฐฯ อยู่ที่ 21%

ขณะที่สินค้าปลานั้นไทยส่งออกทูน่ากระป๋องมากสุด อยู่ที่ 32% ของการส่งออกสินค้าประมงทั้งหมด ซึ่งทูน่าไม่เข้าข่ายอันเนื่องมาจากเป็นปลาจับจากธรรมชาติ ไม่ได้เลี้ยงด้วยปลาป่น อ้อย ก็น้อย ส่วนใหญ่ส่งออกเป็นน้ำตาล

ทั้งนี้ฝ่ายนักวิเคราะห์มองว่าปลาป่นและน้ำมันปลา ก็น้อยมาก ส่วนใหญ่เราใช้ในประเทศ โดยเฉพาะปลาป่นที่นำมาผลิตอาหารกุ้ง อาหารปลา เป็นหลักส่วนผู้ผลิตคือ บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFM ซึ่งเป็นการขายในประเทศ 97-98% มีการส่งออกเพียง 2-3% โดยเป็นการขายไปเวียดนาม มาเล และศรีลังกา

ส่วนอาหารสัตว์เลี้ยง อย่างเช่น อาหารหมาแมว สหรัฐถือเป็นตลาดหลักสัดส่วน 32% ของการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทย แต่วัตถุดิบหลัก คือ ทูน่า ไก่ สัตว์บกบางชนิด อาทิ แกะและวัว ส่วนปลาป่นและน้ำมันปลา ไม่ใช่วัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง ทั้งนี้เราได้สอบถามไปยัง บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ITC ซึ่งทางบริษัทได้สอบถามไปยังหน่วยงานภาครัฐแล้ว พบว่า อาหารหมาแมว ไม่เข้าข่ายอยู่ในบัญชีดำนี้ อย่างไรก็ตามฝ่ายนักวิเคราะห์ได้สรุปประเด็นนี้กระทบต่อกลุ่มอาหารส่งออกจำกัด ไม่มีหุ้นที่ถูกกระทบโดยตรง ไม่น่ากังวล

Back to top button