SCB EIC มองอุตสาหกรรมอิเล็กฯ ไทยชะลอตัว เน้นเทรนด์รักษ์โลก-พัฒนาวิจัย
SCB EIC แนะภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย เน้นส่งเสริมวิจัยเทคโนโลยีใหม่ พัฒนาแรงงานทักษะสูง และเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยว่า ในวันที่โลกมีการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานการผลิตใหม่ ภายใต้แรงกดดันที่รุมเร้าจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์รักษ์โลก การเติบโตของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และกลุ่ม Data center แนวโน้มความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ส่งผลให้เกิดการแบ่งขั้วทางการค้า และนำมาสู่การย้ายฐานการผลิต ของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โลก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ ล้วนเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของ Global value chain ครั้งใหม่
โดยจากข้อมูลของ Trade map พบว่าในปี 65 เซมิคอนดักเตอร์และแผงวงจรรวมเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาดโลกต้องการมากที่สุด โดยมีมูลค่าการส่งออกมากถึง 1.194 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มสูงขึ้น 2 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 55 ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับแรงหนุนจากแนวโน้มความต้องการสินค้า หรืออุปกรณ์ไฮเทคในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น
ขณะที่ Trade map ยังได้ระบุว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาระหว่างปี 55-65 ไทยมีสัดส่วนการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่ม Power electronics ซึ่งเป็นสินค้าที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดโลกมากขึ้น สะท้อนได้จากการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ และแผง/ตู้ควบคุมระบบไฟฟ้า ของไทยไปตลาดโลก มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 0.60% และ 1.50% ในปี 55 มาอยู่ที่ 1.70% และ 3.10% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ในปี 65 ตามลำดับ
ทั้งนี้ สวนทางกลับสินค้ากลุ่มคอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบ ที่มีสัดส่วนการส่งออกในตลาดโลกลดลงมาอยู่ที่ 0.6% ในปี 65 จาก 1% ในปี 55 สะท้อนว่าการส่งออกกลุ่มสินค้าคอมพิวเตอร์ของไทย กำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก
นอกจากนี้ SCB EIC คาดการณ์ว่า การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยยังคงเติบโตน้อยกว่าคู่แข่ง โดยหากเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งของไทย จะพบว่า สินค้าที่ไทยมีมูลค่าการส่งออกเป็นมูลค่าสูงสุด 3 อันดับแรก คือ HDD เครื่องใช้ไฟฟ้า และแผงวงจรรวม ซึ่งสินค้า 2 ลำดับแรกอย่าง HDD และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่โลกมีความต้องการลดลงต่อเนื่อง โดยหากเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม และมาเลเซีย จะพบว่า ประเทศเหล่านั้น หันมามุ่งเน้นไปที่การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงมากขึ้น เช่น ชิป สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยขยายตัวได้จำกัด เนื่องมาจากปัจจัยดังต่อไปนี้
1.การลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรือสินค้าไฮเทคของไทยอยู่ในระดับต่ำกว่าคู่แข่ง โดยพบว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีของประเทศในอาเซียน และไทย มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ราว 24% และ 19% ต่อปี ตามลำดับ ในช่วงปี 58-66 โดยในปี 66 มีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 32,416 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมาเลเซีย ครองสัดส่วนการลงทุนสูงสุดที่ 53% รองลงมา ได้แก่ เวียดนาม 15% สิงคโปร์ 14% และไทย 13% ของสัดส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั้งหมด
2.การขาดการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ระดับต้นน้ำ โดยสินค้าส่งออกของไทยส่วนใหญ่ อยู่ในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขั้นกลาง และขั้นปลาย โดยในปี 65 พบว่าไทยมีสัดส่วนการส่งออกอุปกรณ์ชิประดับต้นน้ำและกลางน้ำ เพียง 1.7% ของสัดส่วนการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลก ซึ่งเป็นระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งของไทย อย่างมาเลเซีย และเวียดนาม ที่มีสัดส่วนการส่งออกชิปอยู่ที่ราว 5% และ 4% ตามลำดับ
3.การขาดแคลนแรงงานทักษะสูง เช่น วิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ โดยจากผลสำรวจความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของ IMD พบว่า ปี 66 ไทยมีความสามารถในการแข่งขันด้านองค์ความรู้ดิจิทัลและเทคโนโลยี อยู่ในลำดับที่ 41 จากประเทศสมาชิกทั้งหมดที่เข้าร่วมทั้งสิ้น 63 ประเทศ และจัดอยู่ในอันดับ 3 เมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกอาเซียนที่เข้าร่วมทั้งหมด 5 ประเทศ
โดยจากแนวโน้มความต้องการ และเทรนด์เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป SCB EIC ได้มีการจำแนกกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำคัญออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ดังนี้
1.กลุ่มสินค้าที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องและไทยยังรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ได้ ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ที่มองว่าไทยมีแนวโน้มจะมีส่วนแบ่งในตลาดเครื่องปรับอากาศมากขึ้น จากฐานการผลิตเดิมของผู้ผลิตสัญชาติญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่ขยายการลงทุนในไทย รวมถึงผู้เล่นสัญชาติจีน ที่เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น
2.กลุ่มสินค้าที่ยังอยู่ในช่วงของการพัฒนา และมีโอกาสปรับไปสู่การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าสูงเพิ่มขึ้น ได้แก่ กลุ่มแผงวงจรรวม เซมิคอนดักเตอร์ และแผงวงจรพิมพ์ ที่ไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปตลาดโลกมากขึ้น จากความต้องการในกลุ่ม EVs และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมชิป เช่น เทคโนโลยีการสื่อสารไร้สาย กลุ่มคอมพิวเตอร์ และการจัดเก็บข้อมูลที่นำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการประมวลผลข้อมูลเชิงลึก
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มไฟฟ้ากำลังอย่างหม้อแปลงไฟฟ้า สายไฟและสายเคเบิลที่มีความต้องสูงขึ้นต่อเนื่องจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการก่อสร้างโรงไฟฟ้า โดยจากข้อมูลของ Bloomberg ระบุว่า ในปี 66 การผลิตพลังงานไฟฟ้าทั่วโลก 30% หรือราว 1 ใน 3 ของการผลิตพลังงานไฟฟ้าทั้งหม ดมาจากแหล่งการผลิตพลังงานหมุนเวียน
3.กลุ่มสินค้าที่มีความเสี่ยงจากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงหรือเป็นสินค้าที่ไม่ตอบโจทย์เทรนด์โลก โดยเป็นกลุ่มสินค้าที่การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวลดลง หรือขยายตัวอยู่ในระดับต่ำในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งการผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงยังมีไม่มากนักเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ได้แก่ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ที่ขยายตัวต่ำจากแนวโน้มการลงทุนในกลุ่มสินค้าไฮเทค อย่างซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ที่น้อยกว่าประเทศคู่แข่งในอาเซียน เนื่องจากไทยยังคงขาดความพร้อมของห่วงโซ่อุปทานการผลิตที่มีความซับซ้อน และแรงงานที่มีทักษะสูง ขณะเดียวกัน ยอดขาย HDD ในตลาดโลกยังคงชะลอลงจากความต้องการ HDD รุ่นเก่าที่ลดลงต่อเนื่อง
ขณะที่ ไทยต้องเร่งปรับตัว รักษาโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานการผลิต โดย SCB EIC มองว่า การที่ไทยจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นเบอร์ต้นของอาเซียนได้นั้น ไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัวและพัฒนาในสิ่งที่ขาด โดยจะต้องมีการวางแผนกลยุทธ์ ดังนี้
1.การพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวมากขึ้น ตั้งแต่การจัดหาวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการใช้สารเคมีอันตราย เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน ไปจนถึงการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์
2.การส่งเสริมการพัฒนาแรงงานที่มีทักษะสูงจะต้องมีการส่งเสริมการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรในสถาบันการศึกษาที่สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงานมากขึ้น เช่น วิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ นอกจากนี้ จะต้องมีการส่งเสริมในเรื่องการ Upskill และ Reskill ให้กับกลุ่มแรงงานเดิม เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ที่จะสามารถนำไปพัฒนาการทำงานในกระบวนการผลิตให้ดียิ่งขึ้น
3.การส่งเสริมการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้เกิดการผลิตสินค้าต้นน้ำที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ขยายการลงทุนด้านการวิจัยและการพัฒนาที่มุ่งเน้นการสร้างห่วงโซ่อุปทานการผลิตระดับต้นน้ำมากขึ้น พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์วิจัยเซมิคอนดักเตอร์ รวมไปถึงการปรับปรุงเงื่อนไขการทำงานสำหรับแรงงานต่างชาติที่มีทักษะสูง และให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับกลุ่มบริษัทที่มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูง
4.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล และพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นระบบโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 5G เพื่อรองรับเทคโนโลยี AI และการใช้พลังงานทดแทนที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ รัฐบาลควรเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษี ที่ครอบคลุมถึงกิจการอิเล็กทรอนิกส์สีเขียว เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง SCB EIC มองว่า ไทยยังมีความหวังในการยกระดับศักยภาพการแข่งขัน เพื่อพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่แข็งแกร่งได้ ด้วยการรักษาฐานการผลิตสินค้าเดิมที่ยังเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่ ลดการลงทุนในสินค้าโลกเก่า เน้นขยายการลงทุนในผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สีเขียว และผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงการส่งเสริมการวิจัยเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีใหม่
ขณะเดียวกัน ภาครัฐควรส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ครอบคลุมกิจการอิเล็กทรอนิกส์สีเขียว เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ โดยสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน ที่จะช่วยกันขับเคลื่อนอย่างจริงจัง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ยั่งยืนต่อไป