SCB EIC มอง GDP ไทยปีนี้โต 2.5% จับตา “กนง.” ลดดอกเบี้ย ธ.ค.
SCB EIC มองเศรษฐกิจไทยปี 67 เติบโต 2.5% เซ่นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกดดัน แม้การแข่งขันสินค้าลดลง หนุนส่งออกสินค้าที่ปรับดีขึ้น แต่ยังเผชิญปัญหาสินค้าคงคลังสูง-อุปสงค์ในประเทศเปราะบาง แนะจับตา “กนง.” ลดดอกเบี้ย ธ.ค.นี้
ดร. สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเติบโตชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้หลังจากเติบโตได้ดีในช่วงครึ่งปีแรก ภาพรวมทั้งปี 2567 จะขยายตัว 2.70% และมีแนวโน้ม (Soft landing) ขยายตัวเร่งขึ้นเล็กน้อยที่ 2.80% ในปี 2568 แม้ว่าขณะนี้ตลาดจะเริ่มกลับมากังวลว่าเศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย (Hard landing) ได้ โดยเฉพาะในสหรัฐฯเพราะอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเร็วจนเข้าเกณฑ์ของดัชนีเตือนเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ
SCB EIC ประเมินว่าโอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะ (Soft landing) ยังมีสูงกว่ามากหากดูจากแรงส่งที่ดีของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักในช่วงครึ่งปีแรกและข้อมูลเร็วสะท้อนการขยายตัวในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ อัตราการว่างงานสหรัฐฯ ที่ปรับขึ้นเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากอุปทานแรงงานเพิ่มขึ้นด้วย นอกเหนือจากความต้องการจ้างงานที่ลดลง
โดยเศรษฐกิจโลกจะมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญ คือ ธนาคารกลางหลักจะทยอยลดดอกเบี้ยต่อเนื่องในระยะข้างหน้าจากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ปรับชะลอลง ซึ่งจะช่วยดูแลเศรษฐกิจและลดโอกาสเกิดเศรษฐกิจถดถอยได้ โดยในช่วงที่เหลือของปี 2567 และปี 2568 ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีแนวโน้มทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายรวม 2% และธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องอีกรวม 1.5% หลังจากลดไป 0.25% ในช่วงเดือนมิถุนายน ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงจะช่วยให้ความต้องการบริโภคอุปโภคทั้งในและต่างประเทศสูงขึ้น
ขณะที่ปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศจะกดดันให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวชะลอลงและเปราะบางมากขึ้นในระยะปานกลาง ทั้งจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อนำไปสู่การปรับห่วงโซ่อุปทานและการค้าโลก รวมถึงการออกมาตรการกีดกันระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นและขยายมิติ ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเศรษฐกิจหลักส่วนใหญ่
ไม่กลับไปอยู่ในระดับต่ำเช่นค่าเฉลี่ยในอดีตได้อีก
ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายระหว่างประเทศของสหรัฐฯ หลังการเลือกตั้งทั่วไปปลายปีนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดทิศทางการค้าโลกในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะหากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งจะส่งผลให้โลกแบ่งขั้วเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทานเร็วขึ้น
ขณะที่ SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำในปี 2567 อยู่ที่ 2.5% และปี 2568 อยู่ที่ 2.6% ซึ่งในระยะต่อไปภาคการท่องเที่ยวยังเป็นแรงส่งหลักที่เหลืออยู่ของเศรษฐกิจไทย SCB EIC ประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2568 ที่ 39.40 ล้านคน โดยการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังถูกกดดันจากแนวโน้มการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนแบบกรุ๊ปทัวร์
ขณะที่การส่งออกไทยปี 2568 ยังเติบโตต่ำกว่าในอดีต ส่วนหนึ่งจากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง การผลิต
ของภาคอุตสาหกรรมที่แม้เริ่มทยอยฟื้นตัวตามการส่งออกสินค้าที่ปรับดีขึ้นบ้าง แต่ยังเผชิญแรงกดดันจากสินค้าคงคลังสูง
และอุปสงค์ในประเทศเปราะบาง การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะหดตัวเล็กน้อยในปีนี้ แต่จะกลับมาขยายตัวได้ในปีหน้า
ตามมูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนของ Board of Investment ที่ปรับดีขึ้นมาก แต่การลงทุนจะยังเติบโตได้ไม่มากนัก จากภาคก่อสร้างที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่ำและการลงทุนยานพาหนะที่ใช้เวลาฟื้นตัวจากภาวะสินเชื่อตึงตัว
สำหรับการบริโภคภาคเอกชนจะแผ่วลงมากในสินค้าคงทน โดยเฉพาะยอดขายรถยนต์ที่หดตัวต่อเนื่องประกอบกับรายได้ภาคเกษตรมีแนวโน้มกลับมาหดตัวตามทิศทางราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่จะลดลงในปีหน้า ทั้งยังถูกกดดันจากสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ชะลอลงต่อเนื่องเพราะคุณภาพสินเชื่อด้อยลง สอดคล้องกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจไทยปีหน้าจากผลสำรวจ SCB EIC Consumer survey 2567 ที่ยังต่ำ
ทั้งนี้ จึงมีแนวโน้มจะลดการใช้จ่ายสินค้าและบริการไม่จำเป็นมากขึ้น การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเพิ่มเติมจะมีข้อจำกัดมากขึ้นจากภาระการคลังสูง โดย SCB EIC ประเมินว่าขณะที่ โครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล ใช้วงเงินสูง แต่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่เต็มที่และชั่วคราว ส่งผลให้หนี้สาธารณะไทยอาจมีแนวโน้มชนเพดานในปี 2570
ขณะที่ นโยบายเศรษฐกิจเร่งด่วนของ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่เป็นการสานต่อนโยบาย ครม. ชุดก่อน โดยมีจุดเน้นมากขึ้นที่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจกลุ่มเปราะบาง SCB EIC ประเมินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในระยะสั้นจะส่งผลบวกต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค ท่องเที่ยว และภาคเกษตร ขณะที่ ธุรกิจที่มีแรงงานขั้นพื้นฐานในสัดส่วนสูงจะได้รับผลกระทบด้านต้นทุน และธุรกิจพลังงานอาจได้รับผลกระทบด้านรายได้
สำหรับนโยบายส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันจะส่งผลบวกต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมที่สอดรับเทรนด์โลกและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต สำหรับนโยบายสิ่งแวดล้อมยังเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสให้หลายธุรกิจต้องปรับตัว
ส่วนภาคธุรกิจไทยยังต้องเผชิญความท้าทายเชิงโครงสร้าง ฟันเฟืองการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากรอบด้าน โดยเฉพาะ 1.) อุตสาหกรรมยานยนต์ที่อาจสูญเสียกำลังการผลิตในประเทศ ไปราว 40% หากการปรับตัวของค่ายรถยนต์ไม่เท่าทันกับกระแสนิยมที่กำลังเปลี่ยนไป และ 2.) ผู้ประกอบการ SME เผชิญแรงกดดัน จากกำลังซื้อในประเทศที่เปราะบาง อีกทั้ง ยังถูกซ้ำเติมจากการตีตลาดจากสินค้านำเข้า กระบวนการผลิตและการตลาดล้าสมัย
ดังนั้น การผลักดันให้ภาคธุรกิจเหล่านี้เติบโตได้อย่างยั่งยืนต้องพึ่งพามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ควบคู่กับนโยบายยกระดับความสามารถทางการเเข่งขันในระยะยาว
ทั้งนี้ SCB EIC ประเมิน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือน ธ.ค. และต่อเนื่องช่วงต้นปีหน้าไปอยู่ที่ 2% จากสัญญาณอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัวชัดเจนขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากภาวะการเงินตึงตัวนาน สำหรับค่าเงินบาท ช่วงที่ผ่านมาแข็งค่าเร็วหลังดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ราคาทองคำสูงขึ้น และความกังวลการเมืองไทยที่คลี่คลาย ในระยะสั้นเงินบาทอาจอ่อนค่าเล็กน้อย จากปัจจัยเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ก่อนกลับสู่เทรนด์แข็งค่าตาม Easing cycle ของสหรัฐฯ สำหรับ ณ สิ้นปี 2567 ประเมินเงินบาทอยู่ในกรอบ 34 –34.50 และปี 2568 อยู่ที่ 33 – 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ดร. สมประวิณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาที่น่าห่วงที่สุด คือ หนี้ในประเทศซึ่งฉุดอุปสงค์ของคนในระบบเศรษฐกิจส่งผลให้ไม่สามารถออกไปจับจ่ายใช้สอยและมองว่ายังมีเรื่องที่สำคัญกว่าอุปสงค์ของคนในประเทศ คือ เรื่องภาคการผลิตโดยยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายๆ หากภาคผลิตอุตสาหกรรมรถยนต์มีปริมาณการซื้อขายลดลงอาจทำให้บรรดาผู้ผลิตตัดสินใจย้ายฐานการผลิตสินค้าออกนอกประเทศ
โดยปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวดึงดูดให้ผู้ผลิตการเข้ามาลงทุน คือ การเติบโตของภาคการบริโภคภายในประเทศ นอกจากนี้ หากกล่าวถึงบรรยากาศในตลาดหุ้นในปัจจุบันที่ปรับตัวขึ้นมานั้นเกิดจากอะไรมองว่าอาจเป็นแค่ Sentiment ที่ตอบรับประเด็นที่รัฐบาลพยายามสร้างความเชื่อมั่นให้มีการลงทุนภายในประเทศมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากถามว่ามีโอกาสที่ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2568 จะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Hard landing) หรือไม่คาดการณ์ว่าน้อยกว่า 50% โดยมี 3 ปัจจัย เป็นตัวกำหนดทิศทางให้เกิดภาวะถอดถอย คือ 1.ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยรุนแรง , 2.การเมืองไทยไม่มีเสถียรภาพ และ 3.ภาคการเงินตึงตัวสูง
ด้าน นางสาวฐิตา เภกานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) กล่าวเสริมถึงปัญหาด้านความท้าทายเกี่ยวกับธุรกิจ SME ในประเทศไทยที่เคยกล่าวไปข้างต้นนั้น พบว่านับตั้งแต่การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มีความท้าทายเพิ่มมากขึ้น โดยได้มีการเก็บข้อมูลช่วง 8 เดือนแรกของปี 2567 พบว่ามีการปิดกิจการธุรกิจ SME จากตั้งหมด 4 ภาคทั่วประเทศ
โดยภาคเหนือและอิสานมีการปิดกิจการ SME มากที่สุด และหากมองลึกไปที่ประเภทธุรกิจที่มีการปิดตัวลง คือ 1.ธุรกิจประมง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการออกมาตรการ IUU หรือความเข้มงวดในการจับสัตว์น้ำ 2.ธุรกิจผลิตเหล็ก โดยเป็นผลมาจากการที่ทีสินค้าจากประเทศจีนเข้ามาตีตลาดภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น และ 3.ธุรกิจโรงพิมพ์ เนื่องมาจากประชาชนเปลี่ยนวิธีการรับข่าวสารผ่านช่องทางออนไลน์มากยิ่งนั้น
ขณะที่ SCB EIC ยังได้มีการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบธุรกิจ SME ว่ามีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตหรือไม่นั้น พบว่าผู้ประกอบุรกิจ SME ยังคงมีความเชื่อมั่นในประเด็นดังกล่าวค่อนข้างน้อย โดยผู้ประกอบการประมาณ 70% ยังคงมีความกังวลกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังปี 2567 ไปจนถึงช่วงครึ่งแรกปี 2568 ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจาก กำลังซื้อภายในประเทศที่ค่อนข้างเปาะบาง
รวมไปถึงหนี้ครัวเรือนที่กดดันการใช้จ่ายของผู้บรอโภคร่วมด้วย ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้น้อยกว่าที่คาดการณ์ อีกทั้งยังมีประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เข้ามากดดันร่วมด้วย จากการทะลักเข้ามาของสินค้าต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งมาเพิ่มการแข่งขันและแย่งส่วนแบ่งของธุรกิจ SME โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่จุด คือ เหล็ก บรรจุภัณฑ์และอาหารและเครื่องดื่ม
นอกจากนี้ 95% ของกลุ่มผู้ประกอบการที่ SCB EIC ได้สำรวจมานั้นพบว่า 3 เรื่องที่นับเป็นปัจจัยสำคัญกดดันศักยภาพต่อการดำเนินธุรกิจ คือ 1.ต้นทุนการผลิตและการดำเนินงาน 2.พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป และ 3.กลยุทธ์การตลาดที่ล้าสมัย ทั้งนี้ SCB EIC คาดการณ์ว่าการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะค่อนข้างยากเรื่องจากยังคงมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามากดดันเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็น ต้นทุนพลังงานที่ผันผวน ค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้น สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ และ ปัญหาการการแข็งขันของธุรกิจขนาดใหญ่ที่ขยายตัวไปในพื้นที่ท้องถิ่นกระทบธุรกิจ SME ขนาดเล็กในพื้นที่นั้นๆ ร่วมถึงการแข่งขันเรื่องราคากระทบสภาพคล่องของภาคธุรกิจด้อยลง
“จากการสำรวจแนวทางความต้องการของผู้ประกอบธุรกิจ SME ในการแก้ไขปัญหาต่างๆเหล่านี้นั้น พบว่าผู้ประกอบธุรกิจ SME ต้องการให้ภาครัฐและการเงินมีบทบาทในการเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะการทำให้ภาคการบริโภคกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง” นางสาวฐิตา กล่าว
ดร. สมประวิณทิ้งท้าย กล่าวทิ้งท้ายว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารต่างประเทศทำไมถึงจะไม่ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวตามไปด้วยนั้น อาจเป็นผลมาจากการที่บรรดาประเทศต่างๆ มีการซื้อขายมากขึ้นแต่จะไม่ได้มีการซื้อขายกับประเทศไทยหรืออาจเป็นผลมาจากการกีดกันไม่ให้ไทยเป็นผู้ผลิตสินค้า
นอกจากนี้ มองว่าการที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้นั้นอาจต้องมีการเริ่มแก้ไขปัญหาหนี้ภายในประเทศ ซึ่งคาดการณ์ว่าปัญหาดังกล่าวอาจต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหาประมาณ 10 ปี ขณะที่หาก “ธปท.” มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจะช่วยลดปัญหาหนี้ภายในประเทศหรือไม่นั้น มองว่าการแก้ปัญหาหนี้ไม่ได้เกิดจากการปรับลดดอกเบี้ยแต่การลดดอกเบี้ยนั้นจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว และเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้วจะส่งผลให้สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ในทางอ้อม