EA ถอนฟ้อง “วินด์กาฬสินธุ์2” กกพ.เร่งเปิดลงนาม “พลังงานลม” รอบแรก 1,500 เมกฯ

กลุ่มโรงไฟฟ้าเฮ! “พลังงานบริสุทธิ์” ถอนฟ้องคดี “วินด์กาฬสินธุ์ 2” แล้ว เปิดทางลงนามพลังงานลมรอบแรก 1,500 เมกะวัตต์ GULF ร่วมพันธมิตร จ่อเซ็น PPA มากสุด 1,200 เมกะวัตต์ ส่วน SSP 1 โครงการ 16 เมกะวัตต์ ด้านกกพ.ประชุมด่วนเร่งเปิดลงนามพลังงานลมทั้งหมด 22 โครงการ เร็วๆ นี้


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายงานจากศาลปกครองกลาง ระบุว่า เมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา บริษัท วินด์ กาฬสินธุ์ 2 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ได้ถอนฟ้องคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ลงวันที่ 5 มี.ค. 2567 แล้ว โดยศาลฯ ได้สั่งเพิกถอนคดีดังกล่าวออกจากสารบบเรียบร้อยแล้ว

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า การประชุมบอร์ดกกพ.นัดพิเศษ เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา มีการพิจารณาเพื่อเดินหน้าโครงการพลังงานลมจำนวน 22 โครงการ ในโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) เฟสแรก ที่ก่อนหน้านี้ไม่สามารถลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ได้ เนื่องจากติดคำสั่งศาล หลังจากบริษัท EA ยื่นฟ้องกกพ. 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการเทพสถิต วินด์ฟาร์ม 2.โครงการ วินด์ ขอนแก่น 2 ซึ่งทั้งสองโครงการศาลยกฟ้องไปแล้ว เหลือเพียง โครงการวินด์กาฬสินธุ์ 2 ที่ล่าสุด EA ได้ถอนฟ้องเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจึงสามารถเดินหน้าได้ตามปกติ

ทั้งนี้ กกพ.จะเร่งดำเนินการโครงการพลังงานลมจำนวน 22 โครงการ กำลังการผลิตรวม 1,490.20 เมกะวัตต์ เพื่อให้สามารถลงนาม PPA ให้เร็วที่สุด แต่ต้องดูความพร้อมของแต่ละโครงการด้วย เพราะระยะเวลาที่ยืดเยื้อถึง 336 วัน อาจทำให้บางโครงการเกิดปัญหา อาทิ ที่ดิน การเงิน และสายส่ง เป็นต้น

ดังนั้น หลังจากนี้กกพ.จะเร่งพิจารณา เพื่อให้โครงการพลังงานลมดังกล่าวเดินหน้าต่อไปได้ เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ขณะเดียวกันนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียว หรือในรูปแบบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องการเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้า (UGT2)

อย่างไรก็ตาม กกพ.คาดว่าจะสามารถลงนาม PPA สำหรับโครงการพลังงานลมจำนวน 22 โครงการได้โดยเร็วที่สุด ส่วนการขายไฟฟ้าเข้าระบบของแต่ละโครงการนั้น จะไม่เร่งรัดจนผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินโครงการได้ ดังนั้นที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้กกพ.ปรับเลื่อนกำหนดวันเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (SCOD) ออกไปก่อน เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงของแต่ละโครงการได้ตามสมควร ทั้งนี้ไม่ให้เกินกรอบภายในปี 2573

“กกพ.รับทราบว่าทาง EA ถอนฟ้องโครงการวินด์ กาฬสินธุ์ 2 แล้ว หลังจากทื่ผ่านมา EA ฟ้องกกพ.จำนวน 3 โครงการ แต่โครงการวินด์ กาฬสินธุ์ 2 ขอคำสั่งศาลทุเลาตามคำสั่งกกพ.ด้วย ทำให้กกพ.ไม่มีสิทธิ์ดำเนินการต่อได้ ส่งผลโครงการพลังงานลมเฟสแรก 22 โครงการ ต้องหยุดชะงักไป 336 วัน และเป็นผลให้การเปิดรับซื้อพลังงานหมุนเวียนรอบ 2 อีกประมาณ 3,668 เมกะวัตต์ เลื่อนออกไปด้วย แต่หลังจากนี้กกพ.จะเร่งพิจารณาเพื่อเดินหน้าโครงการดังกล่าวให้เร็วที่สุด”

สำหรับความคืบหน้าการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) รอบสอง กำลังการผลิตรวม 3,668 เมกะวัตต์ ตามมติกบง. เมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมานั้น ทั้งนี้ตามมติกบง.จะให้สิทธิ์สำหรับผู้ยื่นคำเสนอที่ผ่านหลักเกณฑ์ในรอบแรกที่ไม่ได้รับการคัดเลือก จะได้รับการพิจารณารับซื้อเป็นลำดับแรกในปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานลม รวมไม่เกิน 600 เมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ไม่เกิน 1,580 เมกะวัตต์ รวมปริมาณไฟฟ้า 2,180 เมกะวัตต์ โดยในกลุ่มนี้จะเป็นโครงการที่ผ่านหลักเกณฑ์แล้วแต่ได้คะแนนน้อย จึงไม่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรก ดังนั้นกกพ.จะเรียกผู้ประกอบการมายืนยันความพร้อมว่าจะเข้าร่วมโครงการพลังงานหมุนเวียนรอบสองหรือไม่ ส่วนโควตาส่วนที่เหลือจากการเปิดรับซื้อข้างต้น ให้เป็นการเปิดรับซื้อเป็นการทั่วไป ทั้งนี้กกพ.จะเร่งดำเนินการต่อไป

กัลฟ์จ่อเซ็นสัญญา 1,200 MW

แหล่งข่าวจากวงการโรงไฟฟ้า เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เตรียมลงนาม PPA โครงการพลังงานลมที่ชนะประมูลรอบแรก จำนวน 1,200 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็นที่กัลฟ์ถือหุ้น 100% จำนวน 400 เมกะวัตต์ และที่เหลือร่วมกับพันธมิตร 800 เมกะวัตต์ ภายหลังจาก EA ถอนฟ้องโครงการวินด์ กาฬสินธุ์ 2

โดยก่อนหน้านี้กัลฟ์ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ไปแล้ว รวม 25 โครงการ กว่า 1,353 เมกะวัตต์

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน GULF กล่าวกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า บริษัทเตรียมเข้าประมูลโครงการพลังงานหมุนเวียนรอบใหม่ 3,662 เมกะวัตต์ ภายในปีนี้ ทั้งในส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และโซลาร์พ่วงแบตเตอรี่ รวมทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานลม นอกจากนี้ยังมีการร่วมทุนกับพาร์ตเนอร์ด้วย

ด้านนางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL เปิดเผยว่า ภายหลังจาก EA ถอนฟ้อง จะทำให้โครงการพลังงานลมที่ค้างในเฟสแรกสามารถลงนาม PPA ได้หลังจากหยุดชะงักไปก่อนหน้านี้ ซึ่งมีโครงการของกันกุลประมาณ 2-3 โครงการ นอกจากนี้บริษัทยังมีความพร้อมยื่นประมูลพลังงานหมุนเวียนเฟส 2 ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายในปีนี้ โดยมีทั้งในส่วนของโครงการที่ผ่านหลักเกณฑ์ในรอบแรกที่ไม่ได้รับการคัดเลือก รวมทั้งการเปิดรับซื้อใหม่ โดยสนใจทั้งโซลาร์และลม

โดยก่อนหน้านี้ผู้บริหาร GUNKUL เปิดเผยว่า การเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเฟส 1 บริษัทยื่นทั้งสิ้น 21 โครงการ กำลังผลิตรวม 1,246 เมกะวัตต์ ได้รับคัดเลือก 17 โครงการ รวม 832.4 เมกะวัตต์ และในเฟส 2 ที่กกพ.จะเปิดรับซื้ออีก 3,669 เมกะวัตต์ ยังมีโครงการของบริษัทที่ไม่ผ่านรอบแรกด้วยที่คาดว่าจะรับโควตาในรอบนี้ และยังมีโอกาสเข้าประมูลเพิ่มเติมอีกในโควตาส่วนที่เหลืออีกด้วย

ส่วน 17 โครงการที่บริษัทผ่านการคัดเลือกในรอบแรกนั้น แบ่งเป็น โครงการโซลาร์ 15 โครงการ และพลังงานลม 2 โครงการ ซึ่งโครงการโซลาร์ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แล้ว จะทยอย COD ในปี 2569-2573 แบ่งเป็น ปี 2569 อยู่ที่ 177 เมกะวัตต์, ปี 2571 อยู่ที่ 48 เมกะวัตต์, ปี 2572 อยู่ที่ 371 เมกะวัตต์ และปี 2573 อยู่ที่ 236 เมกะวัตต์ ส่งผลให้รับรู้รายได้เพิ่มขึ้น

นายวรุตม์ ธรรมาวรานุคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SSP เปิดเผยว่า บริษัทมีโครงการพลังงานลมจำนวน 1 โครงการ ขนาด 16 เมกะวัตต์ ที่ยังรอลงนาม PPA กับทางการไฟฟ้าฯ ซึ่งภายหลัง EA ถอนฟ้อง เชื่อว่าทุกโครงการที่ค้างท่ออยู่จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ นอกจากนี้บริษัทมีความพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลพลังงานหมุนเวียนเฟสสอง ทั้งโซลาร์ ลม จำนวนหลายโครงการ

BGRIM พร้อมลุยรีนิวรณ์อบสอง

นายนพเดช กรรณสูต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานการลงทุน นวัตกรรมและความยั่งยืน และสายงานธุรกิจในประเทศไทยและมาเลเซีย บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า บี.กริมมีความพร้อมที่จะร่วมประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนรอบ 2 ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และโรงไฟฟ้าพลังงานลมรวมกันประมาณ 500 เมกะวัตต์ จากทั้งหมดที่เปิดประมูลรอบนี้ 3,668 เมกะวัตต์

แหล่งข่าวจากบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เปิดเผยว่า บริษัทมีความสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลพลังงานหมุนเวียนกำลังการผลิตรวม 3,668 เมกะวัตต์ รอบสองด้วย

บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีที่กบง.ให้สิทธิสำหรับผู้ยื่นคำเสนอที่ผ่านหลักเกณฑ์ในรอบแรกที่ไม่ได้รับการคัดเลือก จะได้รับการพิจารณารับซื้อเป็นลำดับแรก แบ่งเป็น ปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานลมรวมไม่เกิน 600 เมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินไม่เกิน 1,580 เมกะวัตต์ รวมปริมาณไฟฟ้า 2,180 เมกะวัตต์ ว่า จากการประเมินของบริษัท พบว่ากลุ่มโรงไฟฟ้าที่ยื่นประมูลรอบแรกรวมกันประมาณ 10,000 เมกะวัตต์ จากจำนวนที่เปิดรับซื้อทั้งหมด 5,203 เมกะวัตต์

โดยส่วนหนึ่งผ่านคุณสมบัติแต่ไม่ได้รับการคัดเลือก การประมูลรอบนี้จะได้รับโอกาสก่อนเป็นอันดับแรก โดย บล.บัวหลวง ประเมินเบื้องต้นดังนี้ 1.บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF รอบแรกได้รับการคัดเลือกจำนวน 2.5 พันเมกะวัตต์ ยังมีเหลือที่ไม่ผ่านรอบแรกอีกประมาณ 1-2 พันเมกะวัตต์ ซึ่งมีสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง และมีโอกาสชนะประมูลรอบนี้

2.BGRIM ชนะประมูลรอบแรก 339 เมกะวัตต์ เหลือที่ไม่ผ่านรอบแรกประมาณ 100-200 เมกะวัตต์ ซึ่งผู้บริหารพร้อมจะยื่นประมูลรอบสองอีกประมาณ 500-700 เมกะวัตต์ 3.บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC รอบแรกผ่านการคัดเลือกแค่ 16 เมกะวัตต์ ยังเหลือที่ไม่ผ่านรอบแรกอีกประมาณ 300-400 เมกะวัตต์ ที่จะเข้าร่วมประมูลในรอบนี้

4.GUNKUL รอบแรกชนะประมูล 832 เมกะวัตต์ ยังเหลือให้เข้าร่วมประมูลรอบสองอีก 300-400 เมกะวัตต์ 5.บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP รอบแรกชนะประมูล 125 เมกะวัตต์ รอบนี้ยังเหลือจากรอบแรกประมาณ 40-50 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตาม บางบริษัทที่ไม่ผ่านรอบแรกอาจจับมือร่วมกันเพื่อเข้าประมูล ส่วนกลุ่มที่คาดว่ามีโอกาสจะชนะประมูลรอบนี้ค่อนข้างสูง ตามสัดส่วนของการยื่นประมูลที่เหลือจากรอบแรก ได้แก่ GULF, BGRIM, GPSC และ GUNKUL

รายงานข้อมูลจาก LSEG CONSENSUS ประมาณการกำไรสุทธิปี 2567 ของ GULF ที่ 1,8581.22 ล้านบาท ราคาเป้าหมายเฉลี่ย 57.88 บาท จาก 8 โบรกเกอร์, BGRIM ประมาณการกำไรสุทธิปี 2567 ที่ 2,120.24 ล้านบาท ราคาเป้าหมายเฉลี่ย 27.61 บาท จาก 11 โบรกเกอร์, GPSC ประมาณการกำไรสุทธิปี 2567 ที่ 5,206.48 ล้านบาท ราคาเป้าหมายเฉลี่ย 57.25 บาท จาก 12 โบรกเกอร์ และ GUNKUL ประมาณการกำไรสุทธิปี 2567 ที่ 1,514.67 ล้านบาท ราคาเป้าหมายเฉลี่ย 3.72 บาท จาก 4 โบรกเกอร์ และ WHAUP ประมาณการกำไรสุทธิปี 2567 ที่ 1,483.50 ล้านบาท ราคาเป้าหมายเฉลี่ย 5.25 บาท จาก 3 โบรกเกอร์

Back to top button