OR ตัดขาย “เท็กซัส ชิคเก้น” จับตาลดภาระขาดทุน ธุรกิจไลฟ์สไตล์
OR ตัดขายร้านไก่ทอดแบรนด์ “เท็กซัส ชิคเก้น” ถือเป็นเรื่องดีที่นักวิเคราะห์มองว่ามีนัยยะสำคัญต่องบการเงินของบริษัทในระยะยาว เนื่องจากธุรกิจร้านไก่ทอดมีการแข่งขันสูง โดยในระยะสั้น OR อาจต้องบันทึกค่าใช้จ่ายพิเศษในการยุติกิจการประมาณ 500-700 ล้านบาท
กลายเป็นข่าวฮือฮาทันทีหลังจาก “Texas Chicken” หรือ เท็กซัส ชิคเก้น ร้านขายไก่ทอดภายใต้ร่มเงา บริษัท ปตท. น้ำมัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ได้ประกาศยุติกิจการในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2567 เป็นต้นไป หลังจากเปิดให้บริการในประเทศนานกว่า 9 ปี
โดยต้องยอมรับว่า ตลอดทั้ง 9 ปีบนเส้นทางธุรกิจร้านไก่ทอดในประเทศไทยอาจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะส่วนแบ่งทางการตลาดของธุรกิจร้านไก่ทอดในไทยยังเป็นของแบรนด์ไก่ทอดระดับโลกอย่าง เคเอฟซี (KFC) ที่มีทั้งบริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ CRJ และบริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด หรือ RD , บริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด บริษัทในเครือของ “ไทยเบฟเวอเรจ” จนทำให้ KFC มีส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจนี้ถึง 90% และในอีก 10% จะเป็นของร้านขายไก่ทอดอื่นๆที่ต้องแบ่งกันซึ่งในนั้นหมายรวมถึง “Texas Chicken”
ทั้งนี้การประกาศยุติกิจการร้านไก่ทอด “Texas Chicken” ที่อยู่ภายใต้กลุ่มธุรกิจ Lifestyle ของ OR ย่อมเป็นไปตามวัฎจักรในการดำเนินธุรกิจ เมื่อธุรกิจใดที่ไม่สามารถไปต่อไม่ได้ และส่งผลต่อภาพรวมของงบการเงินบริษัทฯ ก็อาจจำเป็นที่ต้องหยุดการดำเนินงาน เพื่อประโยชน์ของบริษัทฯ ในอนาคต
โดยในมุมมองของ นางสาวสุพพตา ศรีสุข ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยผ่านทีมงาน “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่าทางฝ่ายนักวิเคราะห์มีมุมมองเป็น 2 ประเด็น โดยในระยะสั้นงบการเงินไตรมาสที่ 3/67 ของ OR บริษัทจะต้องมีการบันทึกค่าใช้จ่ายพิเศษจากการยุติกิจการราวประมาณ 500-700 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามในภาพระยะยาว มีมุมมองบวกต่อ OR ซึ่งมีนัยยะสำคัญต่องบการเงินของ OR ในไตรมาสถัดไป ขณะที่ราคาหุ้น OR ขึ้นอยู่กับนักลงทุนจะมองเป็นภาพระยะสั้นหรือระยะยาว