BYD ร่วง 2% หลังตลท. สั่งแจงงบ Q2 เหตุ “ไทย สมายล์ บัส” พักชำระหนี้เฉียด 1 หมื่นล้าน

BYD ร่วง 2% หลังตลท. สั่งแจงงบไตรมาส 2/67 ภายในวันที่ 1 ต.ค.นี้ เหตุ “ไทย สมายล์ บัส” ขอพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 3 ปีวงเงิน 9,697 ล้านบาท อาจส่งผลให้งวด 6 เดือน ปี 67 บริษัทไม่มีกระแสเงินสดจากดอกเบี้ยรับ


ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (17. ก.ย.67) ราคาหุ้น บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BYD ณ เวลา 10:45 น. อยู่ที่ระดับ 1.74 บาท ลบ 0.04 หรือ 2.25% สูงสุดที่ระดับ 1.82 ต่ำสุดที่ระดับ 1.65 บาท คิดเป็นมูลค่าการซื้อขาย 243.93 ล้านบาท

 

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ขอให้ BYD ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินไตรมาสที่ 2 ปี 2567 ซึ่งมีรายได้หลักมาจากดอกเบี้ยรับเงินให้กู้ยืมกับ บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด (TSB) คิดเป็น 65% ของรายได้โดย TSB ขอพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 3 ปี ส่งผลให้งวด 6 เดือนปี 2567 บริษัทไม่มีกระแสเงินสดจากดอกเบี้ยรับ ซึ่งอาจกระทบต่อฐานะการเงิน, การตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ, ผลการดำเนินงานและสภาพคล่องของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ จึงขอให้ชี้แจงข้อมูลผ่านระบบเผยแพร่ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 โดยขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลงบการเงินของ BYD และติดตามคำชี้แจงของบริษัท

โดยในงวด 6 เดือนปี 67 พบเงินให้กู้ยืมกับ TSB จำนวน 9,697 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 65 มีจำนวน 8,550 ล้านบาท และปี 66 อยู่ที่ 9,150 ล้านบาท และดอกเบี้ยค้างรับจาก TSB งวด 6 เดือนปี 67 จำนวน 285 ล้านบาท เพิ่มจากปี 66 อยู่ที่ 4 ล้านบาท

ทั้งนี้ เงินให้กู้ยืมคิดเป็น 77% ของสินทรัพย์รวม โดยมีการวางหลักประกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหุ้นของบริษัทที่มีส่วนผู้ถือหุ้นติดลบทำให้มูลค่าหลักประกันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และ TSB ได้พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 3 ปี เริ่มชำระ 31 มกราคม 2570 ขณะที่รายได้หลักของ BYD มาจากดอกเบี้ยจาก TSB แต่ไม่ได้รับชำระดอกเบี้ยตั้งแต่ต้นปี 67

โดยหลักประกันเป็นหุ้น บริษัท เอซ อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ ACE, บริษัท สมาร์ทบัส จำกัด, บริษัท ไทย สมายล์ โบ้ท จำกัด และ บริษัท เบลี่ เซอร์วิส จำกัด ซึ่งในปี 66 มีผลขาดทุนทุกบริษัทเว้น บริษัท เบลี่ เซอร์วิส จำกัด ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้คณะกรรมการบริษัทให้ความเห็นในประเด็น ดังนี้

1.ผลกระทบจากการพักชำระหนี้ให้กับ TSB ต่อฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน และสภาพคล่องของบริษัท

2.นโยบายการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของเงินให้กู้ยืมกับ TSB เนื่องจากปี 2566 TSB มีผลการดำเนินงานขาดทุนและส่วนผู้ถือหุ้นติดลบ

3.ความเพียงพอของมูลค่าหลักประกันเงินให้กู้ยืมกับ TSB และมาตรการดูแลความเสี่ยงและการดำเนินการของบริษัทในการดูแลลูกหนี้ TSB

Back to top button