“กสทช.” จับมือภาคี เปิดตัว “Scam Alert” ศูนย์เตือนภัยกลโกงมิจฉาชีพ
สำนักงาน กสทช. ร่วมรัฐ – เอกชน เปิดตัว “Scam Alert” ศูนย์รวมข้อมูลเตือนภัยกลโกงมิจฉาชีพ บนช่องทางต่าง ๆ และแอปพลิเคชัน Whoscall
ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (17 ก.ย.67) สำนักงาน กสทช. ร่วมกับองค์กรภาคี ทั้งภาครัฐและเอกชน เปิดตัว “Scam Alert ศูนย์รวมข้อมูลเตือนภัยกลโกงมิจฉาชีพ” โดยมีช่องทางการเผยแพร่ในภาพรวม คือ Facebook และฟีเจอร์ (Feature) ของแอปพลิเคชัน Whoscall ซึ่งแพลตฟอร์มฐานข้อมูลแบบรวมศูนย์ที่ช่วยแจ้งเตือนภัยกลลวงและรับมือกับการหลอกลวงจากมิจฉาชีพออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงทีและทั่วถึง รวมถึงช่องทางต่าง ๆ ขององค์กรภาคีด้วย
โดยในช่วง 2–3 ปีที่ผ่านมาการหลอกลวงออนไลน์เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อคนไทยหลายแสนคนต่อปี สถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติระหว่างเดือนมีนาคม 2565 ถึงกรกฎาคม 2567 พบว่า ความเสียหายจากการถูกหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์มีมูลค่ารวมเกือบ 7 หมื่นล้านบาท หรือ เฉลี่ย 78 ล้านบาทต่อวัน
ขณะที่ผลสำรวจเบื้องต้นจากรายงานขององค์กรต่อต้านกลโกงระดับโลก Global Anti-Scam Alliance (GASA) ประจำปี 2567 ยังพบว่ามีคนไทยเพียง 55% ที่มั่นใจว่ารู้เท่าทันมิจฉาชีพ และ 89% เผยว่า ต้องรับมือกับมิจฉาชีพอย่างน้อยเดือนละครั้ง สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่มิจฉาชีพได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาวิธีการหลอกลวงให้มีความแนบเนียน และก้าวล้ำมากยิ่งขึ้น ด้วยการสร้างข่าวเท็จและเว็บไซต์ปลอมอีกมากมาย นอกเหนือจากการหลอกลวงในรูปแบบเดิม ผ่านการโทรเข้าและส่งข้อความสแปม
โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ Whoscall สามารถตรวจพบสายโทรเข้าจากมิจฉาชีพได้เกือบถึง 19 ล้านครั้ง ในขณะที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) สามารถปิดกั้นเว็บไซต์ที่บิดเบือน/หลอกลวง จำนวนกว่า 47,000 รายการ ระหว่างเดือนตุลาคม 2566 – สิงหาคม 2567
ด้าน ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) กล่าวว่า อาชญากรรมไซเบอร์เป็ ภัยคุกคามที่สำคัญ ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค แต่รวมถึงภาครัฐและธุรกิจด้วย ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กสทช. ได้ทำงานเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนชั้นนำ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในการป้องกันอาชญากรรมทางไซเบอร์ของประเทศ โดยได้ดำเนินการออกกฎระเบียบ ข้อบังคับ และแนวปฏิบัติ ด้านความปลอดภัยเพื่อรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ สำหรับภาคธุรกิจโทรคมนาคม โครงการ Scam Alert เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมดิจิทัลที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น ด้วยการแบ่งปันความรู้และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเสริมความแข็งแกร่งให้ประชาชนได้รับข้อมูลและปกป้องจากภัยคุกคามของการหลอกลวงทางออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น
สำหรับองค์กรภาคีภาครัฐ และเอกชน 12 องค์กร ประกอบด้วย คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.), กองบัญชาการตํารวจสอบสวนกลาง (บช.ก.), กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.), บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส), บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น, บมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ, บมจ. ธนาคารไทยพาณิชย์, กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, สภาองค์กรของผู้บริโภค โครงการโคแฟค (Cofact) และบริษัท โกโกลุก (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่น Whoscall เป็นผู้ประสานงานหลัก ร่วมกันเปิดตัวฟีเจอร์ “Scam Alert” (เตือนภัยกลโกง) ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อป้องกันการหลอกหลวงจากมิจฉาชีพแห่งแรกของไทยแบบรวมศูนย์ เพื่อจัดการกับข้อมูลจำนวนมากจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ แจ้งเตือนภัย และให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการหลอกลวงที่อาจเกิดขึ้นในภาคส่วนต่าง ๆ ได้รับทราบอย่างทั่วถึง
ส่วนช่องทางในการสื่อสาร ได้แก่ Facebook และบริการบนฟีเจอร์ Scam Alert บนแอปพลิเคชัน Whoscall เพื่อเป็นแพลตฟอร์มฐานข้อมูลแบบรวมศูนย์สำหรับประชาชน โดยแบ่งเป็นการเตือนภัยโดยตรงจากหน่วยงานภาครัฐและข้อมูลเตือนภัยกลโกงในรูปแบบต่าง ๆ จากพันธมิตรภาคเอกชน ที่สามารถใช้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายทั้งเวอร์ชันฟรีและพรีเมียม
เตือนภัยกลโกงล่าสุด (Scam Trending Alert) – ผู้ใช้งาน Whoscall สามารถเปิดการแจ้งเตือนอัตโนมัติ บนแอปพลิเคชันเพื่อรับข้อมูลแจ้งเตือนภัยมิจฉาชีพที่สำคัญและเร่งด่วน แบบเรียลไทม์ เช่น การแอบอ้างหน่วยงานที่สำคัญ การหลอกลวงที่มีมูลค่าความเสียหายขนาดใหญ่ และก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง และการโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคล จากองค์กรภาครัฐ เช่น กองบัญชาการตํารวจสอบสวนกลาง ตำรวจไซเบอร์ กสทช. และ สกมช.
เตือนภัยกลโกงรู้ทันมิจฉาชีพ (Scam Education Content) – ฟีเจอร์นี้จะเป็นแพลตฟอร์มที่รวมความรู้เกี่ยวกับกลวิธีการหลอกลวง และเคล็ดลับการป้องกันต่าง ๆ จากภาคีเครือข่ายภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เช่น การหลอกลวงด้านการลงทุน การหลอกลวงการชำระบิล การหลอกลวงในการซื้อของ การหลอกลวงทางอีคอมเมิร์ซ รวมถึงรายงานและให้ข้อมูลเชิงลึกจาก Whoscall และองค์กร Global Anti-Scam Alliance (GASA)
ทั้งนี้ การป้องกันการหลอกลวงเริ่มต้นด้วยการได้รับข้อมูลอย่างทันท่วงทีจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ ซึ่งนอกเหนือจากผู้ใช้งานจะได้รับทราบข้อมูลการเตือนภัยผ่านฟีเจอร์ Scam Alert แล้ว ประชาชนก็สามารถใช้เครื่องมือต่าง ๆ ที่ภาครัฐและเอกชนพัฒนาขึ้น เป็นกลไกในการจัดการกับปัญหามิจฉาชีพ อาทิ การแจ้งความดำเนินคดีที่ศูนย์ AOC 1441 หรือ thaipolice.go.th หรือการแจ้งเลขหมายที่เป็นมิจฉาชีพต่อ กสทช. ที่ 1200 โทรฟรี หรือแจ้งที่ผู้ให้บริการมือถือแต่ละราย รวมทั้ง Whoscall ก็มีฟีเจอร์ป้องกันความปลอดภัยเพิ่มเติมให้แก่ผู้ใช้งานทุกคน เช่น Auto Web Checker เพื่อปกป้องผู้ใช้จากการคลิกลิงก์ฟิชชิงโดยไม่ได้ตั้งใจแบบอัตโนมัติ และ ID Security (เช็กข้อมูลรั่วไหล) เป็นต้น