เฝ้าระวัง! “สสน.” เตือนพายุลูกใหม่ “ซูลิก” จ่อเข้าไทย 20-22 ก.ย.นี้

“สสน.” เตือนพายุลูกใหม่ "ซูลิก" จ่อเข้าไทย 20-22 ก.ย.นี้ “ปภ.” เตือน 35 จังหวัด เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำล่วงหน้า 72 ชั่วโมง


ผู้สื่อรายงานวันนี้ (17 ก.ย.67) นางรอยบุญ รัศมีเทศ ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ หรือ สสน. เปิดเผยข้อมูลจากระบบ Thai Water Plan ล่าสุดวันนี้ ซึ่งคาดการณ์จากปริมาณน้ำฝนว่า มีพื้นที่ที่จะต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำล่วงหน้า 72 ชั่วโมง ได้แก่ 14 จังหวัด (ภาคอีสาน),10 จังหวัด(ภาคใต้), 6 จังหวัด (ภาคเหนือ) และ 5 จังหวัด (ภาคตะวันออก) พร้อมกับระบุว่า “พายุซูลิก” อาจจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ไทยช่วงระหว่างวันที่ 20-22 ก.ย.67 นี้

โดยทาง สสน. ระบุเพิ่มเติมสำหรับพื้นที่ต้องเฝ้าระวังว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มี 14 จังหวัด ได้แก่จังหวัดหนองคาย เลย สกลนคร บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร หนองบัวลำภู อุดรธานี ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ อุบลราชธานี และนครราชสีมา ขณะที่ 6 จังหวัดในภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง พะเยา น่าน และแพร่

สำหรับภาคใต้ มีจังหวัดที่จะต้องเฝ้าระวังทั้งหมด 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต ชุมพร สุราษฎร์ธานี กระบี่ ตรัง สตูล นราธิวาส และยะลา ส่วน 5 จังหวัดในภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดตราด จันทบุรี ชลบุรี ปราจีนบุรี และนครนายก

อย่างไรก็ตาม ทาง สสน. ยังแจ้งอีกว่า ไทยต้องเฝ้าติดตามการก่อตัวของหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศฟิลิปปินส์ ที่มีแนวโน้มเคลื่อนที่ลงสู่ทะเลจีนใต้ และทวีความรุนแรงเป็นพายุ และอาจเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยตอนบน ช่วงระหว่างวันที่ 20-22 ก.ย.67 นี้ด้วย

ทางด้าน นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ. เปิดเผยว่า “เพื่อป้องกันความเสียหาย และลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากอุทกภัย กระทรวงมหาดไทยโดย ปภ. ได้หารือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สายงานโทรคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจสังคมม กรมอุตุนิยมวิทยา, สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ, สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.), ผู้ให้บริการเครือข่าย AIS,TRUE และบมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ จะร่วมกันดำเนินการส่งข้อความแจ้งเตือนภัยเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยได้รับข้อมูลการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าผ่านโทรศัพท์มือถือ (SMS) ทั้งการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า 12-24 ชั่วโมง และการแจ้งเตือนภัยแบบกรณีฉุกเฉิน 6-12 ชั่วโมง เพื่อที่จะได้สามารถเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อย่างทันท่วงทีและลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น”

อนึ่ง ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ปภ. จะทำการติดตามสถานการณ์ วิเคราะห์ข้อมูลความเสี่ยงภัย และส่งข้อความ (SMS) แจ้งเตือนผ่านไปยังผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เพื่อส่ง SMS ไปแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เฝ้าระวัง โดยการแจ้งเตือนภัยจะเป็นไปตามเกณฑ์ระดับการแจ้งเตือนภัย ตั้งแต่ระดับสีเหลือง สีส้ม และสีแดง ดังนี้

-ระดับสีเหลือง: เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ และปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และเตรียมพร้อมอพยพกลุ่มเปราะบาง

-ระดับสีส้ม: ให้อพยพและปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ให้อพยพกลุ่มเปราะบางออกจากพื้นที่น้ำท่วม และขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง

-ระดับสีแดง: ต้องอพยพและปฏิบัติตามข้อสั่งการของเจ้าหน้าที่

ส่วนปัจจุบันสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 13 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย สุโขทัย พิษณุโลก หนองคาย อุดรธานี บึงกาฬ ปราจีนบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา พังงา ชุมพร ภูเก็ต และสตูล รวม 45 อำเภอ 192 ตำบล 934 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 27,831 ครัวเรือนนั้น ล่าสุดจังหวัดทางภาคเหนือ ขณะนี้ระดับน้ำได้ลดระดับลงแล้ว ซึ่งการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจึงมุ่งไปที่การฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับมาสู่สภาพเดิมให้เร็วที่สุด โดยทาง ปภ. ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอาสาสมัครมูลนิธิ ส่งกำลังพลและอุปกรณ์เข้าฟื้นฟูทำความสะอาดบ้านเรือนประชาชน ถนนหนทางเพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติโดยเร็ว

ขณะที่ภาคอีสาน นั้น ทาง ปภ. จัดระดมเจ้าหน้าที่จากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในภาคอีสาน ไปปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ด้วยการกระจายกำลังติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องจักรกลสาธารณภัยรองรับน้ำโขงที่ล้นตลิ่งและระบายน้ำออกจากพื้นที่ พร้อมกับวางกระสอบทรายกั้นน้ำ รวมถึงอพยพประชาชนในพื้นที่ประสบภัยและพื้นที่เสี่ยงภัยที่คาดว่าจะเกิดสถานการณ์ขึ้น

Back to top button