ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ส.ค. หดตัว แนะรัฐเร่งกระตุ้นกำลังซื้อ-เยียวยาภาคธุรกิจ

“ส.อ.ท.” เผยดัชนีเชื่อมั่น “อุตสาหกรรม” เดือนส.ค. อยู่ที่ 87.7 หดตัวลดลงจากเดือน ก.ค. ที่ระดับ 89.3 หลังเผชิญปัจจัยกดดันอุปสงค์สินค้าคงทนลด โดยเฉพาะสินค้าประเภทรถยนต์ลดลง แนะภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมออกมาตรการเยียวยาธุรกิจจากอุทกภัย


ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (18 ก.ย.67) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนส.ค.67 อยู่ที่ 87.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 89.3 ในเดือนก.ค.67 โดยมีปัจจัยด้านลบจากอุปสงค์ในประเทศชะลอตัวลง โดยเฉพาะสินค้าคงทนประเภทรถยนต์ สะท้อนจากยอดขายรถยนต์ในประเทศ 7 เดือน ม.ค.- ก.ค. อยู่ที่ 354,421 คัน ลดลง 23.71% โดยเฉพาะรถกระบะและรถบรรทุก เนื่องมาจากความเข้มงวดในการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน ขณะที่กำลังซื้อยังเปราะบางจากความกังวลปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90.8% ต่อ GDP ในไตรมาส 1/67 ซึ่งกดดันการบริโภคในประเทศ

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยังเผชิญปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ทั้งค่าไฟฟ้า ราคาวัตถุดิบ รวมถึงต้นทุนทางการเงิน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ รวมถึงปัญหาการทุ่มตลาดของสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ ทำให้สินค้าไทยไม่สามารถแข่งขันได้ เนื่องจากมีต้นทุนที่สูงกว่า ส่งผลให้ยอดขายสินค้าลดลง

นอกจากนี้ ปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางได้สร้างความเสียหายให้แก่ภาคเกษตรและอุตสาหกรรม รวมถึงส่งผลให้ภาคก่อสร้างชะลอตัวลง ในด้านการส่งออก อัตราค่าระวางเรือ (Freight) ยังอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเส้นทางสหรัฐฯ และยุโรป จากการเร่งส่งออกของจีนและสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่รุนแรงขึ้น ขณะที่เงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วจากระดับ 36.46 บาท/ดอลลาร์ ในเดือนก.ค.67 มาอยู่ที่ 34.92 บาท/ดอลลาร์ในเดือนส.ค.67 ส่งผลให้สินค้าไทยแพงขึ้นเมื่อเทียบกับคู่แข่ง และทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง

อย่างไรก็ดี ในเดือนส.ค.67 ยังมีปัจจัยบวกจากสถานการณ์การเมืองที่คลี่คลายลงทำให้นักลงทุนและผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นมากขึ้น และมีความคาดหวังเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ ขณะที่ การเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งภาคการท่องเที่ยว ยังเป็นแรงสนับสนุนการบริโภคในประเทศ จากมาตรการดึงดูดท่องเที่ยวของภาครัฐ

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 93.9 ปรับตัวลดลงจาก 95.2 ในเดือนก.ค.67 โดยมีปัจจัยที่ผู้ประกอบการยังกังวล ได้แก่ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาท/วัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs และอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น, ปัญหาหนี้เสียมีแนวโน้มสูงขึ้น, ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ยังยืดเยื้อและรุนแรง ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาท และในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 67 คาดว่าบรรยากาศการท่องเที่ยวจะกลับมาคึกคัก

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้

  1. เร่งประกาศและสร้างความชัดเจนในการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 67 อาทิ มาตรการเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน

2.ปรับลดวงเงินประกันการใช้ไฟฟ้าเพื่อเสริมสภาพคล่องในภาคอุตสาหกรรม และชะลอการเรียกเก็บเงินประกันการใช้ไฟฟ้าเพิ่ม กรณีค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในรอบปีสูงขึ้น รวมทั้งทบทวนลดเพดานวงเงินการประกันการใช้ไฟฟ้าให้เหมาะสม

3.ปรับปรุง พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ ปี 42 เพื่อให้การบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) มาตรการดอบโต้การอุดหนุน (CVD) มาดรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (SG) และมาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง (AC) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงลดระยะเวลาการพิจารณาไต่สวน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาสินค้าทุ่มตลาดเป็นไปอย่างรวดเร็ว

  1. ออกมาตรการเยียวยาภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย อาทิ ยกเว้นภาษีนินิบุคคล ขยายเวลาการยื่นภาษี ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร รวมทั้งการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำและระบบการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะยา

Back to top button