เช็ก! 3 หลักเกณฑ์ เยียวยา “น้ำท่วม” สูงสุด 9 พันบาทต่อครัวเรือน

“ปภ.” เปิด 3 หลักเกณฑ์รับเงินเยียวยาพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม สูงสุด 9 พันบาทต่อครัวเรือน คาดดำเนินการจ่ายเงินใน 90 วัน นับตั้งแต่ที่ได้รับการจัดสรรงบ


ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (18 ก.ย.67) นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 ก.ย. ได้อนุมัติกรอบวงเงิน 3,045.52 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยเป็นค่าดำรงชีพเบื้องต้นแก่ครอบครัวผู้ประสบภัยเป็นกรณีพิเศษ สำหรับการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 จะแบ่งเป็น 3 กรณี ดังนี้

1.) กรณีบ้านที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังตั้งแต่ 1 วัน (24 ชั่วโมง) แต่ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินเสียหาย รวมถึงกรณีน้ำท่วมขังติดต่อกันเกิน 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 5,000 บาท

2.) กรณีบ้านที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังติดต่อกันเกิน 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 7,000 บาท

3.) กรณีบ้านที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังติดต่อกันเกิน 60 วันขึ้นไป ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 9,000 บาท

ขณะที่ ในส่วนของการพิจารณาเงื่อนไขการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยนั้นได้กำหนดเงื่อนไขการขอรับเงินเยียวยาเป็น 2 ส่วน ดังนี้

1.) ต้องเป็นบ้านที่อยู่อาศัยประจำในพื้นที่ที่ได้มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยและประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน โดยต้องมีหนังสือรับรองผู้ประสบภัยที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกให้ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 มาตรา 30

อีกทั้ง จะต้องผ่านการประชาคมหมู่บ้านของแต่ละพื้นที่ประสบสาธารณภัย รวมถึงจะต้องผ่านการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลจากคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) และคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครต้องผ่านการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลจากสำนักงานเขตและกรุงเทพมหานคร

2.) กรณีที่ประสบภัยหลายครั้ง จะได้รับความช่วยเหลือเพียงครั้งเดียว

ขณะนี้ ปภ. ได้จัดทำแนวทางปฏิบัติและเตรียมหารือร่วมกับจังหวัดที่ประสบอุทกภัยเพื่อกำหนดแนวทางการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดให้มีความชัดเจน และสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือประชาชนได้ตามกรอบระยะเวลา 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณและจะได้เร่งทำข้อมูลชี้แจงสร้างความเข้าใจหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ประชาชนผู้ประสบภัยได้รับทราบโดยเร็ว เพื่อจะได้เตรียมในการยื่นขอรับเงินช่วยเหลือต่อไป

Back to top button