“นายกฯ” ถกแผนกระตุ้นท่องเที่ยวปี 68 ปัดฝุ่น “เที่ยวด้วยกัน-คนละครึ่ง”
นายกฯ เรียก “ททท.” ถกมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวปี 68 ฟาก “รมว.ท่องเที่ยว” พร้อมเสนอแผนใน 1-2 สัปดาห์นี้ พร้อมเปิดโอกาสฟื้นโครงการเที่ยวด้วยกัน-คนละครึ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (18 ก.ย.67) น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยหลังเข้าพบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อหารือแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยพร้อมหารือถึงการเตรียมความพร้อม เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในปี 2568 โดย ททท. จะนำเรื่องนี้เสนอนายกรัฐมนตรีได้อีกครั้งภายใน 1-2 สัปดาห์นี้
ทั้งนี้ ททท. จะมีการจัดทำภาพรวมการท่องเที่ยวในตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ จัดอีเวนต์และกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงการอำนวยความสะดวกกับนักท่องเที่ยวว่าสิ่งใดที่นักท่องเที่ยวมีความต้องการเพิ่มเติม เช่น สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ซึ่งจะหยิบยกขึ้นมาดูเพราะถือว่าเป็นธุรกิจของทุกชาติที่ต้องการมีระบบจ่ายเงินที่สามารถเชื่อมต่อกับประเทศต้นทางได้ ซึ่งในประเด็นนี้นายกรัฐมนตรีก็ได้รับปากแล้วว่าจะไปพิจารณาให้
น.ส.ฐาปนีย์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วงปลายปีโดยจะต้องเป็นการกระตุ้นแบบลงทุกพื้นที่ และมองว่าภาพรวมการท่องเที่ยวของประเทศไทยจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการท่องเที่ยวสามารถมีดัชนีชี้วัด ไม่ว่าจะเป็นการจัดอันดับต่าง ๆ ที่ต่างชาติดำเนินการจัดอันดับ เป็นดัชนีความนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ยังความสำคัญเรื่องความปลอดภัยและความมั่นใจในการเดินทางมาท่องเที่ยวด้วย
สำหรับ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน และ โครงการคนละครึ่ง จะนำมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวหรือไม่นั้น ดูจากการมอบนโยบายของ นายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.ท่องเที่ยวและกีฬาว่า โครงการด้านใดที่ดีและตอบโจทย์ผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยวต้องมาดูในรายละเอียดเพื่อดำเนินโครงการให้ครอบคลุมต่อไป ซึ่งไม่ได้ปิดโอกาสในการทำกิจกรรมต่างๆ ที่เคยมีมาแล้ว ส่วนจะมีการออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวอื่นๆ เพิ่มเติมหรือไม่ อย่างไรก็ตาม นางฐาปนีย์ กล่าวว่า ยังไม่ได้มีการพูดคุยกันในเรื่องนี้
ทั้งนี้ มีโจทย์ใหญ่ที่นายกรัฐมนตรีให้ไปแก้ไขในเรื่องการท่องเที่ยวเรื่องใดเป็นพิเศษหรือไม่ ผู้ว่าฯ ททท. กล่าวว่า เป็นเรื่องเป้าหมายที่รัฐบาลเคยตั้งไว้ ทั้งรายได้ จำนวนนักท่องเที่ยว ต้องพยายามทำให้ได้ ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งกำลังเข้าสู่ช่วงไฮซีซันก็ต้องลุ้นจำนวนตัวเลขอีกที แต่ด้วยสถานการณ์ทั่วโลกตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติ อุทกภัย ไม่ได้เกิดในประเทศไทยเพียงประเทศเดียว แต่ยังเกิดในทั่วโลก ดังนั้น จะต้องนำมาพิจารณาความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น จากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้
ขณะที่การเดินทางท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นสายการบินที่เป็นปฐมฤกษ์บินเข้ามายังไทยจากข้อมูลพบว่าในเดือนต.ค. นี้ มีเข้ามาเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่งในการสนับสนุนทำให้นักท่องเที่ยวจากใหม่ ๆ เดินทางเข้ามา โดยเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก และตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวน่าจะเพิ่มขึ้นได้ แต่ในเรื่องของรายได้ แม้จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาจำนวนมาก แต่การใช้จ่ายเงินก็มีการรัดเข็มขัดมากขึ้นในหลายประเทศ ประกอบกับเรื่องเศรษฐกิจในประเทศต้นทาง ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้นักท่องเที่ยวใช้เงินค่อนข้างรัดกุมมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยใกล้ 25 ล้านคน ดังนั้นเหลือเวลาอีก 3 เดือนครึ่ง ซึ่งอยู่ในช่วงไฮซีซัน อยากให้เป็นไปตามที่ตั้งเป้า 30-35 ล้านคน โดยกลุ่มตลาดการท่องเที่ยวหลักที่มุ่งเน้นอยู่ คือตลาดจีน, อินเดีย, เกาหลี, มาเลเซีย และรัสเซีย ก็ยังเป็นตลาดหลักที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นกลุ่มดาวฤกษ์เข้ามาท่องเที่ยวจำนวนมาก
ทั้งนี้ กลุ่มตลาดดาวรุ่งหรือกลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวใหม่จำเป็นต้องเพิ่มการตลาดมากขึ้น ก็ได้รับอานิสงส์ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มตลาด CIS ประกอบด้วยคาซัคสถาน อุซเบกิสถาน ถือเป็นกลุ่มตลาดที่เติบโตสูงมาก นอกจากนี้ ยังมีท่องเที่ยวซาอุดีอาระเบีย ที่เติบโตสูงเช่นเดียวกันหรือในกลุ่มอาเซียนอย่าง ลาว เวียดนามก็มีอัตราส่วนที่เติบโตมากขึ้นตามลำดับและกลุ่มยุโรป อเมริกา ฝรั่งเศสเยอรมัน อังกฤษ ก็ยังเติบโตต่อเนื่องเช่นกัน