“จีน” สั่งยุติเว้นภาษีนำเข้า “ผลไม้-ผัก-อาหารทะเล” ไต้หวัน 34 รายการ เริ่ม 25 ก.ย.นี้
กระทรวงการคลังจีน สั่งยุติการงดเว้นภาษีนำเข้า “สินค้าเกษตรไต้หวัน” ผลไม้ ผัก และอาหารทะเล รวม 34 รายการ หลังเรือรบเยอรมนีแล่นผ่านช่องแคบไต้หวัน แสดงถึงการท้าทายอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน
ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ ( 19 ก.ย.67 ) กระทรวงการคลังจีน แถลงเมื่อวันพุธที่ผ่านมา 18 ก.ย. ว่า คณะกรรมการภาษีศุลกากรจีนเตรียมดำเนินการยุติการยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรจากไต้หวันรวม 34 รายการ ซึ่งรวมถึงผลไม้ ผัก และอาหารทะเล โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวของจีนอาจส่งผลกระทบต่อไต้หวันไม่มากนัก ซึ่ง กระทรวงเกษตรไต้หวัน กล่าวว่าไต้หวันส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังจีนคิดเป็นมูลค่าเพียง 7.36 ล้านดอลลาร์ในปี 2566
ขณะที่ นายเฉินจวิ้นจี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรไต้หวัน กล่าวว่า ปัจจุบันจีนมีการนำเข้าสินค้าเกษตรของไต้หวันที่ปลอดภาษีจำนวน 52 รายการ แบ่งเป็นในปี 48 จำนวน 15 รายการ, ปี 50 จำนวน 19 รายการ และความตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจและ การค้าช่องแคบไต้หวัน (ECFA) จำนวน 18 รายการ
โดยการประกาศของจีนครั้งนี้เป็นการยกเลิกสิทธิพิเศษศุลกากรโดยเจาะจงไปที่สินค้าปลอดภาษีของปี 48 และปี 50 ซึ่งจากประเมินคาดการณ์ว่า สินค้าของปี 48 ที่จะได้รับผลกระทบจริงมากที่สุดคือ น้อยหน่าสับปะรดกับส้มโอ ขณะที่สินค้าของปี 50 ที่ค่อนข้างได้รับผลกระทบก็น่าจะเป็นปลาดาบเงินใหญ่
ขณะที่ สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของจีนมีขึ้นหลังจากที่เรือรบเยอรมนีแล่นผ่านช่องแคบไต้หวันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปี โดยแสดงให้เห็นว่าบรรดาชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ ต้องการท้าทายอำนาจของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง
โดยจีนอ้างอธิปไตยเหนือดินแดนไต้หวันมาโดยตลอดและประกาศว่าจะใช้กำลังเข้าควบคุมหากจำเป็น ด้วยเหตุนี้ กองทัพจีนจึงชี้ว่า การที่เรือของเยอรมนีแล่นผ่านช่องแคบไต้หวันถือเป็น “ความเสี่ยงต่อความมั่นคง” และการกระทำดังกล่าวเป็นการ ส่งสัญญาณที่ไม่ถูกต้อง
นอกจากนี้การตัดสินใจของจีนยังทวีความตึงเครียดกับไต้หวัน ซึ่งปะทุขึ้นนับตั้งแต่ ไล่ ชิงเต๋อ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันเมื่อเดือนพ.ค. เนื่องจากเป็นผู้ที่จีนไม่ไว้วางใจ เพราะมองว่ามีความพยายามทำให้ไต้หวันเป็นเอกราช ดังนั้น ความเคลื่อนไหวของจีนในครั้งนี้อาจเป็นการเตือนรัฐบาลไต้หวันให้ยุติกิจกรรมที่ถูกมองว่าเป็นการยั่วยุ