ผู้ถือหุ้นสามัญยื่นฟ้อง “แก๊ง STARK” แบบ Class Action เรียกค่าเสียหายกว่า 4.09 พันล้าน

“สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย” เผย “ศาลแพ่ง” กรุงเทพใต้นัดสืบพยาน ผู้เสียหายจากการลงทุนหุ้น STARK ในชั้นไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่ม Class Action วันที่ 6 – 8 พ.ย.67


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.67) สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) เปิดเผยถึงความคืบหน้า จากความเสียหายที่เกิดขึ้น กรณี บริษัท สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK โดยมีการแถลงข่าวร่วมกันของ 11 องค์กร เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สนับสนุนให้ TIA เป็นศูนย์กลางในการให้ความช่วยเหลือผู้ลงทุนรายบุคคลที่ลงทุนในหุ้นสามัญ (กรณีหุ้นกู้ มี ตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้เป็นผู้รับผิดชอบอยู่แล้ว) ในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action)

โดยในการนี้สมาคมส่งเห็นผู้ลงทุนไทยจึงทำหน้าที่เป็นผู้สนับหนุนผู้เสียทายกสัมผัสงคนในหุ้นสามัญตามกระบวนการติธรรรรมให้บังเกิดผล โดยมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การแจ้งข้อมูล ความคืบหน้า การดำเนินการของสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยในการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายกลุ่มผู้ลงทุนในหุ้นสามัญ STARK มีการดำเนินการ ดังนี้

1.เปิดระบบออนไลน์ลงทะเบียนผู้เสียหายที่ลงทุนในหุ้นสามัญ STARK รอบที่ 1 ระหว่าง วันที่ 19-25 มิถุนายน 2566 มีผู้เสียหายเข้ามาลงทะเบียน 1,759 ราย รวมมูลค่าความเสียหาย 4,039 ล้านบาท

2.เชิญประชุมผู้เสียหายที่ลงทะเบียน ในข้อ 1.เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้เสียหายคัดเลือก “โจทก์ตัวแทนผู้เสียหาย”

3.เปิดระบบออนไลน์ ลงทะเบียนผู้เสียหายหุ้นสามัญ STARK รอบที่ 2. ระหว่าง 17-30 เมษายน 2567 มีผู้เสียหาย เข้ามาลงทะเบียน จำนวน 1,207 ราย

โดย เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา โจทก์ตัวแทนผู้เสียหาย (โจทก์ฯ) กลุ่มผู้ลงทุนในหุ้นสามัญ STARK ได้ยื่นฟ้อง STARK บริษัทในเครือ และกรรมการที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด รวม 10 ราย เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ. 1061/2567 ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ และโจทก์ฯได้ประสานงานกับสมาคมฯ เพื่อขอให้แจ้งข่าวสารแก่ผู้เสียหายรายอื่นๆ ด้วย โดยการฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องคดีแพ่งฐานละเมิดและการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เพื่อเรียกค่าเสียหาย และขอดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) เพื่อให้ผลของคำพิพากษาครอบคลุมไปถึงกลุ่มผู้เสียหายที่เป็นผู้ลงทุนในหุ้นสามัญรายอื่นๆ ด้วย ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

1.ขอบเขตของสมาชิกกลุ่มผู้เสียหายกลุ่มผู้ลงทุนในหุ้นสามัญ คือ เป็นบุคคลที่เข้าซื้อหรือขายหุ้นสามัญของ STARK ในช่วงระยะเวลาแห่งความเสียหาย (Class Period)กล่าวคือ ในช่วงเวลาระหว่าง วันที่ 11 พฤษภาคม 2564 – วันที่ 16 มิถุนายน 2566 (ช่วงที่มีการเผยแพร่งบการเงินเท็จของ STARK)

2.การเข้าซื้อหุ้น ในข้อ 1. สามารถแบ่งประเภทผู้เสียหายออกเป็น 3 กลุ่มย่อย (Sub-Class) ได้แก่ 1. ผู้เสียหายที่เข้าซื้อหุ้นสามัญ STARK และยังถือหุ้นอยู่, 2. ผู้เสียหายที่เข้าซื้อหุ้นสามัญ STARK และขายหุ้นออกบางส่วน, 3. ผู้เสียหายที่เข้าซื้อหุ้นสามัญ STARK และขายหุ้นออกแล้วทั้งหมด

3.การเรียกค่าเสียหายเป็นการเรียกค่าเสียหายโดยคำนวณจากส่วนต่างของราคาหุ้นที่ซื้อขายกับราคาหุ้นที่แท้จริงของ STARK ที่ควรจะเป็นหากไม่มีการเปิดเผยข้อมูลงบการเงินเท็จ ซึ่งหลักในการคำนวณค่าเสียหายดังกล่าวสามารถปรับใช้กับผู้เสียหายทุกกลุ่มย่อยตามข้อ 2. ได้

4.หากท่านเป็นผู้เสียหายกลุ่มผู้ลงทุนในหุ้นสามัญตาม ข้อ 1. และ ข้อ 2.ข้างต้น ทุกท่านได้ถูกนับรวมอยู่ใน สมาชิกกลุ่มของการดำเนินคดีแบบกลุ่ม – Class Action และหากศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มก็จะส่งผลให้ทั้งโจทก์ฯ และสมาชิกกลุ่มมีผลทางคดีร่วมกัน

ส่วนการดำเนินการในช่วงต่อไป คือ  1.วันที่ 6 มิถุนายน 2567 โจทก์ฯ ได้ยื่นคำฟ้องและคำร้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่ม ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ.1061/2567 และ 2.วันที่ 6 – 8 พฤศจิกายน 2567 เวลา 09:00 -16:30 น. ศาลนัดสืบพยานในชั้นไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่ม ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้

นอกจากนี้ การดำเนินการ ตามกระบวนการยุติธรรม สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ทำหน้าที่ช่วยเหลือ ประสานงาน อำนวยความสะดวก ให้กับกลุ่มตัวแทนโจทก์ผู้เสียหาย ตลอดจนทำหน้าที่ในการแจ้งความคืบหน้า (กรณีเมื่อมีความคืบหน้า) ตามข้อมูลที่กลุ่มตัวแทนโจทก์ผู้เสียหายแจ้งมา ผ่านช่องทางการสื่อสาร คือ 1) ระบบออนไลน์ ตามอีเมล์ของแต่ละบุคคลที่ลงทะเบียนไว้กับสมาคมฯ 2) ระบบออนไลน์ ในหน้าเว็บไซต์ ของสมาคมฯ คือ www.thaiinvestors.com (ชื่อเมนู Class Action)

Back to top button