‘เราเที่ยวด้วยกัน’ คัมแบ็ก! “สรวงศ์” เตรียมปัดฝุ่นโครงการ กระตุ้นท่องเที่ยวช่วงไฮซีซั่น
“สรวงศ์ เทียนทอง” เตรียมปัดฝุ่นโครงการ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’-เล็งใช้โมเดลญี่ปุ่นขอคืนภาษีฯ พ่วงทำวันแมปทัวริซึม หวังกระตุ้นท่องเที่ยวช่วงไฮซีซั่น
นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า กระทรวงและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) หารือร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว 14 องค์กร อาทิ สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) สมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ) สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย (พีจีเอที) สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.) สมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วประเทศ (สปข.) สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) เมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา
โดยมีข้อเสนอแนะไปในทิศทางเดียวกัน คือ ภาคการท่องเที่ยว ต้องการทั้งมาตรการกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ รวมถึงการสนับสนุนในด้านต่างๆ จึงมีแนวคิดในการนำโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” กลับมากระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทยอีกครั้ง เพราะเป็นโครงการที่ได้ผลจริงต่อประชาชนทุกระดับ โดยอยากขอให้ลบความคิดด้านการเมืองไปก่อน เพราะอะไรที่ประชาชนได้ประโยชน์เราต้องทำ
“ผมไม่เขินเลยที่จะนำโครงการเราเที่ยวด้วยกันที่ประสบความสำเร็จในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาใช้ใหม่อีกครั้ง เพราะเป็นเครื่องมือที่สามารถกระตุ้นการเดินทางของตลาดไทยเที่ยวไทยได้ทุกระดับ จึงมอบหมายให้ ททท.จัดทำโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟสใหม่ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อเสนอของบประมาณมาดำเนินการ โดยช่วงเช้าวันที่ 18 กันยายน นายกฯแพทองธารได้เรียกเพื่อหารือสถานการณ์ท่องเที่ยวและหามาตรการกระตุ้น ได้รายงานว่าจะฟื้นโครงการเราเที่ยวด้วยกันขึ้นมา นายกฯเห็นด้วย” นายสรวงศ์กล่าว
นายสรวงศ์กล่าวว่า สรุปผลการประชุมมีความคิดเห็นตรงกันว่าภาคเอกชนควรเป็นผู้นำในการดำเนินกิจกรรมและอีเวนต์ต่างๆ ที่ปกติทำอยู่แล้ว รวมถึงมีแผนดำเนินการเพิ่มเติมในอนาคต กระทรวงจะเข้าไปสนับสนุนในส่วนที่สามารถดำเนินการได้ อาทิ หากจังหวัดนั้นๆ มีอีเวนต์ที่เอกชนจะเข้าไปจัด กระทรวงจะต้องวางแผนให้รอบด้าน เพื่อจูงใจนักลงทุนหรือเอกชนผูกสัญญาจัดอีเวนต์ระยะยาว 5-10 ปี พร้อมจัดทำเส้นทางไปเที่ยวจังหวัดใกล้เคียงเพื่อประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวรับรู้อย่างชัดเจนและต่อเนื่อง
รวมถึงเห็นว่าควรจะมีโครงการใหม่ที่จะดำเนินการควบคู่ไปด้วย คือโครงการวันแมปทัวริซึม (One Map Tourism) ที่จะเป็นคู่มือให้นักท่องเที่ยวเดินทาง ประกอบด้วยข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว ปฏิทินกิจกรรม และไฮไลต์สินค้าท่องเที่ยว 5 Must Do in Thailand เพื่อให้เห็นกิจกรรมท่องเที่ยวได้ครบทั้งหมด
นายสรวงศ์กล่าวว่า แนวทางกระตุ้นท่องเที่ยวในช่วงฤดูการท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ (ตุลาคม-ธันวาคม) ผู้ประกอบการสะท้อนถึงตลาดที่มีศักยภาพสูงในการเร่งขยายดึงดูดเข้ามาเที่ยวไทย ได้แก่ ตลาดอินเดีย ควรเพิ่มเที่ยวบินตรง รวมถึงเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลต์) เข้าสู่เมืองหลักและเมืองรองของประเทศไทย พร้อมทำแคมเปญฟิล์ม ซิตี้ เพื่อดึงภาพยนตร์บอลลีวู้ดเข้ามาถ่ายทำในเมืองไทย รวมถึงการทำตลาดดึงคู่แต่งงานอินเดียมาจัดในไทย หลังพบยอดการใช้จ่ายสูง 5 ล้านบาทต่องาน และตลาดญี่ปุ่น เนื่องจากปัจจุบันมีชาวญี่ปุ่นเข้ามาอาศัยและทำงานในไทยมากขึ้น ถือเป็นกลุ่มที่มีคุณภาพและนิยมเดินทางเป็นครอบครัว จึงต้องประชาสัมพันธ์เส้นทางท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์ อาทิ เมืองน่าเที่ยว โดยเฉพาะช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์ เพราะกลุ่มนี้สามารถขับรถเที่ยวในไทยเองได้
นายสรวงศ์กล่าวว่า ส่วนเรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือค่าเหยียบแผ่นดิน ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เร่งดำเนินการว่าควรจัดเก็บอย่างไร และกำหนดวัตถุประสงค์ของการใช้เงินที่จะจัดเก็บในรูปแบบของกองทุนให้ชัดเจน ว่าจะนำเงินไปเป็นทุนในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ซ่อมสร้าง อาทิ ห้องน้ำ ดูแลบุคลากรภาคการท่องเที่ยว และดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติในรูปแบบประกันภัยการเดินทาง ซึ่งเห็นว่าควรต้องทำ แต่ต้องมีความเหมาะสมมากที่สุด
นอกจากนี้ คือการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นช้อปปิ้ง เดสติเนชั่น (Shopping Destination) โดยพิจารณาแนวทางการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติในการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต รีฟันด์) เบื้องต้นอาจใช้โมเดลคล้ายกับประเทศญี่ปุ่น ที่นักท่องเที่ยวสามารถยื่นขอคืนภาษีฯ ณ จุดขายได้เลย ซึ่งส่วนนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งกระทรวงการคลัง กรมสรรพากร และภาคเอกชนด้วย