KKP แนะรัฐ 3 แนวทางแก้ปม “สินค้าจีนทะลักไทย” หลัง e-Commerce เป็นเหตุ

 KKP เสนอ 3 แนวทางให้รัฐใช้รับมือกรณีสินค้าจีนทะลักเข้ามาตีตลาดไทย พร้อมกับระบุว่า แพลตฟอร์ม e-Commerce ของจีนคือตัวการสำคัญที่ทำให้สินค้าเข้ามาตีตลาดไทยได้ง่ายขึ้น


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “KKP Research” โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร หรือ KKP ระบุ ฝ่ายนักวิจัยออกมาชี้แนะ 3 แนวทางให้ภาครัฐใช้รับมือกับจีน หลังจากสินค้าจีนไหลทะลักเข้ามาตีตลาดในไทยเป็นจำนวนมาก  ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องแข่งขันกับจีนโดยตรงและเศรษฐกิจไทยในภาพรวมอีกด้วย พร้อมกับระบุสาเหตุที่ทำให้สินค้าจีนเข้ามามีบทบาทใหญ่ในไทยมาจากแพลตฟอร์ม e-Commerce

ทั้งนี้ ตามที่ KKP Research ระบุถึงข้อมูลที่จีนไม่ได้แค่คืบคลานเข้ามาตลาดไทยแต่เป็นการโหมกระหน่ำเข้ามาตีตลาดไทย ส่งให้เกิดการขาดดุลทางการค้า ซึ่งเป็นประเด็นที่ภาครัฐจำเป็นต้องพิจารณามาตรการในการช่วยดูแลผลกระทบ ถึงแม้ว่าเป็นเรื่องยากที่จะต่อกรกับยักษ์ใหญ่ในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของโลก โดยเฉพาะหลังจากจีนเข้าร่วมองค์กรการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) เมื่อปี 2001

โดยก่อนหน้านี้ ผลกระทบช่วงวิกฤตโควิดเป็นตัวกระตุ้นให้สินค้าจีนสามารถส่งออกไปทั่วโลกและไทยได้เร็วมากขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 2 ปัจจัยที่ทำให้สินค้าจีนทะลักเข้าไทย คือ (1) พัฒนาการการเติบโตที่รวดเร็วของแพลตฟอร์ม e-Commerce ในจีนมีขนาดใหญ่กว่า 50% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งโลก และยังขยายธุรกิจส่งออกด้วย e-Commerce ข้ามประเทศ (Cross-border e-Commerce) ขณะที่ไทยมีสัดส่วนจากการส่งสินค้าข้ามประเทศจากจีนขนาดประมาณ 24% ของมูลค่า e-Commerce ทั้งหมด (2) เศรษฐกิจในจีนที่ชะลอตัวลงจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ ทำให้จีนต้องหันมาเน้นภาคการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน

นอกจากนี้ KKP Research ยังระบุเพิ่มเติมว่ามี 4 ปัจจัยในไทยเอง ที่มีส่วนดึงดูดสินค้าจากจีนให้เร่งเข้ามามากกว่าในหลายประเทศ คือ 1) ไทยมีกฎระเบียบที่เอื้อต่อการนำเข้าสินค้าจากจีน เช่น การคิดอัตราภาษีจากสินค้าจีนในระดับต่ำ 2) การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่จีนเป็นผู้นำ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า 3) การเกิดขึ้นของ e-Commerce ในประเทศไทย ซึ่งคนไทยมีความคุ้นเคยและนิยมซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น โดยพิจารณาจากราคาไม่ยึดติดกับแบรนด์ 4) การให้ Free visa กับนักท่องเที่ยวจากจีน ทำให้ไม่มีการตรวจสอบการเข้าออกประเทศอย่างเข้มงวด ทั้งหมดจึงเป็นเหตุทำให้จีนทำการค้าธุรกิจในไทยได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ดี ทาง  KKP ระบุว่า การเข้ามาบุกตลาดของสินค้าจีนมีข้อดีทำให้ซื้อสินค้าในราคาถูกลง แต่ผลกระทบด้านลบมีต่อผู้ประกอบการไทยและเศรษฐกิจไทยภาพรวม ดังนั้นภาครัฐไม่จำเป็นต้องขัดขวางสินค้าจากจีน แต่ควรพิจารณาออกแบบมาตรการรับมือที่เหมาะสม ซึ่งควรใช้ 3 เรื่องนี้เป็นเครื่องมือในการรับมือจีน คือ 1. Fair competition การนำเข้าที่เข้าข่ายผิดกฎหมายหรือใช้ช่องว่างทางกฎหมายต่าง ๆ เพื่อหลบเลี่ยงภาษี ทำให้ไทยเสียผลประโยชน์จากจีน 2. Quality and standards สินค้าและอาหารที่นำเข้าไม่ได้คุณภาพมาตรฐานตามที่ไทยกำหนด และ 3. Strategic industry สินค้านำเข้าที่จะมาแข่งขันการผลิตในไทยในอุตสาหกรรมสำคัญของเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ส่งผลให้มีการขาดดุลจีนมากที่สุด โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่ม smartphone ซึ่งเป็นสินค้าที่สามารถซื้อขายได้ผ่าน e-Commerce Platform ทำให้เห็นว่า e-Commerce มีบทบาทสำคัญเช่นกันในการส่งผ่านสินค้าจากจีนมายังไทยมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้สินค้าที่ขาดดุลกับจีนเป็นสินค้ารถยนต์ที่ประกอบสำเร็จแล้ว โดยในปี 65 ไทยเริ่มขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มในสินค้ารถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนยานยนต์ทุกประเภทเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมอีกด้วย

Back to top button