“รู้ทันเรื่องเล่าการลงทุนบนโลกออนไลน์”

สวัสดีค่ะทุกท่าน ทุกวันนี้บนโลกออนไลน์มีข้อมูล เรื่องราว ข่าวสารต่าง ๆ ไหลผ่านสายตาของเราเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน


รู้ทันเรื่องเล่าการลงทุนบนโลกออนไลน์

สวัสดีค่ะทุกท่าน ทุกวันนี้บนโลกออนไลน์มีข้อมูล เรื่องราว ข่าวสารต่าง ๆ ไหลผ่านสายตาของเราเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็น อาหารการกิน ไลฟ์สไตล์ ท่องเที่ยว และ “การลงทุน”

Finfluencer คือ บุคคลหรือกลุ่มคนที่มีบทบาทและมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในด้านการเงินการลงทุน โดยคำว่า Finfluencer มาจาก Finance ผสมกับ Influencer ส่วนใหญ่ Finfluencer มักเป็นบุคคลที่มีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการเงิน การลงทุน และใช้ช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ให้คำแนะนำ แบ่งปันข้อมูล หรือแสดงความเห็นเรื่องตลาดทุนกับผู้ติดตามของพวกเขา เสน่ห์ของ Finfluencer ที่ทำให้กลายเป็นที่นิยมมาจากหลายปัจจัย เช่น ผู้ติดตามสามารถเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็วและสะดวก การสื่อสารที่ใช้ภาษาเป็นกันเอง ไม่เป็นทางการ ทำให้ประเด็นการเงินที่ดูซับซ้อนกลายเป็นเรื่องเข้าใจง่ายขึ้น รวมถึง Finfluencer มักนำเสนอเรื่องราวส่วนตัวหรือแชร์ประสบการณ์จริง ทำให้ผู้ติดตามรู้สึกว่าเรื่องการเงินเป็นสิ่งที่จับต้องได้และใกล้ตัวมากขึ้น

ถามว่า ก.ล.ต. มีเกณฑ์การอนุญาตสำหรับ Finfluencer หรือไม่? “ก็ต้องตอบว่า ไม่มีเป็นการเฉพาะ” แต่หาก Finfluencer ใด มีการวิเคราะห์การลงทุน แนะนำการลงทุน หรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการวางแผนการลงทุน ไม่ว่ามีการแนะนำหรือประเมินมูลค่าหุ้นเป็นรายตัว บอกจังหวะการซื้อขาย/การลงทุนผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน หรือคาดการณ์ราคาในอนาคต รวมถึงอาจมีการรับสมาชิกและเรียกเก็บรายได้ หรือค่าธรรมเนียม หรือค่าตอบแทนจากการให้คำแนะนำ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่งไม่เพียงเฉพาะแต่ Finfluencer เท่านั้น แต่รวมถึงใครก็ตามที่ทำในลักษณะนี้ ก.ล.ต. จะมีมาตรการดูแลในหลายระดับตั้งแต่การแนะนำเตือนไปจนถึงดำเนินการสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด เพราะถือว่าการให้คำแนะนำในลักษณะที่กล่าวมา อาจต้องได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. ก่อน จึงจะสามารถให้บริการได้

แล้วขอบเขตของ Finfluencer ทำได้แค่ไหนล่ะ? ยกตัวอย่าง Finfluencer ที่ให้คำแนะนำการลงทุน หรือแลกเปลี่ยนความรู้หรือประสบการณ์ผ่านเว็บไซต์ กระดานสนทนา (Community web board) หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นใด แบบนี้ทำได้ ถ้าไม่ได้มีลักษณะของการแนะนำการลงทุนตามที่กล่าวข้างต้น

ทุกวันนี้ Finfluencer มีหลากหลาย หน้าใหม่ก็เยอะ ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงต้องพิจารณาข้อมูลที่ได้รับอย่างระมัดระวังและรอบคอบ เช่น ความถูกต้องของข้อมูล เพราะ Finfluencer บางคนหรือบางกลุ่ม อาจไม่มีความรู้หรือประสบการณ์ที่เพียงพอ ข้อมูลที่นำเสนอก็อาจไม่ตรงกับข้อเท็จจริง หรือมีการรับประกันผลตอบแทน หรือให้ความคาดหวังในการแนะนำการลงทุนที่เกินความเป็นจริง ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงแก่ผู้ลงทุนหรือผู้ที่ติดตามข้อมูล ข่าวสาร หรือคำแนะนำของเหล่า Finfluencer ดังกล่าวได้

นอกจากนี้ อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนจากการแนะนำผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงิน ที่ร้ายไปกว่านั้น Finfluencer บางคนหรือบางกลุ่ม อาจไม่ใช่ผู้ที่มีความรู้ทางการเงิน แต่สร้างภาพลักษณ์หรู ดูดี พูดจาน่าเชื่อถือ พร้อมอ้างว่าตัวเองมีประสบการณ์ในตลาดทุน แต่สุดท้ายก็กลายร่างเป็นมิจฉาชีพมาหลอกลงทุน สร้างความเสียหายแก่ผู้หลงเชื่อ

ความเสี่ยงจากการลงทุนเป็นสิ่งที่ผู้ลงทุนไม่อยากเจอ การเลือกรับข้อมูลจากผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ที่ผู้ลงทุนเปิดบัญชีซื้อขาย หรือกับบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้สังกัดของผู้ประกอบธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นนักวิเคราะห์การลงทุน ผู้แนะนำการลงทุน หรือผู้วางแผนการลงทุน ซึ่งได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. ก็เป็นหนึ่งในทางเลือกที่ดี เพราะผู้ลงทุนมั่นใจได้ว่าจะได้รับคำแนะนำจากผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญจริง ๆ และถ้าอยากเช็กให้แน่ใจว่า ผู้ประกอบธุรกิจหรือบุคคลที่เราขอรับบริการนั้น เป็นตัวจริงหรือมิจฉาชีพ ก็ตรวจสอบได้ด้วยตัวเองที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. www.sec.or.th หรือแอปพลิเคชัน SEC Check First หรือ “ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและแจ้งเบาะแส” โทร 1207

ก่อนจะลากันไป ก็อยากจะย้ำอีกครั้งว่า คำแนะนำการลงทุนไม่ว่าจะมาจากกูรูท่านใด หรือแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญตัวจริง ก็ไม่เท่ากับการพิจารณาอย่างรอบด้านของตัวเราเอง รวมทั้งการพิจารณาว่าการลงทุนในแต่ละผลิตภัณฑ์นั้นมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสไตล์ของเราหรือการยอมรับความเสี่ยงได้หรือไม่ เพราะถ้าพลาด! เงินที่ลงทุนไปอาจกลายเป็นฝันร้ายและความสูญเสียครั้งใหญ่

Back to top button