กลุ่ม EA แจงงบ Q2/67 ละเอียดยิบ! หลัง ตลท.คาใจหนี้การค้าพุ่ง

EA ชี้แจงข้อมูลงบไตรมาส 2/67 หลังพบลูกหนี้การค้าพุ่งกระฉูด 6.7 พันล้านบาท โดยบริษัทตั้งสำรองไว้ 133 ล้านบาท และเล็งทบทวนการตั้งสำรองใหม่หากข้อมูลเปลี่ยนแปลงไปจากที่คำนวณ ขณะที่ BYD ยืนยันสภาพคล่องยังแกร่ง แม้ไม่มีดอกเบี้ยรับจาก TSB


นายวสุ กลมเกลี้ยง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เปิดเผยว่า ตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้แจ้งต่อบริษัท ให้ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อมูลในงบการเงินไตรมาสที่ 2 ปี 67 เนื่องจากบริษัทมีลูกหนี้การค้า กิจการที่เกี่ยวข้องกันที่ค้างชำระในจำนวนที่มีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ ลูกหนี้ค้างชำระส่วนใหญ่เป็นการขายรถให้ บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX ซึ่งได้ยกเลิกการเพิ่มทุน โดยอาจกระทบต่อการบันทึกค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน และสภาพคล่องของบริษัทฯ อย่างมีนัยสำคัญ

ในการนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งพิเศษที่ 6/67 ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 20 ก.ย.67 ได้พิจารณา ในประเด็นข้อสอบถามดังกล่าวของตลาดหลักทรัพย์ฯ และมีความเห็นในประเด็นต่างๆ ดังนี้

1.ความเพียงพอที่บริษัทบันทึกค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ 2% ของยอดหนี้ค้างชำระ จากข้อมูลตามงบการเงินไตรมาสที่ 2 ปี 67 บริษัทฯ มีลูกหนี้กิจการที่เกี่ยวข้องกันเพิ่มขึ้น จากปี 66 จำนวน 5,526 ล้านบาท เป็น 6,794 ล้านบาท และได้มีการบันทึกค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ หรือค่าเผื่อด้อยค่าที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวนประมาณ 133 ล้านบาท

ในการพิจารณาตั้งประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสำหรับลูกหนี้กิจการที่เกี่ยวข้องกัน บริษัทฯ ได้ใช้วิธีการพิจารณาอัตราส่วนการผิดนัดชำระหนี้ (Default Rate) แยกตามการจัดชั้นอายุของลูกหนี้โดยผู้บริหารได้พิจารณาโดยใช้สมมติฐานและข้อมูลที่ดีที่สุดที่มีอยู่ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 ภายใต้สมมติฐานว่าลูกหนี้ บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด(มหาชน) (NEX) ยังมีความสามารถในการชำระหนี้จากกระแสเงินสดรับชำระจากลูกหนี้ของ NEX เอง

โดยพิจารณาจากแผนการส่งมอบสินค้าและแผนการเก็บเงินจากลูกหนี้การค้าของ NEX และจากแผนการเพิ่มทุนของ NEX ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาและยังไม่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการของ NEX ณ ช่วงเวลาที่บริษัทฯ มีการพิจารณาค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญด้วยเหตุดังกล่าว คณะกรรมการได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการตั้งประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสำหรับลูกหนี้กิจการที่เกี่ยวข้องกัน เป็นวิธีการที่เหมาะสมและเพียงพอตามมาตรฐานรายงานทางการเงินที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตามบริษัทฯ จะมีการทบทวนประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญหากมีข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนแปลงไปจากสมมติฐานที่เคยได้ประมาณการไว้

2.นโยบายและมาตรการติดตามลูกหนี้การค้าที่ค้างชำระ ผลกระทบต่อฐานะการเงิน สภาพคล่องและการดำเนินธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าของ AAB และ EA

บริษัทฯ ได้มีการติดตามหนี้ลูกหนี้การค้าที่ค้างชำระรวมทั้งได้มีการพิจารณาประเมินความสามารถในการชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้มีการส่งจดหมายติดตามการชำระหนี้ เพื่อนำกระแสเงินสดมาใช้ในการดำเนินงานของบริษัทฯ

ทั้ง ผลกระทบของลูกหนี้ค้างชำระของบริษัทที่เกี่ยวข้องกันดังกล่าว ได้รายงานในงบการเงินของบริษัทฯ ซึ่งได้รับการตรวจทานจากผู้สอบบัญชีของบริษัทฯ เรียบร้อยแล้ว โดยบริษัทฯ ได้ชำระค่าวัตถุดิบรวมทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทฯ เรียบร้อยแล้ว

3.รูปแบบในการดำเนินธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าของ EA ในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันที่ขายผ่าน NEX ตามรูปข้างต้นหรือไม่ อย่างไร รูปแบบดังกล่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์สุงสุดของบริษัทอย่างไร

ปัจจุบัน รูปแบบการดำเนินธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าของบริษัทฯ ยังเป็นรูปแบบการขายผ่าน NEX ตามเดิม กล่าวคือ บริษัทฯ ยังมุ่งให้บริษัท แอ๊บโซลูท แอสเซมบลี จำกัด (AAB)  ซึ่งเป็นบริษัทย่อยทางอ้อมของบริษัทฯ ที่ประกอบธุรกิจโรงงานผลิตและประกอบยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อจำหน่ายให้กับ NEX โดยที่ NEX เป็นผู้จัดจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งให้บริการหลังการขายกับกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ (เช่น องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.), บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ผู้ประกอบการ Shopping Center) และกลุ่มลูกค้าขนาดกลาง (เช่น รถบัสส่งพนักงานตามนิคมอุตสาหกรรมรถรับส่งนักเรียน) ซึ่ง NEX มีความรู้ความเชี่ยวชาญในธุรกิจยานยนต์เชิงพาณิชย์ในประเทศไทย

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทได้พิจารณาแล้วและเห็นว่า รูปแบบการดำเนินธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าของบริษัทฯดังกล่าวยังเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ และกลุ่มบริษัทฯ เนื่องจากการดำเนินธุรกิจดังกล่าวมีผสมผสานความรู้และจุดแข็งที่แต่ละฝ่ายมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นการเสริมธุรกิจร่วมกัน ทั้งในด้านเทคโนโลยี การตลาด การขาย และบริการหลังการขายที่ครบวงจร

อนึ่ง การเข้าทำธุรกรรมระหว่างกันนั้น เป็นไปตามข้อตกลงทางการค้า และเงื่อนไขการค้าทั่วไป โดยฝ่ายจัดการได้ดำเนินการจัดทำสรุปรายการที่เกิดขึ้น และรายงานให้คณะกรรมการตรวจสอบและคณะกรรมการของบริษัทรับทราบ และให้ความเห็นเป็นประจำในทุกไตรมาส ทั้งนี้ ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนแปลงกำหนดเงื่อนไขการชำระเงินระหว่าง AAB และ NEX

4.นโยบายการดำเนินธุรกิจและผลประกอบการของ บริษัท เปย์ป๊อป จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย 100% และมาตรการติดตามการดำเนินธุรกิจของบริษัทย่อย

ปัจจุบัน บริษัทฯ ถือหุ้นทางอ้อมในบริษัท เปย์ป๊อป จำกัด (POP) ในสัดส่วนร้อยละ 99.99 ผ่านบริษัท อีเอ โมบิลิตี โฮลดิง จำกัด โดย POP มีนโยบายการดำเนินธุรกิจหลักเกี่ยวกับการให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อยานยนต์ไฟฟ้า ทั้ง Financing lease และ Operating lease โดยมีการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยและค่าบริการเช่าสำหรับการทำสัญญาเป็นไป ตามอัตราตลาดโดยพิจารณาจากความเสี่ยงของลูกหนี้ซึ่งผลประกอบการ 2 ปีย้อนหลังของ POP มีผลการดำเนินงานดังนี้

– ปี 66 มีกำไรสุทธิ 96.64 ล้านบาท และปี 65 มีกำไรสุทธิ 19.73 ล้านบาท

สำหรับมาตรการการติดตามหนี้ของลูกหนี้สัญญาเช่า บริษัทฯ มีกระบวนการควบคุมและติดตามการให้สินเชื่อเช่าซื้ออย่างต่อเนื่อง โดยตรวจสอบและพิจารณาความสามารถในการชำระของลูกหนี้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าสถานะการชำระหนี้อยู่ในเกณฑ์ที่เป็นไปตามข้อตกลง ทั้งนี้ลูกหนี้ตามสัญญาเช่ามีการชำระค่าเช่าให้แก่ POP ตรงตามระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่า

 

ขณะเดียวกัน นายชัยพัชร์ นาคมณฑนาคุ้ม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BYD ชี้แจงเกี่ยวกับงบการเงินไตรมาส 2/67 ว่า จากข้อมูลในงบการเงินไตรมาสที่ 2/67 บริษัทฯ มีผลการดำเนินงวด 6 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.67 ขาดทุน 0.02 ล้านบาท และมีกระแสเงินสดสุทธิใช้ไปในกิจกรรมดำเนินงาน 383.75 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากสินทรัพย์ดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของธุรกิจหลักทรัพย์ได้แก่ ลูกหนี้สำนักหักบัญชีและบริษัทหลักทรัพย์ 210.33 ล้านบาท และลูกหนี้ธุรกิจหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า จากธุรกิจหลักทรัพย์และการให้สินเชื่อ Margin จำนวน 343.47 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามปกติของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์รายอื่นๆ ทั่วไป โดยการที่บริษัทฯ นำเงินไปลงทุนในลูกหนี้ธุรกิจหลักทรัพย์ดังกล่าวนั้น บริษัทฯ จะได้รับผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมจากสินเชื่อ Margin ค่านายหน้า และค่าธรรมเนียมต่างๆ

นอกจากนี้ หากพิจารณาสภาพคล่องของบริษัทฯ ตามเกณฑ์ของทางการ จะพบว่า ณ วันที่ 17 ก.ย.67 บริษัทฯ ยังมีสินทรัพย์สภาพคล่อง (NC) จำนวน 1,470.8 ล้านบาท และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องสุทธิ (NCR) 312.4% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ทางการกำหนดไว้ที่ 7% แสดงได้ว่าการไม่มีกระแสเงินสดจากดอกเบี้ยรับจาก TSB ไม่ได้มีผลกระทบต่อฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน และสภาพคล่องของบริษัทแต่อย่างใด

Back to top button