นับถอยหลัง….กฎหมาย “EUDR” ทาง(ไม่)รอดบริษัทส่งออกไทย?

 นับถอยหลัง....กฎหมาย “EUDR” ทาง(ไม่)รอดบริษัทส่งออกไทย?


กฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า หรือที่เรารู้จักกันในชื่อย่อ EUDR และในช่วงที่ผ่านมาคำว่า EUDR อาจคุ้นหูคุ้นตาของใครหลาย โดยเฉพาะแวดวงธุรกิจ “ยางพารา” ที่เริ่มมีการเรียกหาสินค้าที่ผ่านมาตรการ EUDR ที่ส่งไปขายยังประเทศในทวีปยุโรป

คำถามที่ตามมา EUDR คืออะไร ซึ่งคำว่า EUDR มาจากคำว่า EU Regulation on Deforestation-Free Products ซึ่งเป็นกฎหมายที่สหภาพยุโรป หรือ EU ร่างขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังกลายเป็นปัญหาสำคัญของคนทั้งโลก โดยเฉพาะป่าไม้ที่ช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการดูดซับก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อน

สหภาพยุโรป จึงจัดทำกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า หรือ EUDR เพื่อผลักดันให้เกิดการอุปโภคและบริโภคสินค้าที่มาจากกระบวนการผลิตที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่าเท่านั้น หวังขจัดการตัดไม้ทำลายป่าของผู้ผลิตนั่นเอง กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้การส่งออกและนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) 7 กลุ่มของสหภาพยุโรป ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน วัว ไม้ กาแฟ โกโก้ และถั่วเหลือง

รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสินค้าเหล่านี้ (Derived products) อาทิ ยางรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ กระดาษ เครื่องหนังสัตว์ ต้องตรวจสอบและรายงานที่มาของสินค้าเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าหรือการทำให้ป่าเสื่อมโทรม ซึ่งจะมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบในวันที่ 30 ธ.ค.67

แต่ในปี 2567 มีสินค้าหลายชนิดที่เริ่มนำกฎหมาย EUDR โดยเฉพาะสินค้าที่ส่งออกจากประเทศไทย โดย “นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์” ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุว่า จากการติดตามสถานการณ์การส่งออกสินค้าภายใต้มาตรการ EUDR พบว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 67 มูลค่าการส่งออกมีการขยายตัวดี และยังสามารถขยายตัวได้สูงกว่าการส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งช่วงครึ่งปีแรกเดือน ม.ค.-มิ.ย.ปี 67 ไทยส่งออกสินค้าที่อยู่ภายใต้มาตรการ EUDR ไปอียู รวมมูลค่า 379.47 ล้านเหรียญสหรัฐ

หากประเมิน 7 จำพวกกลุ่มสินค้าที่อยู่ภายใต้มาตรการ EUDR พบว่าหลายบริษัทจดทะเบียนในตลาดทุนไทย ต้องปรับตัวเพื่อรับเทรนด์การเปลี่ยนแปลง นั้นหมายความว่าใครที่เปลี่ยนแปลงการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานของ EUDR ก็จะเป็นโอกาสการส่งสินค้าไปขายยัง EU ได้มากขึ้น รวมไปวัตถุดิบที่ใช้ผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐาน EUDR ก็จะถูกเรียกใช้จะผู้ผลิตสินค้าได้มากขึ้นเช่นกัน

จากข้อมูลของ สนค. พบว่าสินค้า “กลุ่มยางพารา” ได้รับความนิยมมากที่สุด พบยอดส่งออกไปยัง EU ขยายตัวถึง 51.67% ขณะที่การส่งออกยางพาราไปต่างประเทศขยายตัว 30.86% อาจจะเห็นความชัดเจนที่จะเพิ่มยอดขายยางพาราเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังมีบางกลุ่มที่ต้องปรับตัวผ่านมาตรฐาน EUDR โดยบริษัทที่มองว่าได้รับประโยชน์ คือ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA, บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT, บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER ,บริษัท ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TEGH, บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TRUBB

ตามมาด้วย “กลุ่มไม้” หรือการทำเฟอร์นิเจอร์ สินค้าตกแต่งบ้าน ของใช้ในบ้าน พบยอดส่งออกไปยัง EU ขยายตัวถึง 24.71% ขณะที่การส่งออกไม้ไปต่างประเทศขยายตัว 5.48% โดยบริษัทที่มองว่าได้รับผลประโยชน์ คือ บริษัท โมเดอร์นฟอร์มกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MODERN, บริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ ILM, บริษัท ชิค รีพับบลิค จำกัด (มหาชน) หรือ CHIC, บริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) หรือ ECF

“กลุ่มปาล์มน้ำมัน” พบว่ามูลค่าการส่งออกไปอียูขยายตัว 488.80% ขณะที่การไปต่างประเทศหดตัว 20.15% โดยบริษัทที่มองว่าได้รับผลประโยชน์ คือ บริษัท น้ำมันพืชไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TVO, บริษัท ยูนิวานิชน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) หรือ UVAN, บริษัท ชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) หรือ CPI, บริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) หรือ UPOIC, บริษัท วิจิตรภัณฑ์ปาล์มออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ VPO, บริษัท ล่ำสูง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ LST, บริษัท เอไอ เอนเนอร์จี จำกัด (มหาชน) หรือ AIE, บริษัท เอเชียนน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) หรือ APO, บริษัท เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PCE

 กลุ่มผลิตและจำหน่ายน้ำมัน “ถั่วเหลือง” พบมูลค่าการส่งออกของ อยู่ที่ 0.001 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 44.37% โดยบริษัทที่มองว่าได้รับผลประโยชน์ คือบริษัท อกริเพียว โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ APURE, บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) หรือ SUN, บริษัท น้ำมันพืชไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TVO 

แม้ว่าปัจจุบันการส่งออกกลุ่มสินค้าที่อยู่ภายใต้กฎหมาย EUDR ยังมีสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบกับการส่งออกจากไทยไปต่างประเทศ แต่การขยายตัวที่ดีแสดงให้เห็นถึงโอกาสและศักยภาพของไทย ที่จะสามารถปรับตัวและส่งออกสินค้าภายใต้ EUDR ไปยังอียูได้มากขึ้นในอนาคต

โดยผู้ประกอบการไทยอาจต้องเผชิญกับต้นทุนในการตรวจสอบย้อนกลับห่วงโซ่การผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต จึงจำเป็นต้องวางแผนปรับตัวและเตรียมการให้พร้อม เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ราบรื่น จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับไทยที่จะพัฒนาคุณภาพสินค้า และสร้างความยั่งยืนในการทำธุรกิจด้วย

Back to top button