สะพัด! “หมอบุญ” ก่อหนี้ท่วม 7 พันล้าน จมลงทุน “จิณณ์เวลบีอิ้ง”
สะพัด! “นพ.บุญ วนาสิน” (หมอบุญ) ก่อหนี้ท่วม 7,000 ล้านบาท เหตุขนเงินลงทุน “จิณณ์ เวลบีอิ้ง-รีโนเวตรพ.ธนบุรี บำรุงเมือง” มูลค่ากว่า 8,400 ล้านบาท ประสบปัญหาขาดทุนจำนวนมาก ส่งผลให้ต้องนำหุ้น THG และทรัพย์สินส่วนตัวไปค้ำประกันกู้เงินมาหมุน ขณะที่ “กลุ่มรพ.รามคำแหง (RAM)” ประกาศตัดความสัมพันธ์ “หมอบุญ” จี้ THG ไล่ทวงคืนทรัพย์สินที่หายไป
แหล่งข่าววงการการเงิน เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ถึงกรณีคณะกรรมการตรวจสอบ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบความผิดปกติการทำรายการ 2 บริษัทย่อย คือ บริษัท โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง จำกัด (THB) ซึ่ง THG ถือหุ้น 83.03% และบริษัท ที เอช เฮลท์ จำกัด (THH) ซึ่ง THG ถือหุ้น 51.22% ซึ่งทั้ง 2 บริษัทดังกล่าวให้กู้ยืมเงินแก่บริษัท ราชธานีพัฒนาการ (2014) จำกัด (RTD) เป็นบริษัทที่กลุ่มครอบครัววนาสินเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ช่วงเดือนธันวาคมปี 2565-2566 รวมเป็นเงิน 145 ล้านบาท
และ THB ให้กู้ยืมเงินแก่บริษัท ไทย เมดิเคิล กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ RTD เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ในปี 2566 รวมทั้งสิ้น 10 ล้านบาท และ THH สั่งซื้อสินค้าจากบริษัทซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นในประเทศสิงคโปร์ แต่ไม่ได้มีการรับมอบสินค้าจริงในปี 2566 รวมเป็นเงิน 55 ล้านบาท ว่า นายแพทย์บุญ วนาสิน (หมอบุญ) อดีตประธานกรรมการ และในฐานะผู้ก่อตั้ง THG ปัจจุบันมีหนี้สินส่วนตัวและหนี้สินเกี่ยวพันกับ THG ตอนสมัยนั่งบอร์ดบริหารงานทั้งในระบบและนอกระบบ รวมกันสูงกว่า 7,000 ล้านบาท
สำหรับหนี้สินดังกล่าวเป็นจำนวนหนี้ที่ค่อนข้างสูง และมีอัตราดอกเบี้ยจ่ายต่อปีที่สูงตามไปด้วย ทำให้ “หมอบุญ” เกิดการหมุนเงินส่วนตัวเพื่อจ่ายหนี้ไม่ทัน ซึ่งจากที่ทราบมาจากบุคคลใกล้ชิดของ “หมอบุญ” ช่วงที่ผ่านมาได้มีการเอาที่ดินและทรัพย์สินส่วนตัวที่มีเกือบทั้งหมดไปจำนอง เพื่อกู้เงินออกมาจำนวนมาก (ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่ามีสินทรัพย์ THG หรือ โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง รวมอยู่ด้วยหรือไม่)
ดังนั้น เมื่อหลายโครงการดำเนินการอยู่สมัยที่ “หมอบุญ” นั่งบริหารสะดุด และการดำเนินงานไปได้ไม่ดีนัก และเงินส่วนตัวเริ่มหมุนไม่ทัน ทำให้ “หมอบุญ” เริ่มหาวิธีดึงเงินออกจาก THG เพื่อนำมาหมุนเวียนการชำระหนี้ ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดคือการคิดโปรเจกต์ใหม่ ๆ ขึ้นมา และบวกตัวเลขค่าใช้จ่ายเพิ่มเข้าไปให้สูงกว่าเดิม ซึ่งบอร์ดบริหารของ THG ในชุดปัจจุบันต้องเข้าไปตรวจสอบว่าขณะนี้มีโครงการไหนที่ผิดปกติอีกหรือไม่
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา “หมอบุญ” มีการนำเงินส่วนตัวและในนาม THG ไปลงทุนในหลายโครงการ เช่น 1)โครงการโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง มูลค่ามากกว่า 4,000 ล้านบาท (THG ถือหุ้นอยู่ 83.03%) ซึ่งจากการพัฒนาโรงพยาบาลหลายแห่งของเครือโรงพยาบาลต่าง ๆ แล้ว ถือว่าการลงทุนโรงพยาบาลบำรุงเมืองใช้งบลงทุนที่สูงจนเกินไป โดยช่วงที่มีการปรับปรุง (รีโนเวต) มีรายการค่าใช้จ่ายสูงถึง 2,500 ล้านบาท ถือว่าผิดปกติมาก และที่สำคัญนับตั้งแต่เปิดให้บริการมาจนถึงปัจจุบัน ผลการดำเนินงานมีขาดทุนจำนวนมากมาตลอด บวกกับมาเจอช่วงเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 จนถึงปัจจุบันผู้ป่วยต่างชาติยังไม่แน่ชัดว่าได้กลับมาใช้บริการหรือไม่ รวมทั้งล่าสุดไทยมีประเด็นผู้ป่วยตะวันออกกลางชะลอเข้ามารักษาด้วย
2) โครงการ จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ (ที่อยู่อาศัยหลังวัยเกษียณ) มูลค่าลงทุนกว่า 4,400 ล้านบาท (เฟสแรก) บนพื้นที่ 140 ไร่ ริมถนนพหลโยธิน รังสิต อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ประกอบด้วย คือ 1.Active Living ส่วนที่พักอาศัยอาคาร Lowrise 7 ชั้น จำนวน 13 อาคาร รวม 1,300 ยูนิต 2.Aged Care Center อาคารสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ และ 3.Clubhouse & Wellness Center ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน อาทิ สปา ฟิตเนส สระว่ายน้ำ และบริการเพื่อสุขภาพ เพื่อให้บริการทางการแพทย์เพื่อป้องกัน รักษา และฟื้นฟูด้วยทีมบุคลากรทางการแพทย์
สำหรับโครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ “หมอบุญ” นำเงินไปลงทุนค่อนข้างมากและโครงการมีผลขาดทุนสูง เนื่องจากยอดขายห้องชุดในโครงการมียอดขายไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นทั้งลูกค้าชาวไทยและชาวต่างชาติ เนื่องจากโครงการทยอยสร้างเป็นเฟส ยังไม่เห็นรูปร่างชัดเจน และช่วงที่เริ่มเปิดให้บริการยังเจอการระบาดโควิด-19 รวมถึงปัจจุบันมีผู้เล่นเครือโรงพยาบาลหลายรายที่ได้พัฒนาที่อยู่อาศัยหลังวัยเกษียณ หรือสำหรับผู้สูงอายุน่าดึงดูดกว่า เป็นต้น
นอกจากนี้ “หมอบุญ” ยังมีปัญหากรณี “เช็คเด้ง” ด้วย และมีเรื่องการนำหุ้นไปจดจำนอง โดยก่อนหน้านี้ “หมอบุญ” ใช้ชื่อตัวเองในการถือหุ้น THG แต่ภายหลังได้ถูกเปลี่ยนมาใช้ชื่อภรรยาและถือในนามลูกสะใภ้ ซึ่งปัจจุบันมีการหย่าร้างกับลูกชายหมอบุญได้ 4-5 เดือน ซึ่งทราบมาว่าที่ผ่านมามีคดีฟ้องร้องส่งมาบ้านจำนวนมาก เพื่อขอยึดหุ้น THG ที่เอาไปเป็นหลักประกันกู้ยืมเงินไว้ โดยอดีตลูกสะใภ้ไม่ทราบเรื่องการทำรายการดังกล่าว และไม่ได้เป็นคนเซ็นชื่อในสัญญา เบื้องต้นอดีตลูกสะใภ้แจ้งความที่สถานีตำรวจไว้แล้ว
ด้านแหล่งข่าววงการแพทย์ เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า กรณีที่ THG ได้พบความผิดปกติการทำรายการ 2 บริษัทย่อย (เชื่อมโยงครอบครัววนาสิน) กรณีการกู้ยืมเงินภายในและสั่งสินค้าแต่ไม่มีการรับมอบสินค้าจริง พร้อมยอดหนี้คงค้างหลักร้อยล้านบาท ได้แก่ บริษัท โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง จำกัด (THB) ซึ่ง THG ถือหุ้น 83.03% และบริษัท ที เอช เฮลท์ จำกัด (THH) ซึ่ง THG ถือหุ้น 51.22% ซึ่งแต่ละบริษัทมี “กลุ่มครอบครัววนาสิน” เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อยู่นั้น ไม่น่าจะมีแค่เพียง 2 รายการนี้
โดยกรณี THB และ THH ให้กู้ยืมเงินแก่บริษัท ราชธานีพัฒนาการ (2014) จำกัด (RTD) ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ บอร์ดอนุมัติให้ดำเนินการได้อย่างไร และไม่ได้มีการรายงานในงบการเงิน อีกทั้งบอร์ดโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง และบอร์ด THG ในตอนนั้น จะอ้างว่าไม่รู้เรื่องได้อย่างไรในการอนุมัติการทำรายการดังกล่าวว่าจะไม่ได้รับประโยชน์ ทั้งที่รายการดังกล่าวทำร่วมกับบริษัทไม่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือทางการแพทย์ หรือการแพทย์โดยตรง
นอกจากนี้ มีประเด็นที่น่าติดตามต่อไปคือ บอร์ดโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง และบอร์ด THG จะทำอย่างไรบ้าง เพราะปัจจุบันยังไม่มีใครออกมาแสดงความรับผิดชอบ มีเพียงแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าพบรายการอันควรสงสัย และจะดำเนินการอย่างโปร่งใส หากเรื่องใหญ่ขึ้นอาจส่งผลไปยังกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยด้วย
รวมทั้งนายแพทย์ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารในปัจจุบัน ต้องเป็นคนรับผิดชอบ หรือออกมาแสดงความต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้วที่ “หมอบุญ” ไม่ได้มีตำแหน่งใด ๆ ใน THG อาจไม่ได้รับผิดอะไรเลยในทุกเรื่อง หากว่า “หมอบุญ” มีความผิดจริง
“ปัจจุบันต่างคนต่างไม่อยากออกหน้าแล้ว เนื่องจากทุกคนกลัวโดนโยงกันหมด เพราะปล่อยให้คนไม่มีตำแหน่งในบริษัทเข้ามาแทรกในการบริหารงาน ทุกฝ่ายน่าจะไม่ปล่อยให้เรื่องบานปลายไปกว่านี้แล้ว จึงแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ถึงความผิดปกติดังกล่าวออกมา และล่าสุด THG แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ผู้ถือหุ้นติดตามแค่แหล่งข่าวจาก THG เท่านั้น ไม่ต้องฟังตาม “หมอบุญ” ออกมาให้ข้อมูล” แหล่งข่าว กล่าว
นอกจากนี้ ในแง่ความสัมพันธ์ของบริษัท โรงพยาบาลรามคำแหง จำกัด (มหาชน) หรือ RAM ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งของ THG ถือหุ้น 208,378,474 หุ้น หรือคิดเป็น 24.59% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ได้ออกมาประกาศแล้วว่าไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับ “หมอบุญ” อดีตประธานกรรมการ THG ซึ่งต้องติดตามต่อว่ากลุ่ม RAM จะดำเนินการอย่างไรต่อเพื่อเอาผิดกับหมอบุญอย่างไร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลงบการเงิน THG สิ้นสุดไตรมาส 3/2567 ที่ผ่านมา พบว่าเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด อยู่ที่ 824.17 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 13,178 ล้านบาท มีหนี้ระยะยาวที่ครบกำหนดชำระภายใน 1 ปี 1,657 ล้านบาท (หนี้สถาบันการเงิน 1,627 ล้านบาท และหนี้อื่น ๆ 30 ล้านบาท) อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E ratio) อยู่ที่ 1.27 เท่า, อัตราส่วนความสามารถชำระดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.39 เท่า, อัตราส่วนสภาพคล่อง (Current ratio) อยู่ที่ 0.65 เท่า, วงจรเงินสด (cash cycle) อยู่ที่ 99.01 วัน และ THG มีหนี้หุ้นกู้ระยะยาว 2 ชุด รวมทั้งสิ้น 1,700 ล้านบาท โดยครบกำหนด 30 พ.ค. 2570 มูลค่า 700 ล้านบาท และครบกำหนด 30 พ.ค. 2572 มูลค่า 1,000 ล้านบาท
สำหรับบริษัท ราชธานีพัฒนาการ (2014) จำกัด หรือ RTD มีกลุ่มครอบครัววนาสินถือหุ้น 40.80%, บริษัท ไทย เมดิเคิล กรุ๊ป จำกัด มีกลุ่มครอบครัววนาสินและ RTD ถือหุ้น 36.1% และ Scientific Software Solutions ถือเป็นบริษัทกระดาษ (Paper Company) ที่ใช้เพื่อทำธุรกรรมเฉพาะ จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นในประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2566 ที่ตั้งอยู่ที่ 99, Cashew Road, Cashew Heights, #11-04,Singapore 679670
อนึ่ง จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น ยังไม่ได้เป็นการบ่งชี้หรือตัดสินว่า “หมอบุญ วนาสิน” มีความผิดหรือมีส่วนเกี่ยวกับการกระทำผิดใด ๆ จึงต้องรอให้กระบวนการยุติธรรมเป็นผู้พิสูจน์ความจริงกันต่อไป