“พาณิชย์” เปิดยอดตั้งธุรกิจ “อสังหาฯ-ร้านอาหาร” เดือนส.ค. แตะ 7.6 พันราย

กระทรวงพาณิชย์ เผยยอดจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ เดือน ส.ค.67 เติบโต 2.36% แตะ 7,599 ราย ชี้ธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ ร้านอาหารมาแรง คาดสิ้นปี 67 มียอดจัดตั้งสะสม 90,000-98,000 ราย


ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (30 ก.ย. 67) นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยยอดจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในเดือน ส.ค.67 มีจำนวน 7,599 ราย เพิ่มขึ้น 175 ราย หรือ 2.36% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส.ค.66 และมีทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 17,649.67 ล้านบาท ลดลง 7,256.08 ล้านบาท หรือ 29.13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

“เดือนสิงหาคม 66 มีธุรกิจตั้งใหม่จดทะเบียนทุนสูง 4,099.50 ล้านบาท ทำให้ทุนจดทะเบียนเดือนสิงหาคม 67 ลดลงผิดปกติ แต่เมื่อไม่นับรวมธุรกิจที่จดทะเบียนสูงดังกล่าวทุนจดทะเบียนเดือนสิงหาคม 67 จะลงลงเพียงเล็กน้อยอยู่ที่ 3,156.58 ล้านบาท คิดเป็น 15.17%” นางอรมน กล่าว

โดยประเภทธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 538 ราย ทุนจดทะเบียน 1,082.69 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.08%, 2.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 508 ราย ทุนจดทะเบียน 1,745.75 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 6.68% และ 3.ธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร 366 ราย ทุนจดทะเบียน 658.62  ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 4.82% จากจำนวนการจัดตั้งธุรกิจในเดือน ส.ค.67

ขณะที่ การจัดตั้งธุรกิจใหม่สะสมช่วง 8 เดือนแรกปี 67 ระหว่าง (ม.ค.-ส.ค.67) มีจำนวน 61,819 ราย เพิ่มขึ้น 261 ราย คิดเป็น 0.42% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทุนจดทะเบียน 186,432.87 ล้านบาท ลดลง 283,768.58 ล้านบาท คิดเป็น 60.35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากในปี 2566 มีทุนจดทะเบียนสูงสุดในประวัติการณ์จาก 2 ธุรกิจที่ทุนจดทะเบียนเกิน 100,000 ล้านบาท ได้ควบรวมและแปรสภาพ

โดยประเภทธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 4,698 ราย ทุนจดทะเบียน 19,367.73 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.60%, 2.ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 4,674 ราย ทุนจดทะเบียน 10,393.74 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.56% และ 3.ธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร 2,838 ราย ทุนจดทะเบียน 5,810.03 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 4.59% จากจำนวนการจัดตั้งธุรกิจในช่วง 8 เดือนแรก

นางอรมน กล่าวต่อว่า การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจช่วง 8 เดือนแรก มีจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและกระจายตัวเติบโตในธุรกิจทุกประเภท อาทิ ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และยานยนต์ไฟฟ้า, โรงแรมที่พักและการท่องเที่ยว, ธุรกิจด้าน Soft-power เช่น ผลิตสุราพื้นบ้าน, สื่อภาพยนต์, ธุรกิจการดูแลสุขภาพ, ธุรกิจ e-Commerce และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงองค์กร เป็นผลมาจากความเชื่อมั่นในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การส่งออกที่ขยายตัว การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว แต่ยังคงต้องติดตามภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศระยะสั้นได้

ทั้งนี้ คาดการณ์ตัวเลขการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจปี 2567 จะอยู่ที่ 90,000-98,000 ราย ส่วนการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการในเดือน ส.ค.67 มีจำนวน 2,063 ราย เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 56 ราย คิดเป็น 2.79% จากเดือน ส.ค.66 และทุนจดทะเบียน 13,813.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,775.91 ล้านบาท คิดเป็น 96.28% จากเดือน ส.ค.66

โดยเดือนนี้ มีธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนเลิกเกิน 1,000 ล้านบาท คือ ธุรกิจโรงงานผลิตและจำหน่าย ให้เช่าเทปคาสเซ็ทแผ่นเสียง แถบบันทึกเสียงฯ ที่มีทุน จดทะเบียน 4,411.50 ล้านบาท หากไม่รวมธุรกิจรายนี้ทุนจดทะเบียนเลิกประกอบธุรกิจเดือน ส.ค.67 จะลดลงเพียง 2,364.41 ล้านบาท คิดเป็น 33.59%

สำหรับประเภทธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 168 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 467.65 ล้านบาท, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 110 ราย ทุนจดทะเบียน 483.42 ล้านบาท และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 77 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 156.42 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8.14% 5.33% และ 3.73% จากจำนวนการเลิกประกอบธุรกิจในเดือนสิงหาคมตามลำดับ

ขณะที่การจดทะเบียนเลิกสะสม 8 เดือนแรกปี 2567 (ม.ค.-ส.ค.67) มีจำนวน 9,992 ราย ลดลง 979 ราย คิดเป็น 8.92% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทนจดทะเบียนเลิกสะสมอยู่ที่ 99,393.33 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35,222.68 ล้านบาท คิดเป็น 54.89% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ ในเดือน พ.ค.67 มีธุรกิจด้านโทรคมนาคมและการสื่อสาร 1 ราย ทุนจดทะเบียนกว่า 48,209.34 ล้านบาท ได้จดทะเบียนเลิกกิจการ เป็นสาเหตุให้ตัวเลขทุนจดทะเบียนเลิก 8 เดือนแรกสูงกว่าปกติ หากตัดธุรกิจดังกล่าวออกไป ทุนจดทะเบียนเลิกจะอยู่ที่ 51,183.99 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนจำนวนการจดทะเบียนเลิก คิดเป็น 16.16% ของการจัดตั้งธุรกิจใน 8 เดือนแรก ซึ่งสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าจำนวนการจดทะเบียนเลิกใน 8 เดือนแรกของปี 2567 มีสัดส่วนที่น้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีสัดส่วน 17.82% ของการจัดตั้งธุรกิจ

ขณะที่ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 67 ระหว่าง (ม.ค.-ส.ค.67) มีการอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ปี 42 จำนวน 535 ราย แบ่งเป็น การลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจำนวน 143 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือ ความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 392 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 100,062 ล้านบาท

โดยนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ญี่ปุ่น 136 ราย เงินลงทุน 53,176 ล้านบาท, 2.สิงคโปร์ 82 ราย เงินลงทุน 8,438 ล้านบาท และ 3. สหรัฐอเมริกา 76 ราย เงินลงทุน 3,589 ล้านบาท

Back to top button