“อัสสเดช คงสิริ” ผู้จัดการตลท. คนที่ 14 โชว์วิสัยทัศน์ 5 แนวคิด พัฒนาตลาดหุ้นไทย
“อัสสเดช คงสิริ” ผู้จัดการ ตลท. คนที่ 14 เปิดวิสัยทัศน์ 5 แนวคิด ภายใต้แนวคิด “เพื่อส่วนรวมและความเท่าเทียม” เพื่อพัฒนาตลาดทุนไทยให้เติบโตและยั่งยืน
นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ( ตลท. ) เปิดเผยในงาน “Meet the Press” ทำความรู้จักกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 14 ว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างทำแผนเพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งจะประกาศแผนกลยุทธ์ ปี 2568-2570 อย่างเป็นทางการได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี 2567
ทั้งนี้วิสัยทัศน์หลักของการทำงานในฐานะผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ คนใหม่ โดยมีความต้องการทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ โดยจะนำความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของตนเข้ามาพัฒนาตลาดทุนประเทศไทยให้เติบโตและยั่งยืนในอนาคตด้วยวิสัยทัศน์ 5 ประการ ภายใต้แนวคิด “เพื่อส่วนรวมและความเท่าเทียม”
- ความสมดุลเท่าเทียม (Fairness) -สร้างความเท่าเทียมในโอกาสที่ต้องการให้คนทั่วไป นักลงทุนและภาคธุรกิจเข้าถึงการลงทุน
- เข้าถึง ทั่วถึง (Inclusiveness) -สร้างการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพในการกระจายข่าวสารด้านการลงทุนอย่างทั่วถึง
- ตอบโจทย์อนาคต แข่งขันได้ (Re-imagine) -สร้างการแข่งขันธุรกิจและเติบโตภายใต้เศรษฐกิจโลกที่เป็นโลกาภิวัตน์
- รับโอกาสและความท้าทายจากกระแสความยั่งยืน (Sustainability) -สร้าง Option ด้านผลิตภัณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯใหม่ ๆ ตามความเหมาะสมในการต่อยอดการลงทุนในอนาคต
- เสริมความเชื่อมั่นตลาดทุนไทย (Trust & Confidence) เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อพันธมิตรเสริมความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน
ทั้งนี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่สร้างความไม่เชื่อมั่นให้กับตลาดหุ้นไทย มองว่าจะต้องมีการดำเนินการที่รวดเร็วและรัดกุม ซึ่งจะต้องสานต่อความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) อย่างต่อเนื่อง
นายอัสสเดช กล่าวอีกว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมทำงานร่วมกับพันธมิตรทุกภาคส่วนเพื่อส่วนรวมและความเท่าเทียม และส่งเสริมคุณภาพบริษัทจดทะเบียน สร้างความเชื่อมั่น ขับเคลื่อนความยั่งยืน พร้อมดูแลผู้ลงทุน รวมถึงการหาแนวทางการลดความเสี่ยงต่างๆที่มีโอกาสเกิดขึ้นในการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ทั้งนี้ ในเรื่องที่เสริมจากการโอกาสด้านการเข้าถึงตลาดทุนอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือในการลงทุน ซึ่งมองว่าที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯและสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้มีการออกมาตรการกำกับการใช้เครื่องมือต่างๆออกมา เช่น เกณฑ์ uptick rule การควบคุมการ HFT และการใช้ระบบ Auction ในการซื้อขายหุ้น ซึ่งได้ผลที่ดีในระดับหนึ่ง แต่ยังคงต้องติดตามประสิทธิภาพของเกณฑ์ที่ออกมาในระยะต่อไป แต่สิ่งหนึ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯมองว่าเป็นสาเหตุ คือ พฤติกรรมการลงทุน ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของนักลงทุนแต่ละคน ที่มีพฤติกรรมการลงทุนที่แตกต่างกัน
นอกจากนั้น การสื่อสาร และการ Take action ของตลาดหลักทรัพย์ฯที่รวมเร็วถือว่ามีความสำคัญเช่นเดียวกัน ต่อจากนี้การสื่อสารของตลาดหลักทรัพย์ฯ จะต้องมีการสื่อสารที่รวดเร็วมากยิงขึ้น เพื่อให้นักลงทุน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบอย่างรวดเร็ว และรับทราบอย่างเท่าเทียมกัน พร้อมกับนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำให้การสื่อสารของตลาดหลักทรัพย์สามารถสื่อไปถึงผู้ลงทุนได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
ขณะที่การยกระดับคุณภาพของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะหันมาเน้นการสร้างมูลค่าให้กับบริษัทจดทะเบียนมากขึ้น ทั้งการเพิ่มในส่วนของ ROE และ ROA การทำให้ Balance Sheet ของบริษัทจดทะเบียนมีความเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อทำให้บริษัทจดทะเบียนเติบโตได้อย่างยั่งยืน และให้ผลตอบแทนกับผู้ลงทุนที่ดี ซึ่งยอมรับว่ามีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯหลาย ๆ บริษัทที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้ ผ่านการลงทุน และการคิดนอกกรอบ ในการแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ซึ่งทางตลาดหลักทรัพยฯ จะมีการส่งเสริมในเรื่องนี้ รวมถึงการมองหาธุรกิจที่เป็น New Economy เข้ามาในตลาดหลักทรัพย์ฯมากขึ้น เพื่อสร้างความน่าสนใจในการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ส่วนการพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯใหม่ ๆ ที่จะเพิ่มเข้ามา จากที่ผ่านมามีการให้บริการ TFEX, Option, DR และ DRx ต่าง ๆ มองว่ายังมีสินทรัพย์อื่นๆที่นักลงทุนไทยมีความสนใจ เช่น การทำ Option ของทองคำ ซึ่งผู้ลงทุนไทยให้ความสนใจในการลงทุนค่อนข้างมาก ทำให้เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่จะมีการศึกษานำมาพัฒนาในระยะต่อไป รวมถึงการดึงดูดบริษัทจดทะเบียนในภูมิภาคอาเซียนให้เข้ามาระดมทุน และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการระดมทุนของภูมิภาค (Listing Hub) ซึ่งตลาดทุนไทยถือเป็นตลาดทุนที่มีสภาพคล่องสูงที่สุดในภูมิภาค
“สำหรับมุมมองตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ มองว่ามีทิศทางที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับอานิสงส์บวกจากเม็ดเงินของกองทุนวายุภักษ์ที่เข้ามา และในปลายนี้นี้จะมีเม็ดเงินจากกองทุน Thai ESG เข้ามาเสริม อีกทั้งปัจจุบันรัฐบาลมีเสถียรภาพ ทำให้การขับเคลื่อนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และการลงทุนต่าง ๆ ออกมาได้ต่อเนื่อง ช่วยหนุนต่อเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่หนุนต่อตลาดหุ้นไทย แม้ว่าปัจจัยภายนอกจะมีความผันผวน จากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์เข้ามาก็ตาม” นายอัสสเดช กล่าว
สำหรับประวัติ นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
จบการศึกษา : Master of Business Administration, Financial Management Track, Sloan School of Management, Massachusetts Institute of Technology ประเทศสหรัฐอเมริกา และปริญญาตรี Mechanical Engineering, University of Manchester สหราชอาณาจักร
หลักสูตรนักบริหาร : ประกาศนียบัตรหลักสูตร Director Certification Program สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย
ปัจจุบันยังดำรงตำแหน่ง กรรมการ กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน และรองประธานกรรมการ มูลนิธิหมอเสม พริ้งพวงแก้ว
ประสบการณ์การทำงาน
- Lead Partner, Financial Advisory, Deloitte Thailand
- กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด
- Head of Thailand, Bank of America Merrill Lynch
- Vice President, Investment Banking, JP Morgan Thailand
- Financial Management Officer and Insurance Secretary บริษัท ทรานส์ ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) จํากัด (ได้รับมอบหมายจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน))
- Associate, Investment Banking, JP Morgan, Hong Kong
- Project Engineer, PTT Gas Business Unit บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)