“ชัชชาติ” ยันไม่งด “ทัศนศึกษา” สังกัดกทม. สั่งถอดบทเรียน คุ้มเข้มตรวจคุณภาพรถ-คนขับ

“ชัชชาติ” ยันไม่งด "ทัศนศึกษา" โรงเรียนสังกัดกทม.มองพาเด็กไปหาประสบการณ์ประสบการณ์ พร้อมสั่งถอดบทเรียนอุบัติเหตุรถบัสไฟไหม้ คุ้มเข้มตรวจคุณภาพรถ-คนขับ


นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวแสดงความเสียใจต่อกรณีเกิดอุบัติเหตุรถบัสทัศนศึกษาของเด็กนักเรียนจาก จ.อุทัยธานี เกิดเพลิงลุกไหม้ส่งผลให้มีครูและเด็กนักเรียนเสียชีวิต ซึ่งถือเป็นเป็นบทเรียนราคาแพงมาก โดยได้สั่งการให้ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. ที่รับผิดชอบดูแลด้านการศึกษาของ กทม. นำสิ่งที่เกิดขึ้นมาเป็นบทเรียนเพื่อปรับปรุงให้เกิดความมั่นใจในการรับผิดชอบชีวิตเด็ก ๆ ที่มาเรียนโรงเรียนสังกัดกทม.

ส่วนเรื่องการทัศนศึกษาของ กทม. ซึ่งได้รับเงินที่รัฐบาลให้มา 300 บาทต่อหัว ส่วนใหญ่เป็นการทัศนศึกษาในกรุงเทพฯ ไปไกลสุดแค่ดรีมเวิลด์ ถ้าเป็นเด็กเล็กก็มาที่สยาม และส่วนใหญ่ก็จะมีรถตำรวจนำทุกครั้งเพราะว่าเราเดินทางไปจำนวนมาก ฉะนั้น ได้สั่งการให้ทบทวนความเหมาะสมในกรณีเด็กเล็กมาก ๆ เช่น เด็กอนุบาลว่าสรุปแล้วมีความเสี่ยงตรงไหน จะเพิ่มมาตรการความปลอดภัยอย่างไร ทั้งนี้ ยังไม่ได้สั่งการให้หยุด แต่ให้พิจารณาตามความเหมาะสม คิดว่ากิจกรรมทัศนศึกษามีเหตุผลที่เป็นเชิงบวกในการพาเด็กไปหาประสบการณ์ ขณะเดียวกันคงต้องดูเรื่องเชิงลบควบคู่ด้วย

ด้านกิจกรรมลูกเสือเนตรนารี กทม. มีค่ายของเราเองที่ดอนเมืองกับที่ทุ่งครุ ส่วนใหญ่ก็อยู่ในกรุงเทพฯ เป็นหลัก ก็คงให้หลีกเลี่ยงต่างจังหวัดให้มากที่สุด ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าไป เพราะเป็นหน้าที่เราต้องดูแลเด็ก ๆ แทนพ่อแม่ ซึ่งบางครั้งก็มีจุดที่อาจเป็นอันตรายได้

ทั้งนี้ กทม. โดยสำนักการศึกษา ได้พิจารณาเพิ่มความเข้มงวดมาตรการดูแลความปลอดภัยและป้องกันเหตุอันตรายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการจัดกิจกรรมทัศนศึกษานอกโรงเรียนของโรงเรียนสังกัดกทม. รวมถึงประสานสำนักงานเขตและโรงเรียนในสังกัดกทม. ดำเนินการตามมาตรการความปลอดภัยในโรงเรียนสังกัดกทม. เพื่อให้ทุกคนได้รับความปลอดภัยสูงสุดในการจัดกิจกรรมทัศนศึกษาของโรงเรียน

รถบัสของกรุงเทพมหานครจะมี 2 ส่วน คือ รถของเราเอง เช่น สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ซึ่งจะมีรถประมาณ 80 คัน เพื่อจัดนักกีฬาไปแข่งจังหวัดต่าง ๆ ได้สั่งการว่าต้องเข้มงวดเรื่องการตรวจคุณภาพทั้งในแง่ของรถและคนขับ

ส่วนรถที่ออกไปทัศนศึกษาต่าง ๆ ขั้นแรกคือต้องทบทวน TOR ที่จ้าง เพราะเราจ้างคนนอกมา ซึ่งได้สั่งการให้ทบทวนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพราะที่ผ่านมาแต่ละโรงเรียนอาจออก TOR ไม่เหมือนกัน โดยให้พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ อาทิ จะใช้รถแก๊สหรือไม่ การตรวจสอบอุปกรณ์ความปลอดภัย จะใช้รถสองชั้นหรือรถชั้นเดียว เหล่านี้ต้องให้ชัดเจน ซึ่งจะให้มีคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาตรงนี้ให้ละเอียดถี่ถ้วนอีกครั้งหนึ่ง

นอกจากนี้ กทม. ได้กำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยเพื่อส่งเสริมความรู้ ทักษะ และมีการฝึกซ้อมกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ ให้แก่นักเรียนโรงเรียนสังกัดกทม. ครูและบุคลากรทางการศึกษาของกทม. ผู้ปฏิบัติงานในโรงเรียน ตลอดจนผู้ปกครอง โดยส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและสาธิตการใช้เครื่องมือดับเพลิงเมื่อเกิดเหตุอัคคีภัย มีการซักซ้อม อบรม ชี้แจง เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ทุกภาคเรียน หรืออย่างน้อย 6 เดือนต่อครั้ง 

ทั้งนี้ โดยเฉพาะ “เส้นทาง” ในการออกจากพื้นที่เกิดเหตุ และจัดทำลูกศรชี้ทิศทางการอพยพเคลื่อนย้ายเด็กนักเรียน กรณีนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกทม. เดินทางร่วมกิจกรรมนอกโรงเรียน การทัศนศึกษา ให้มีการตรวจสอบความพร้อมของยานพาหนะ ประตูรถทางออกฉุกเฉิน อุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้นประจำรถ ครูผู้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมดูแลนักเรียน พนักงานขับรถ ให้มีช่องทางการรายงานแจ้งให้ทราบว่าเดินทางถึงจุดไหนเป็นระยะ มีหมายเลขโทรศัพท์เพื่อติดต่อสื่อสารกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกรณีมีการประสานขอความช่วยเหลือกรณีเหตุฉุกเฉินหรือเกิดอุบัติเหตุเพื่อดูแลนักเรียนให้ได้รับความปลอดภัยตลอดเวลาที่อยู่ระหว่างการเดินทาง

“ในภาพรวมคือ กทม. เน้นเรื่องการตรวจมาตรฐานความปลอดภัยของรถ โดยเฉพาะรถของเราเองที่มีอยู่ ต้องทำให้มั่นใจ รถจะต้องผ่านการตรวจทั้งโดยกองโรงงานช่างกล ของ กทม. และโดยกรมการขนส่งทางบก ซึ่งกองโรงงานช่างกลจะต้องตรวจให้ดีกว่ามาตรฐานข้างนอกเสียก่อน ส่วนการตรวจของข้างนอกก็ให้เป็นไปตามกฎหมายที่จะต้องมีการนำรถไปตรวจประจำอยู่แล้ว”

Back to top button