“พิชัย” ร่วมเวที “ACD” กาตาร์ โชว์วิสัยทัศน์ AI ยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัล

พิชัย นริพทะพันธุ์ ร่วมเวที “ACD” ในงาน Business Forum กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ พร้อมโชว์วิสัยทัศน์นำ AI ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ดึงนักลงทุน เผยแพร่วัฒนธรรมและสร้างรายได้ให้ประเทศไทย


ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (4 ต.ค.67) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ตอบรับคำเชิญจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมกาตาร์ (H.E. Shiekh Mohammed bin Hamad bin Qassim Al Thani) เพื่อเข้าร่วมกล่าวถ้อยแถลงและวิสัยทัศน์ของประเทศไทยในหัวข้อ “ปัญญาประดิษฐ์และโมเดลธุรกิจสมัยใหม่ (Artificial Intelligence and New Business Models)”

โดยจัดภานใต้ภายในงาน Business Forum ภายใต้การประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ 3 (3rd Asia Cooperation Dialogue Summit : ACD ) และกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกับผู้แทนระดับสูงจากประเทศต่าง ๆ อาทิ กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อินเดีย โอมาน เนปาล ทาจิกิสถาน คาซัคสถาน และเมียนมา ซึ่งจัดขึ้นที่ กรุงโดฮา รัฐกาตาร์

ทั้งนี้ ได้แบ่งปันประสบการณ์ของไทยในการดำเนินการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมดิจิทัลในส่วนของภาครัฐปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและนโยบายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล อาทิ การจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม การจัดทำแผนปฏิบัติการด้าน AI เพื่อการพัฒนาประเทศไทย การดึงดูดการลงทุนด้านนวัตกรรม และการวิจัยและพัฒนาในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก

“ประเทศไทยอยู่ระหว่างดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมดิจิทัล โดยรัฐบาลไทยได้มุ่งเน้นการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและนโยบายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล อาทิ การจัดทำแผนปฏิบัติการด้าน AI และการดึงดูดการลงทุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ก็ได้นำเทคโนโลยี AI มาใช้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน เช่น การขึ้นทะเบียนเครื่องหมายการค้าและสิทธิบัตร การตรวจสอบทะเบียนนิติบุคคล และการให้บริการส่งออกสำหรับสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐาน หรือ CS Connect เป็นต้น”  นายพิชัยกล่าว

นอกจากนี้ เน้นย้ำถึงความสำคัญของ AI ในการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริม “Soft Power” ซึ่งมีเป้าประสงค์ในการเผยแพร่วัฒนธรรมและสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย ผ่านอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ อาทิ การท่องเที่ยว อาหาร และกีฬา โดยไทยในฐานะประเทศผู้ก่อตั้งและประธาน ACD ปี 68 พร้อมให้ความร่วมมือกับประเทศสมาชิกเพื่อผลักดันและยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในทวีปเอเชียในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและ AI เพื่อสังคมเอเชียที่รุ่งเรืองและยั่งยืนต่อไป

สำหรับความร่วมมือเอเชียเป็นเวทีหารือระดับนโยบาย ความร่วมมือในทวีปเอเชีย ก่อตั้งเมื่อปี 2545 โดยการริเริ่มของไทย ขณะที่ถือเป็นเวทีความร่วมมือระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย ปัจจุบันมีสมาชิก 35 ประเทศ ได้แก่ บาห์เรน, บังกลาเทศ, บรูไนดารุสซาลาม, กัมพูชา, จีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ลาว, มาเลเซีย, เมียนมา, ปากีสถาน, ฟิลิปปินส์, กาตาร์, สิงคโปร์, ไทย, เวียดนาม, คาซัคสถาน, ภูฏาน, รัสเซีย, คูเวต, อิหร่าน, ซาอุดีอาระเบีย, โอมาน, มองโกเลีย, ศรีลังกา, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, อัฟกานิสถาน, สาธารณรัฐคีร์กีซ, เนปาล, ทาจิกิสถาน, ตุรกี, อุซเบกิสถาน และปาเลสไตน์

Back to top button