“เอเซีย พลัส” คัด 10 หุ้นหลบภัย “สงครามตะวันออกกลาง” แนะกลุ่ม “น้ำมัน-ESG เด่น”
"บล.เอเซีย พลัส" แนะนำ 10 หุ้นหลบภัยช่วง "สงครามตะวันออกกลาง" ชูกลุ่ม "น้ำมัน-ESG เด่น" ขณะเดียวกัน มองเป็นลบต่อกลุ่มโรงไฟฟ้า, ปิโตรเคมี, ท่องเที่ยว, สายการบิน และค้าปลีกน้ำมัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีความตึงเครียดในตะวันออกกลางกลับมาเป็นที่หน้ากังวลมากขึ้น หลังอิหร่านได้ยิงขีปนาวุธนับร้อยโจมตีอิสราเอลเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ขณะที่ล่าสุดมีกระแสข่าว ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กำลังหารือกับอิสราเอลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการโจมตีคลังน้ำมันของอิหร่าน
ทั้งนี้ หากสถานการณ์ทวีรุนแรงเสี่ยงกระทบ SUPPLY การผลิตน้ำมันปรับตัวลดลง ไปจนถึงการปิดช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งจะทำให้ค่าพรีเมียมความเสี่ยงถูกเพิ่มลงไปในราคาน้ำมัน โดยผลพวงที่ตามมาหากราคาน้ำมันดีดตัวสูงขึ้น คือ “ปัญหาเงินเฟ้อสหรัฐฯ เสี่ยงเข้าสู่กรอบเป้าหมายช้าลง” ซึ่งอาจทำให้ FED ปรับลดดอกเบี้ยน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ได้
โดยหลังจากการประชุม FED เดือน ก.ย. ที่ผ่านมา FED WATCH TOOL ประเมินว่า FED จะลดดอกเบี้ย 0.5% ในครั้งถัดไป ด้วยความน่าจะเป็น 55% แต่ล่าสุดคาด FED จะลดดอกเบี้ยแค่ 0.25% ด้วยความน่าจะเป็น 69% ในการประชุมรอบเดือน พ.ย. นี้
ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ปัจจัยความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ บวกกับ FED อาจไม่รีบปรับลดดอกเบี้ยลงเร็ว จากความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ ล้วนหนุนให้ DOLLAR พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ทำให้ในเชิงเปรียบเทียบเงินบาทอ่อนค่าขึ้นมายืนเหนือ 33 บาท/เหรียญฯ ซึ่งอาจส่งผลให้ FUND FLOW ชะลอการไหลเข้าบ้านเราได้ในช่วงสั้นๆ
อีกทั้งหลังจากที่กระทรวงการคลัง หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 3 ต.ค.67 เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ปัญหาหนี้ครัวเรือน การแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งเห็นพ้องกันว่า ปัญหาประชาชนขาดสภาพคล่องและเข้าไม่ถึงสินเชื่อเป็นปัญหามากกว่าดอกเบี้ย หลังสถาบันการเงินต่างๆ ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อเท่าที่ควร
โดย รมต.คลัง กล่าวว่า ตนเองยึดมั่นในหลักการที่ว่า การตัดสินใจพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และเชื่อว่า ธปท. จะมีเครื่องมือช่วยเศรษฐกิจไทยมากกว่าการปรับลดดอกเบี้ย ประเด็นดังกล่าวคาดการณ์ว่าจะหนุนให้ FLOW ต่างชาติมีโอกาสไหลกลับเข้าตลาดหุ้นไทยได้ในช่วงสั้นตามความเชื่อมั่นที่เพิ่มมากขึ้นในมุมมองของนักลงทุน
ขณะที่ BLOOMBERG CONSENSUS คาดการณ์ว่าการประชุมวันที่ 16 ต.ค. 67 กนง.จะยังคงดอกเบี้ยที่ระดับ 2.50% ขณะที่มุมมองของฝ่ายวิจัย ยังคงมุมมองเดิม คือ คาดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยจะลง 1 ครั้ง 0.25% จากปัจจุบันที่ 2.5% ในงวดไตรมาส 4/67 (การประชุม กนง. 2 ครั้งที่เหลือวันที่ 16 ต.ค. 67 หรือ 18 ธ.ค. 67)
ส่วนประเด็นถัดมา คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลัง ซึ่งล่าสุด รมช.คลัง ระบุว่า รัฐบาลเตรียมมาตรการภาษีกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องปลายปีนี้ มองเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีช่วงครึ่งหลังของปีนี้ คาดการณ์ว่า GDP GROWTH ปีนี้โต 2.6-2.7% จากปีก่อน (ยังไม่รวมผลมาตรการแจกเงินหมื่นอีก 0.3% จากปีก่อน) ซึ่งหากจะเกิดขึ้นจริงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
ด้านตัวเลข GDP รายไตรมาสต้องแตะระดับ 3.4-3.5% จากปีก่อน โดยถือว่าสูงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน ขณะที่ปี 68 คลังคงมุมมอง GDP GROWTH โตระดับ 3% จากปีก่อน
ทั้งนี้ แนะนำให้หาหุ้นหลบปัจจัยกดดันภายนอก กับ FUND FLOW ไหลออก หลังความไม่สงบในตะวันออกกลาง กดดันเม็ดเงินไหลเข้าสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มเติม อีกทั้งการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินไปลงทุนในหุ้นจีน กดดันให้ FUND FLOW ไหลออกจากตลาดหุ้นไทยติดต่อกัน 7 วันทำการ 1.4 หมื่นล้านบาท กดดัน SET INDEX ปรับตัวลดลง 1.3%
โดยความผันผวนจากปัจจัยภายนอกยังมีอยู่กดดัน SET INDEX ขยับขึ้นยากในช่วงนี้ แต่ยังคงมีเม็ดเงินจากกองทุนวายุภักษ์คอยช่วยพยุง ทำให้มีโอกาสผันผวนน้อยกว่าตลาดหุ้นอื่นๆ ได้
ขณะที่กลยุทธ์ยามตลาดย่อตัว เน้นสะสมหุ้นเป็นรายหุ้นที่ได้รับเซนติเมนต์เชิงบวกผสมกันหลายๆ ธีม ดังนี้
1.หุ้นน้ำมัน มี ESG RATING ดี ที่ราคายังแลกการ์ดกว่าราคาน้ำมันโลก คือ PTTEP ลดลง 10.7% นับจากต้นปีจนถึงปัจจุบัน, PTT ลดลง 6.3% นับจากต้นปีจนถึงปัจจุบัน, TOP ลดลง 7% นับจากต้นปีจนถึงปัจจุบัน
2.หุ้นมี ESG RATING ดี กำไรช่วงครึ่งปีหลังเด่น คือ SCC, SCGP, CPAXT, AMATA, MTC, PLANB, CBG
บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด มองเป็นลบต่อกลุ่มโรงไฟฟ้า, ปิโตรเคมี, ท่องเที่ยว, สายการบิน และค้าปลีกน้ำมัน
โดยกลุ่มโรงไฟฟ้า: มีโอกาสที่ราคาก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น (โดยมี lag time ราว 3-6 เดือนหลังราคาน้ำมันขึ้น) แต่ค่า Ft ไม่สามารถปรับสะท้อนได้จากค่าไฟปัจจุบันอยู่ในระดับสูงและภาครัฐฯ ต้องการลดภาระประชาชน เป็น negative sentiment ต่อโรงไฟฟ้า SPP โดยเรียงลำดับจากหุ้นที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากมากไปน้อยคือ BGRIM (ซื้อ/เป้า 35.00 บาท), GPSC (ซื้อ/เป้า 60.00 บาท), GULF (ซื้อ/เป้า 60.00 บาท)
ด้านกลุ่มปิโตรเคมี: มองว่าหุ้นในกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบจากราคาต้นทุนวัตถุดิบ (feedstock) ที่สูงขึ้นในขณะที่ราคาขายยังมีปัจจัยกดดันจากแนวโน้มอุปสงค์ที่อ่อนแออยู่ ทั้งนี้คำแนะนำสำหรับหุ้นที่ฝ่ายวิจัยดูแล คือ PTTGC (แนะนำถือ ราคาเป้าหมาย 27 บาท), IVL (แนะนำซื้อ ราคาเป้าหมาย 21 บาท), และ SCC (แนะนำถือ ราคาเป้าหมาย 250 บาท)
ขณะที่กลุ่มท่องเที่ยว: ได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวจาก Middle East มีโอกาสลดลงได้ โดยงวด 8 เดือนของปี 67 มีสัดส่วนที่ 2.2% ของนักท่องเที่ยวรวมหุ้นที่ได้รับ negative sentiment คือ (ERW (แนะนำถือ ราคาเป้าหมาย 4.20 บาท), CENTEL (แนะนำถือ ราคาเป้าหมาย 36 บาท)