สบช่องซื้อ 9 หุ้นเป้า “วายุภักษ์” ฟาก KTAM ย้ำผลตอบแทนตามเป้า 3-9%

“พิชัย” รองนายกฯ และรมว.คลัง เคาะระฆังเปิดเทรดหน่วยลงทุนของกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง KTAM ลั่น! เดินหน้าปั้นผลตอบแทนให้นักลงทุนตามกรอบเป้าหมาย 3-9% ย้ำกองทุนฯ เน้นซัพพอร์ตนักลงทุนได้อย่างดีในช่วงตลาดขาลง ส่งซิกช่วงดัชนีวูบเป็นจังหวะดีเข้าเก็บหุ้นคุณภาพ เผย 4 วันแรกเดือน ต.ค. นักลงทุนสถาบันลุยซื้อหุ้นกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท


นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง (VAYU 1) เริ่มซื้อขายบนกระดานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) วันนี้ (7 ต.ค. 2567) วันแรก สิ่งที่ผู้จัดการกองทุนในฐานะบริษัทจัดการคาดหวังอันดับแรกคือ ผลักดันผลตอบแทนจากการลงทุนของนักลงทุนให้เป็นไปตามกรอบเป้าหมายที่ระดับ 3-9% ให้ได้

ขณะเดียวกัน กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง มีเป้าหมายหลักนอกจากช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดหุ้นไทยแล้ว ยังมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนนักลงทุนในการออมเงินระยะยาวได้อย่างแข็งแกร่ง ซึ่งกองทุนฯ นี้จะสามารถลดความเสี่ยงในช่วงตลาดขาลงได้ดี

สำหรับหลักทรัพย์กลุ่มเป้าหมาย ยังเป็นหลักทรัพย์ที่มีคุณภาพสูง มีการเติบโตแข็งแกร่งเป็นหลัก อย่างไรก็ตามกลยุทธ์ลงทุนของกองทุนฯ เน้นจับจังหวะตามสภาพตลาดในขณะนั้น ๆ เป็นสำคัญ โดยเฉพาะช่วงที่ดัชนีปรับตัวลงถือเป็นจังหวะดีในการเข้าลงทุน

สำหรับนโยบายการลงทุนโดยรวม เป็นไปตามการบริหารทั้งแบบเชิงรุก (Active Investment) และแบบเชิงรับ (Passive Investment) ส่วนใหญ่จะลงทุนในหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เน้นลงทุนในหุ้นบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานและสภาพคล่องที่ดี มีความมั่นคงในระยะยาว ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี อาทิ บริษัทที่อยู่ใน SET100 ที่ได้รับคะแนน SET ESG Ratings ระดับ A ขึ้นไป หรือบริษัทนอก SET100 ที่ได้รับคะแนน SET ESG Ratings ที่สูงกว่า

นอกจากนี้ อาจพิจารณาลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ที่มีอัตราผลตอบแทนดีหรือมีแนวโน้มเติบโตสูง มีสภาพคล่องและมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เปิดสรุปข้อสนเทศของกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2567 ที่ผ่านมา พร้อมกับกำหนดชื่อย่อหลักทรัพย์ที่จะเข้าจดทะเบียนคือ VAYU1 และแนบหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ (Factsheet) ข้อมูล ณ วันที่ 6 ก.ย. 2567 ภายใต้ข้อมูลกองทุนฯ เดิม ให้กับนักลงทุนเพื่อรับทราบ โดยกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง บริหารจัดการโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง เป็นกองทุนประเภทกองทุนรวม รวมถึงเป็นกองทุนรวมผสม ที่มีนโยบายลงทุนในกองทุนรวมอื่นภายใต้บลจ.เดียวกัน

ภายใต้ Factsheet ของกองทุนฯ เดิม กลยุทธ์การลงทุน กองทุนมีนโยบายการลงทุนในลักษณะการลงทุนเชิงรุกและการลงทุนเชิงรับ โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.หลักทรัพย์สภาพคล่อง เพื่อการดำเนินงานหรือรักษาสภาพคล่องของกองทุน 2.หลักทรัพย์เชิงรุกหรือเชิงรับ อาทิ หลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ฯลฯ

ทั้งนี้ จะบริหารในลักษณะเชิงรุกเพื่อมุ่งสร้างผลตอบแทนที่ดีและมั่นคง ตามกรอบการลงทุนของคณะกรรมการกำกับการดำเนินงานกองทุนรวมวายุภักษ์ เพื่อให้กองทุนรวมได้รับผลตอบแทนที่ดีและมั่นคงในระยะยาว 3.หลักทรัพย์อื่น รวมถึงอาจลงทุนในทองคำ น้ำมันดิบ สินค้าโภคภัณฑ์ และหน่วย Private Equity ทั้งนี้กองทุนอาจลงทุนในกองทุนรวมอื่นซึ่งอยู่ภายใต้การจัดการของบริษัทจัดการเดียวกันได้ในสัดส่วนไม่เกิน 10% ของ NAV

อย่างไรก็ตาม กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง ที่เปิดขายรอบนี้ เน้นลงทุนในหุ้นไทยเป็นหลัก สำหรับหลักทรัพย์ที่กองทุนฯ ลงทุน 5 อันดับแรก ของกองทุนฯ เดิม ข้อมูล ณ วันที่ 30 ส.ค. 2567 อันดับ 1 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT สัดส่วนลงทุน 35.07% 2.บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB สัดส่วนลงทุน 25.03% 3.ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB สัดส่วนลงทุน 5.54% 4.ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB สัดส่วนลงทุน 3.36% 5.บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP สัดส่วนลงทุน 3.03%

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ระบุว่า กระทรวงการคลังฟื้น “กองทุนรวมวายุภักษ์” จุดเด่นเป็นกองทุนการันตีผลตอบแทนขั้นต่ำ 3% ในเบื้องต้นประเมินว่าหากมีเงินใหม่ 1 แสนล้านบาท จะเข้าหุ้นประมาณ 9 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 90% ของพอร์ต (อิงจากกองวายุภักษ์ในอดีต เฉลี่ยช่วงปี 2546-2556) และคาดจะเข้าภายใน 1-2 เดือน ประเมินอัพไซด์ต่อตลาดหุ้นไทยราว 90 จุด

โดยหุ้นที่คาดจะเป็นเป้าหมายของกองทุนหากอิงจากอดีต สัดส่วนการลงทุนจะเน้น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มรัฐวิสาหกิจ และ 2.กลุ่มธุรกิจจำเป็น (Essential Services) หรือเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานประเทศ เช่น กลุ่มพลังงาน ธนาคาร ขนส่ง ICT วัสดุก่อสร้าง

ดังนั้น ถ้ามีเงินใหม่เข้ามา จะไปเติมหุ้นตัวที่มีอยู่แล้วในพอร์ต ได้แก่ กลุ่มพลังงาน PTT, BCP กลุ่มธนาคาร SCB, TTB,  KTB กลุ่มขนส่ง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT กลุ่มไอซีที บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC กลุ่มโรงไฟฟ้า บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF กลุ่มวัสดุก่อสร้าง บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. จนถึงปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา สถาบันในประเทศซื้อสุทธิหุ้นไทย 14,725 ล้านบาท โดยเม็ดเงินจำนวนนี้คาดการณ์ว่าส่วนใหญ่หรือทั้งหมดเป็นเม็ดเงินจากกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง

Back to top button