“แพทองธาร” โชว์วิสัยทัศน์ มุ่งปลดล็อก “ศักยภาพ” เศรษฐกิจไทย-อาเซียน ดึงเม็ดเงินลงทุน

นายกฯ “แพทองธาร” แสดงวิสัยทัศน์ เร่งผลักดันความร่วมมือไทย-อาเซียน 4 ประเด็น หวังปลดล็อกเศรษฐกิจ ชูจุดแข็งไร้ความขัดแย้งเหมาะลงทุน เดินหน้ายกระดับขนส่งคมนาคม พร้อมแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (7 ต.ค. 67) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “Thailand Economic Big Move” ในงานสัมมนา ASEAN Economic Outlook 2025: The Rise of ASEAN, A Renewing Opportunity ว่า  เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้เข้าร่วมการประชุม ACD (Asia Cooperation Dialogue) ที่ประเทศกาตาร์ เป็นเวทีสำคัญครั้งแรกในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้พูดกับประเทศตะวันออกกลาง มีความร่วมมือหลายอย่างเกิดขึ้น โดยเฉพาะในปีหน้า ซึ่งคาดว่าน่าจะมีโอกาสดี ๆ ที่ส่งผลมาถึงภูมิภาคอาเซียนของเราด้วยเช่นกัน ปีนี้เป็นปีที่ 57 ปีของอาเซียน ทั้งเป้าหมายและแนวทางมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา ช่วงก่อตั้งราวทศวรรษที่ 1960 ปัญหาความขัดแย้งและสงครามยังเป็นปัญหาหลักในภูมิภาคของเรา อาเซียนจึงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกมีความมั่นคง

หลังจากนั้นอาเซียนมีนโยบายเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า จนสามารถสร้างเศรษฐกิจที่เป็นรากฐานมาถึงปัจจุบันและในช่วงทศวรรษที่ 1990 อาเซียนที่นำโดยประเทศไทย ได้พัฒนาตัวเองเป็นเขตการค้าเสรีอย่างเต็มรูปแบบ ขยายความร่วมมือในด้านการค้าและการลงทุนกับกลุ่มเศรษฐกิจอื่น ๆ อย่าง APEC ก็เกิดขึ้นในยุคนั้น มาถึงวันนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า ขอใช้เวทีนี้ เล่าถึงเป้าหมาย อุดมการณ์ของรัฐบาลไทย ในฐานะประเทศสมาชิก ต้องการผลักดันให้เกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อทศวรรษต่อไปของอาเซียนทั้งหมด 4 ประเด็น

ประเด็นที่ 1 GDP ของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศในวันนี้ มีมูลค่ารวมกัน สูงถึง 3.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 119 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มจะขยายตัวอีก 4-5% ต่อปี อย่างต่อเนื่องในอนาคต นับเป็นตลาดอันดับ 5 ของโลก และมีประชากรกว่า 670 ล้านคน อาเซียนจึงถือเป็นตลาดขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของโลกในเวลานี้ อาเซียนจำเป็นต้องปลดล็อคศักยภาพทางเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้า โดยสมาชิกต้องรวมกันเป็นหนึ่งเดียวในด้านเศรษฐกิจ ทำให้ตลาดอาเซียนมีกฎเกณฑ์การค้า การลงทุน และการเก็บภาษี สอดคล้องไปด้วยกันทั้งภูมิภาค เพื่อทำให้นักลงทุนรู้สึกว่า การลงทุนในประเทศสมาชิกหรือประเทศไทย จะเท่ากับการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน โดยดึงดูดการลงทุนให้มากขึ้น การลงทุนประชากรไทย 66 ล้านคน เปลี่ยนเป็นการลงทุนกับประชากรอาเซียนที่มีถึง 670 ล้านคน ซึ่งมีโอกาสและศักยภาพมากกว่าหลายเท่า

ประเด็นที่ 2 อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความสงบ ไม่มีความขัดแย้งระหว่างประเทศ เป็นจุดเด่นสำคัญที่เหมาะแก่การลงทุน  จุดยืนของประเทศไทยในฐานะสมาชิกอาเซียน รัฐบาลตั้งใจส่งเสริมการลงทุนซัพพอร์ตซึ่งกันและกัน  โดยยึดหลัก international law และยินดีเป็นตัวกลางเชื่อมต่อให้ทุกคนมาพูดคุยกัน อีกทั้งเป็นพื้นที่เจรจาลดความขัดแย้งของโลก โดยเฉพาะในเวลานี้ที่โลกกำลังประสบปัญหาความขัดแย้งอย่างรุนแรง ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน  แต่จีนได้กระจายการลงทุนในประเทศอาเซียนหลายด้าน เช่น อุตสาหกรรมด้านรถไฟฟ้าและการผลิตโซล่าเซลล์ ในประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย รวมถึงเข้าไปตั้งกองทุนในประเทศสิงคโปร์

ขณะเดียวกัน นักลงทุนจากสหรัฐ ฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และไต้หวัน ก็ให้ความสนใจและเพิ่มการลงทุนด้านสินค้าเทคโนโลยี ทั้งในเวียดนาม ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และการลงทุน รวมทั้งการสร้าง Data Center ของ Google ในประเทศไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไปจนถึงการผลิตมือถือและคอมพิวเตอร์ของ Apple อาเซียนยังมีบทบาทในการลดความตึงเครียดระหว่างประเทศมหาอำนาจหลายครั้ง ด้วยการใช้ไทยเป็นเวทีเจรจาระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน กับที่ปรึกษาด้านความมั่นคง ของประธานาธิบดีสหรัฐ เมื่อไม่กี่เดือนมานี้

“อาเซียนจะต้องมีบทบาทสำคัญในการนำความสงบสุขกลับมาในประเทศเมียนมา โดยเร็วที่สุด เราจะเน้นการทำงานร่วมกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ท่านอันวา อิบราฮิม ซึ่งจะดำรงตำแหน่งประธานของอาเซียนในปีหน้า รวมถึงใช้กลไกทางการทูตเพื่อแก้ปัญหานี้ให้คลี่คลายโดยเร็วที่สุด” นางสาวแพทองธาร กล่าว

ประเด็นที่ 3 การขนส่งที่เชื่อมโยงคมนาคมประเทศต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน จะเป็นหัวใจสำคัญในการยกระดับศักยภาพของอาเซียน ในอนาคตอาเซียนจะต้องเชื่อมต่อระบบการขนส่งระหว่างประเทศที่อยู่บนผืนแผ่นดินเอเชีย เชื่อมต่อให้ทั้งระบบเชื่อมโยงกัน ทำให้ส่งสินค้าติดต่อกันได้สะดวก ต้องพัฒนาโครงสร้างคมนาคมร่วมกันทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ทั้งหมดนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการ ทั้งรถไฟทางคู่ การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค และแลนด์บริดจ์ ศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำที่เชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน

รวมถึงภาพของท่าเรือขนาดใหญ่ที่เชื่อม 2 มหาสมุทร อ่าวไทย และอันดามันเข้าด้วยกัน เพื่อลดค่าใช้จ่าย ต้นทุนการผลิตให้กับทุกธุรกิจ เป็นศูนย์กลางของการขนส่งอีกแห่งหนึ่งของโลก คือการส่งออกอาหารและผลผลิตการเกษตรไปทั่วโลก การมีโครงสร้างคมนาคมที่ดี รวมถึงการที่ประเทศไทยจะเป็นพื้นที่เก็บคลังสินค้า (food security) โดยนำAI มาใช้ และมีมาตรฐานระดับโลก เพิ่มรายได้ให้กับคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งจะพัฒนาในจุดนี้ และจะทำให้อาเซียนมั่นคงแข็งแรงทางเศรษฐกิจต่อไป

ประเด็นที่ 4 อาเซียนต้องร่วมกันทางออกจากปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดภาวะโลกเดือดให้ได้ เพราะภัยธรรมชาติ จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี เห็นได้จากปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในภาคเหนือของประเทศไทย ถือเป็นโจทย์หนึ่งของรัฐบาลที่จะเตรียมพร้อมกับประชาชน เพื่อรับมือกับภาวะโลกเดือด และเยียวยากับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งต้องอาศัยเวลาหลายปีในการวางแผน อีกทั้งจะเร่งรัดนโยบายให้ได้ผลในเชิงปฏิบัติมากกว่าที่เป็นอยู่ และในเรื่องคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) โดยตั้งเป้าหมายว่าประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และสนับสนุนพลังงานทางเลือกอย่างจริงจัง มีนโยบายเกี่ยวกับการใช้โซล่าเซลล์อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งรัฐบาลจะเร่งรัดดำเนินนโยบายอย่างเต็มที่

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ทั้งหมดนี้ จะนำไปหารือกับประเทศสมาชิกอาเซียน แน่นอนว่าจะพูดในภาพรวม หา common strategy ร่วมกัน และจะมีประชุมแยก เพื่อร่วมมือในประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญในแต่ละประเทศ โดยการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44-45 สปป.ลาว จะเริ่มขึ้นในวันพรุ่งนี้ ซึ่งสอดคล้องกับ Master Plan ของ ASEAN Connectivity 2025 ที่มี 3 แกนวิธีคิดหลักคือ
1. การเชื่อมโยงทางกายภาพ เน้นการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง
2. การเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ มุ่งหวังที่จะปรับนโยบาย กฎระเบียบ และมาตรฐานให้สอดคล้องกันในประเทศสมาชิกเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุน
3. การเชื่อมโยงระหว่างประชาชน อาทิ การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การศึกษา การท่องเที่ยว และการเคลื่อนย้ายแรงงาน ให้มีความสะดวกเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างอนาคตอาเซียนร่วมกับประเทศสมาชิกอย่างยั่งยืน

“อาเซียนที่อยู่ร่วมกันโดยสามัคคี ทำให้มีพลังมากกว่าต่างคนต่างทำ ASEAN together is much more than the sum of its parts” นางสาวแพทองธาร กล่าวทิ้งท้าย

Back to top button