จับตา TATG เข้าเทรด mai เช้านี้ “เสี่ยปู่-เสี่ยป๋อง” โผล่ถือหุ้น 11 ล้านหุ้น
จับตา TATG เข้าเทรดตลาดเอ็ม เอ ไอ (mai) เช้านี้ 2 เซียนใหญ่ “เสี่ยปู่-เสี่ยป๋อง” โดยพบ “เสี่ยปู๋” ถือหุ้นจำนวน 6,000,000 หุ้น ในสัดส่วน 1.50% และ “เสี่ยป๋อง” ถือหุ้น จำนวน 5,080,000 หุ้น ในสัดส่วน 1.27% รวมทั้งหมด 11 ล้านหุ้น คิดเป็น 2.77%
บริษัท ไทย ออโต ทูลส์ แอนด์ ดาย จำกัด (มหาชน) หรือ TATG ได้เข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ภายใต้กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมวันนี้เป็นวันแรก (8 ต.ค.67) โดยจากข้อมูลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยภาพรวมข้อมูลผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 3 ต.ค. 67 มีผู้ถือหุ้นใน TATG ทั้งหมด 26 อันดับแรก ซึ่งพบรายชื่อของนายสมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล หรือ “เสี่ยปู่” ถือหุ้นจำนวน 6,000,000 หุ้น ในสัดส่วน 1.50% และพบรายชื่อ นาย วัชระ แก้วสว่าง หรือ “เสี่ยป๋อง” ถือหุ้น จำนวน 5,080,000 หุ้น ในสัดส่วน 1.27%
สำหรับ TATG มีทุนชำระแล้วหลังเสนอขาย 400 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก จำนวนรวม 100 ล้านหุ้น โดยเสนอขายต่อบุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ผู้มีอุปการคุณของบริษัทและบริษัทย่อย และกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานบริษัทและบริษัทย่อย ระหว่างวันที่ 30 กันยายน – 2 ตุลาคม 2567 ในราคาหุ้นละ 1.25 บาท คิดเป็นมูลค่าการเสนอขาย IPO 125 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 500 ล้านบาท
ทั้งนี้ การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO พิจารณาอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Earnings Ratio: P/E Ratio) เท่ากับ 5.2 เท่า ซึ่งคำนวณจากกำไรสุทธิ 12 เดือนย้อนหลัง (ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.66 ถึงวันที่ 30 มิ.ย.67) หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วภายหลังการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ (fully diluted) จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้นเท่ากับ 0.24 บาท โดยมี บริษัท ที่ปรึกษา เอเซีย พลัส จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย
สำหรับ TATG และบริษัทย่อยประกอบธุรกิจหลัก 2 ประเภท ได้แก่ (1) ธุรกิจออกแบบและผลิตเครื่องมือสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ (Tooling) อาทิ แม่พิมพ์ปั๊มขึ้นรูปโลหะ (Stamping Dies) อุปกรณ์จับยึดเพื่อการตรวจสอบ (Checking Fixtures) อุปกรณ์จับยึดเพื่อการประกอบ (Assembly Jigs) และ (2) ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์แบบปั๊มขึ้นรูปโลหะ (Automotive Press Parts) ซึ่งได้นำเทคโนโลยีและเครื่องจักรที่ทันสมัยตั้งแต่ขนาด 200 – 2,000 ตัน มาใช้ในการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับการผลิตในปริมาณมาก (Mass Production) รวมถึงการนำระบบชุบเคลือบสีด้วยไฟฟ้า EDP (Electro Deposition Paint) มาใช้เพื่อให้ชิ้นส่วนมีคุณภาพและทนทานต่อการกัดกร่อนได้ดีขึ้น โดยเตรียมรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หลังจากลงทุนในการวิจัยและพัฒนาแม่พิมพ์โลหะที่สามารถใช้ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั้งในปัจจุบันและอนาคต