5 โบรกเคาะเป้า MPJ สูงสุด 9.50 บาท ลุ้นกำไร 3 ปี โตเฉลี่ย 27%

5 โบรกเกอร์เคาะเป้าหมายราคา MPJ ที่ 8.00-9.50 บาท ฟาก “บล.ฟินันเซีย ไซรัส” คาดกำไรสุทธิปี 67-69 เติบโตเฉลี่ย 27% รับธุรกิจลานตู้คอนเทนเนอร์เพิ่ม 2 แห่ง พ่วงขยายบริการเส้นทางยุโรปและสหรัฐฯ


บริษัท เอ็ม พี เจ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ MPJ ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ครบวงจรทั้งในประเทศและต่างประเทศ เปิดเผยว่าบริษัทประกอบธุรกิจ 4 ประเภท ได้แก่ 1.) บริการด้านการบริหารลานตู้คอนเทนเนอร์, 2.) บริการขนส่งทางบกต่อเนื่องกับท่าเรือ, 3.) บริการจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Freight Forwarder) และ 4.) บริการให้เช่าคลังสินค้า โดยวัตถุประสงค์ของการเข้าจดทะเบียนในตลาดเอ็มเอไอเพื่อขยายกิจการ, ปรับปรุงลานกองตู้คอนเทนเนอร์, จัดหารถหัวลากและหางพ่วง, ชำระคืนเงินกู้ยืม พัฒนาระบบ ERP และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ

ทั้งนี้ MPJ มีแผนจะเข้าระดมทุนเพื่อเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไป (IPO) จำนวน 53 ล้านหุ้น ในตลาด หลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ประมาณไตรมาสที่ 4 ปี 2567 เพื่อรองรับการขยายกิจการอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ บริษัทฯ มีนโยบายที่จะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิจากงบการเงินเฉพาะกิจการ

โดยล่าสุดนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า MPJ จะมีผลประกอบการจะเติบโตสูงอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยสนับสนุน 1.) การขยายธุรกิจลานกองตู้คอนเทนเนอร์แห่งที่ 3 ในกรุงเทพฯ ย่านลาดกระบังซึ่งเป็นศูนย์กลางการขนส่งตู้ตอนเทนเนอร์ทั่วประเทศ, 2.) รับรู้รายได้คลังสินค้าในจังหวัดระยองเต็มปี และ 3.) การเติบโตของธุรกิจตัวแทนขายค่าระวางเรือ โดยการเพิ่มพนักงานขายระวางเรือในเส้นทางใหม่ อาทิ ยุโรปและสหรัฐฯ ขยายตลาดจากเดิมที่เน้นเส้นทางในเอเชีย

สำหรับบริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์คาดรายได้ปี 67 อยู่ที่ 980 ล้านบาท เติบโต 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนกำไรคาดการณ์อยู่ที่ 88 ล้านบาท เติบโต 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนในปี 2568 คาดการณ์รายได้รวมอยู่ที่ 1,226 ล้านบาท เติบโต 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่กำไรสุทธิ อยู่ที่ 113 ล้านบาทเติบโต 29% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก 1.) การขยายธุรกิจลานกองตู้คอนเทนเนอร์สู่กรุงเทพฯ 2.) รับรู้รายได้คลังสินค้าในจังหวัดระยองเต็มปี และ 3.) การเพิ่มพนักงานขายระวางเรือในเส้นทางใหม่ อาทิ ยุโรปและสหรัฐฯ ทำให้ประเมินราคาเหมาะสมปี 2568 อยู่ที่ 9.00 บาทต่อหุ้น

ส่วน บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด คาดการณ์กำไรปกติปี 2567-2569 เป็นดังนี้ ในปี 2567 คาดการณ์กำไรปกติเติบโตอยู่ที่ 89 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนปี 2568 เติบโตอยู่ที่ 124 ล้านบาท เพิ่มขึ้น39% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และปี 2569 เติบโตอยู่ที่ 151 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งได้ปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มกิจกรรมขนส่งที่เติบโตและการขยายธุรกิจคลังสินค้าและลานตู้ทำให้ประเมินราคาเหมาะสมปี 2568 อยู่ที่ 8.70 บาทต่อหุ้น

ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ประเมินกำไร 2567-2569 จะโตเฉลี่ย 18% CAGR และประเมินกำไรปี 2567 อยู่ที่ 91 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากธุรกิจ Freight Forwarder ที่ฟื้นตัวจากฐานต่ำ รวมถึงธุรกิจคลังสินค้าที่ได้ผลบวกจากคลังสินค้าใหม่ ส่วนปี 2568 ประเมินกำไรอยู่ที่ 121 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากทุกธุรกิจที่ดีขึ้นทำให้ประเมินราคาเหมาะสมปี 2568 อยู่ที่ 8.50 บาทต่อหุ้น

นอกจากนี้ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) คาดการณ์ว่ากำไรสุทธิปี 2567-2569 เติบโตเฉลี่ย 27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี CAGR โดยคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2567 อยู่ที่ 88 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี และปี 2568 คาดผลการดำเนินงานจะเติบโตก้าวกระโดดอยู่ที่ 122 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ส่วนปี 2569 คาดผลการดำเนินงานจะเติบโต 162 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี

โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากธุรกิจคลังสินค้าที่เพิ่มขึ้นอีก 2 แห่ง และธุรกิจ Freight Forwarder ได้ขยายทีมขายและให้บริการเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเส้นทางยุโรปและสหรัฐอเมริกา รวมถึงภาวะดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลงจากการนำเงิน IPO ไปชำระหนี้บางส่วน ทำให้ประเมินราคาเหมาะสมปี 2568 อยู่ที่ 8.00 บาทต่อหุ้น

ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) คาดการณ์กำไรสุทธิ 2567-2569 เป็นดังนี้ ปี 2567 คาดการณ์กำไรอยู่ที่ 76 ล้านบาท ปี 2568 อยู่ที่  89 ล้านบาท และปี 2569 อยู่ที่ 95 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโต เพิ่มขึ้น 11% CAGR เพราะคาดการณ์ในปี 2567-2569 จะมีการเติบโตยอดขายราว ดังนี้ ปี 2567 มียอดขาย 935 ล้านบาท, ปี 2568 อยู่ที่ 1,040 ล้านบาท, ปี 2569 อยู่ที่ 1,098 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% CAGR จากรายได้การขนส่งทางบกหลังมีการปรับราคาขึ้นตามราคาน้ำมัน (Cost plus) ในปี 2568 ตามหลังราคาดีเซล,

ขณะที่ รายได้จากธุรกิจ Freight forwarder เติบโตขึ้นจากการขยายทีมและเพิ่มสายเดินเรือ Route ไกล (ยุโรป-อเมริกา), คลังสินค้าใหม่ 2 แห่งขนาด 12,463 และ 18,000 ตรม. ที่เริ่ม Operate ในไตรมาส 2 ปี 2567 และไตรมาส 3 ปี 2569 ตามลำดับ และอัตรากำไรขั้นต้นรวมจะขยับขึ้นมาเล็กน้อยจาก 21% ในปี 2566 สู่ระดับ 22% ในปี 2567-2569

นอกจากนี้ MPJ มี Upside Risk จากลานตู้คอนเทนเนอร์ใหม่ซึ่งยังไม่รวมในประมาณการ คาดการณ์เริ่ม Operate ภายปี 2568 คิดเป็น Upside 1.50 บาทต่อหุ้น ทำให้ประเมินราคาเหมาะสมปี 2568 อยู่ที่ 8.00-9.50 บาทต่อหุ้น

Back to top button