ก.ล.ต. จ่อปรับเกณฑ์ “โทเคนดิจิทัล” พ่วงคุมเข้ม “Naked Short” โทษปรับหนักสุด 3 เท่า
ก.ล.ต. เตรียมปรับหลักเกณฑ์ “ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล ICO portal” พร้อมหนุนตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับปรุงร่างประกาศเกี่ยวกับบทระวางโทษ Naked Short Selling ปรับหนักสุด 3 เท่า แต่ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท
นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการและโฆษก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า การลงทุนของกองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคลในสินทรัพย์ดิจิทัล (DA) โดยการลงทุนของกองทุนปัจจุบันยังมิได้กำหนดเกี่ยวกับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล สำนักงาน ก.ล.ต. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในการประชุมเดือนขันวาคม 2566 และเดือนมีนาคม 2567 และคณะกรรมการกำกับตลาดทุนในการประชุมเดือนเมษายน 2567 จึงเห็นควรปรับปรุงหลักเกณฑ์สำหรับกองทุนที่มีการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลโดยมีมาตรการคุ้มครองผู้ลงทุนที่เหมาะสม ดังนี้
1.เพิ่มให้ investment token เป็นทรัพย์สินที่กองทุนสามารถลงทุนได้ โดยมีอัตราส่วนการลงทุนเช่นเดียวกับ transferable securities เช่น หุ้น และหุ้นกู้ เป็นต้น เนื่องจากมีลักษณะและความเสี่ยงคล้ายกัน
2.เพิ่มความยืดหยุ่นให้กองทุนสามารถลงทุนในคริบโทแอสเซ็ท (crypto asset) ได้ ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมกับประเภทผู้ลงทุน โดยกองทุนสำหรับผู้ลงทุนรายใหญ่ สามารถลงทุนใน crypto ETF ได้ โดยไม่จำกัดสัดส่วนการลงทุน เพื่อสร้างความเท่าเทียมกันในการแข่งขันระหว่าง บล. และบริษัทจัดการลงทุน (บลจ.) และกรณีกองทุนดังกล่าวลงทุนใน crypto asset โดยตรงหรือโดยอ้อมผ่านสัญญาซื้อขายล่วงหน้า จำกัดไม่เกินร้อยละ 20 ของ NAV ในขณะที่กองทุนสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย สามารถมี total crypto asset exposure ผ่าน ETF หรือกองทุนรวมต่างประเทศ ไม่เกินร้อยละ 5 ของ NAV เพื่อประโยชน์ด้านการจัดสรรสินทรัพย์ (asset allocation) ผ่านผู้เชี่ยวชาญ
อีกทั้งยังมีประเด็นของการเตรียมปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล ICO portal สามารถ Outsource ระบบงานเพิ่มเติมได้ โดยคณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติเห็นชอบแนวทางการปรับปรุงเกณฑ์ดังกล่าว เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567 เพื่อให้สามารถ outsource งานที่เกี่ยวข้องกับ ICO portal ได้ทุกระบบงาน รวมถึงงานตรวจสอบและสอบทานข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัล (due diligence) บางส่วน เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพในการประกอบธุรกิจ รวมถึงส่งเสริมบทบาทของผู้ประกอบธุรกิจในฝั่งหลักทรัพย์ (traditional player)
ทั้งนี้ ICO portal จะสามารถมอบหมายให้บุคคลอื่นรับดำเนินการในงาน due diligence (1) ด้าน Business (เช่น ข้อมูล issuer แผนธุรกิจ โครงการโทเคนดิจิทัล เป็นต้น) หรือ (2) ด้าน Technology (ได้แก่ ชุดรหัส (source code) ในสัญญาอัจฉริยะ (smart contract) หรือกลไกอื่นที่นำมาใช้ทดแทน smart contract) เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น โดย ICO portal ต้องขออนุญาต ก.ล.ต. ก่อนมอบหมายงานที่เกี่ยวข้องกับงาน due diligence ดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังเห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์อื่นที่เกี่ยวข้องกับ ICO portal ได้แก่ การนำส่งและเปิดเผยงบการเงิน และการดำเนินการกับ ICO portal ในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความเหมาะสมในการกำกับดูแล ICO portal และด้าน ก.ล.ต. จะยกร่างประกาศเพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง และออกประกาศบังคับใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวต่อไป
อีกทั้งยังมีประเด็นสำคัญของการปรับปรุงร่างประกาศตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเกี่ยวกับบทระวางโทษปรับเป็นเงินกับสมาชิกตามที่ตลาดหลักทรัพย์เสนอ โดยคณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567 มีมติเห็นชอบแนวทางการปรับปรุงร่างประกาศตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเกี่ยวกับบทระวางโทษปรับเป็นเงินกับสมาชิกตามที่ ตลาดหลักทรัพย์เสนอ ซึ่งได้มีการจัดกลุ่มลักษณะการกระทำผิดใหม่ และการกำหนดบทระวางโทษปรับเป็นเงินให้เหมาะสมในแต่ละกรณี เพื่อให้มีความชัดเจนและมีความเหมาะสมยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ได้กำหนดบทระวางโทษปรับเป็นเงินในแต่ละลักษณะการกระทำผิด ตามระดับความรุนแรง ไว้ 4 ระดับ ได้แก่ น้อย , ปานกลาง, มาก และรุนแรงมาก เพื่อสะท้อนกับความผิด เช่น กรณีการกระทำผิดที่มีระดับน้อย จะมีอัตราโทษปรับ 3,000-30,000 บาทต่อรายการ และสูงสุดไม่เกิน 3 ล้านบาท ด้านการกระทำผิดระดับมาก กระทบกับอุตสาหกรรมหรือผู้ลงทุนในวงกว้าง เช่น มีการส่งคำสั่งซื้อขายในลักษณะไม่เหมาะสม หรือ ปั่นหุ้น หากสมาชิกพบเห็นแล้วไม่ดำเนินการยับยั้ง ให้ถือว่ามีความผิด ก็จะมีอัตราโทษปรับตั้งแต่ 3 ล้านบาท จนไปถึง 10 ล้านบาท
ตัวอย่างเช่น กรณี Naked Short Selling ถือเป็นลักษณะการกระทำผิดที่มีระดับรุนแรงมาก บทระวางโทษปรับเป็นเงินต่อลักษณะการกระทำผิดจึงมีอัตราโทษปรับ 3 เท่าของกำไรที่ได้รับ แต่ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท เป็นต้น
“สืบเนื่องจากกรณีที่มีเรื่องของ Naked Short Selling ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เล็งเห็นว่าควรที่จะมีการปรับบทลงโทษให้สูงขึ้น จากเกณฑ์เดิม ไม่ได้ระบุรายละเอียดที่ชัดเจน มีเพียงบอกถึงโทษปรับไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อลักษณะการกระทำผิด และมีโทษปรับต่อรายการ รวมถึงยังเป็นการส่งสัญญาณกับทางบริษัทหลักทรัพย์ หากมีการส่งคำสั่งไม่เหมาะสม จะมีบทระวางโทษปรับที่หนัก” นายเอนก กล่าว
อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์ได้กำหนดบทบัญญัติการเพิ่มโทษ สำหรับกรณีกระทำผิดโดยจงใจหรือเอื้อประโยชน์ให้ลูกค้า หรือหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ และข้อกำหนดตลาดหลักทรัพย์โดยสามารถปรับเพิ่มได้อีกไม่เกิน 10 ล้านบาท และตลาดหลักทรัพย์ได้กำหนดแนวทางการพิจารณาความผิดและลงโทษสมาชิกที่ใช้ภายใน เพื่อกำหนดโทษปรับเป็นเงินที่แน่นอน / มีการกำหนดปัจจัยเพิ่ม-ลดโทษอย่างชัดเจน ไม่เปิดช่องให้มีการใช้ดุลพินิจได้มากจนเกินสมควร และนำมาใช้บังคับกับสมาชิกทุกรายด้วยมาตรฐานเดียวกัน โดยจะมีผลใช้บังคับกับการกระทำผิดของสมาชิกที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่วันที่หลักเกณฑ์บทระวางโทษใหม่ มีผลใช้บังคับเป็นต้นไป