“แพทองธาร” ปลื้ม ไทยได้เป็น “คณะมนตรี UNHRC” ด้วยคะแนนสูงสุด

นายกฯ “แพทองธาร ชินวัตร”ปลื้ม หลังประเทศไทยได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรี UNHRC ด้วยคะแนนสูงสุดย้ำ รัฐบาลให้ความสำคัญคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (10 ต.ค.67) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ระหว่างการเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44-45 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ที่ สปป.ลาว โพสต์ข้อความขอบคุณ หลังประเทศไทยได้รับเกียรติในการเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ วาระปี พ.ศ. 2568-2570 (United Nations Human Rights Council: UNHRC) จากการลงคะแนนเลือกตั้งในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ

โดย นางสาวแพทองธาร ระบุว่า ขอขอบคุณผู้นำอาเซียนและประเทศคู่เจรจาหลายท่าน ที่ได้มาแสดงความยินดีกับดิฉันต่อการที่ประเทศไทยได้รับเลือกตั้งเข้าไปดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ วาระปี 2568 – 2570 ด้วยคะแนนเสียงสูงสุดในกลุ่มเอเชียแปซิฟิคในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในวันนี้ ซึ่งดิฉันได้ยืนยันว่ารัฐบาลไทยจะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศ และจะทำงานร่วมกับนานาประเทศในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศค่ะ

I would like to express my sincere appreciation to the ASEAN leaders and Dialogue Partners for their congratulations extended to me during the ASEAN Summits here in Vientiane on Thailand’s election to the Human Rights Council for the term 2025 – 2027, with the highest votes among candidates in the Asia Pacific Group. I underlined Thailand’s commitment to promoting and protecting human rights in the country and working closely with other countries to advance human rights at the international level.

ด้านนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การเลือกตั้งวาระนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่ประเทศไทยได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนสูงสุดถึง 177 คะแนน ในกลุ่มประเทศเอเชีย – แปซิฟิก ซึ่งถือเป็นคะแนนสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมาในภูมิภาค อันเป็นการสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของไทยในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ประเทศไทยจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิก UNHRC ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป โดยมีวาระ 3 ปี ร่วมกับประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับเลือก รวมทั้งสิ้น 18 ประเทศ ได้แก่ ไทย, เบนิน, โบลิเวีย, โคลอมเบีย, ไซปรัสเช็ก, คองโก, เอธิโอเปีย, แกมเบีย, ไอซ์แลนด์, เคนย่า, หมู่เกาะมาร์แชลล์, เม็กซิโก, มาเซโดเนียเหนือ, กาตาร์, สเปน, เกาหลีใต้ และสวิตเซอร์แลนด์

“รัฐบาลเชื่อมั่นว่าการมีส่วนร่วมในฐานะสมาชิก UNHRC จะช่วยยกระดับมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ พร้อมเสริมสร้างภาพลักษณ์ของไทยในเวทีระหว่างประเทศ โดยการได้รับเลือกครั้งนี้จะเปิดโอกาสให้ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการผลักดันประเด็นสิทธิมนุษยชนในเวทีโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง และพร้อมที่จะทำงานอย่างแข็งขันร่วมกับประเทศสมาชิกอื่น ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนร่วมกันต่อไป” นายจิรายุ กล่าวทิ้งท้าย

Back to top button