ก.ล.ต.ปรับเกณฑ์ “โบรกเกอร์” ประกอบธุรกิจอื่นได้ หากเกี่ยวข้องธุรกิจหลัก
ก.ล.ต. ปรับหลักเกณฑ์ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สามารถประกอบกิจการอื่นได้ หากเกี่ยวข้องธุรกิจหลัก เพื่อไม่ให้กระทบลูกค้า สร้างความเชื่อมั่นตลาดทุน
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต.ได้ เปิดรับฟังความคิดเห็นหลักการและร่างประกาศ เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์การซื้อหรือมีหุ้นและการประกอบกิจการอื่นของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้สามารถทำได้เฉพาะกิจการที่เกี่ยวข้องและเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลัก ซึ่งต้องมีการบริหารความเสี่ยงไม่ให้กระทบต่อธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและความเชื่อมั่นของตลาดทุนโดยรวม
โดยที่ผ่านมาผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า รวมเรียกว่า ผู้ประกอบธุรกิจ มีการขยายการประกอบธุรกิจไปยังธุรกิจอื่นที่หลากหลายขึ้น ทั้งส่วนที่ดำเนินการโดยผู้ประกอบธุรกิจเองและที่ผ่านการถือหุ้นใหญ่ในกิจการอื่นโดยไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักทรัพย์หรือธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่เป็นธุรกิจหลัก ซึ่งหากมิได้มีการบริหารจัดการอย่างเพียงพอ อาจมีผลกระทบต่อฐานะ การดำเนินงาน หรือชื่อเสียงความน่าเชื่อถือของธุรกิจหลักได้ ประกอบกับหลักเกณฑ์ในปัจจุบันสมควรปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไป
ทั้งนี้ ก.ล.ต. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับตลาดทุน จึงเห็นควรปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าว เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจประกอบธุรกิจ สามารถประกอบธุรกิจเฉพาะที่เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลัก โดยมีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจกระทบต่อลูกค้าหรือธุรกิจหลักอย่างเพียงพอ รวมทั้งเพื่อให้หลักเกณฑ์ที่ปรับปรุงมีความชัดเจนและสะดวกในการนำไปปฏิบัติมากขึ้น โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
- การประกอบกิจการอื่นและการซื้อหรือมีหุ้น
1.1) ปรับปรุงหลักเกณฑ์ปัจจุบันที่อนุญาตเป็นการทั่วไป โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถประกอบธุรกิจอื่นได้
เมื่อเข้าลักษณะครบถ้วนตามหลักการที่กำหนด และสามารถใช้ดุลพินิจพิจารณาได้เอง ซึ่งกำหนดให้ทำได้เฉพาะกิจการที่เกี่ยวข้องเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์หรือธุรกิจสัญญาฯ ตามรายการที่กำหนด (positive list) หรือเป็นการใช้ทรัพยากรที่เหลืออยู่ให้เกิดประโยชน์ ทั้งนี้ ต้องไม่เข้าลักษณะเป็นกิจการที่ห้ามดำเนินการ (negative list) ด้วย
1.2) การประกอบกิจการอื่นข้างต้น ครอบคลุมทั้งการดำเนินการโดยผู้ประกอบธุรกิจเอง (same entity) การถือหุ้นเกินกว่ากึ่งหนึ่ง หรือการมีอำนาจควบคุมในบริษัทอื่น
1.3) กรณีเป็นการประกอบกิจการเกี่ยวกับ crypto asset* ให้ทำได้เฉพาะกรณีที่แยกนิติบุคคลในการให้บริการ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อทรัพย์สินของลูกค้า หรือการให้บริการของธุรกิจหลักทรัพย์ หรือ ธุรกิจสัญญาฯ
อย่างไรก็ดี สำหรับกรณีผู้ประกอบธุรกิจที่ประสงค์จะเป็นผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล (DA custodial wallet provider) สามารถให้บริการภายใต้ same entity ได้ เนื่องจากเป็นการเก็บรักษา สินทรัพย์ดิจิทัล โดยไม่ได้ให้บริการซื้อขายหรือลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลให้แก่ลูกค้า
1.4) ผู้ประกอบธุรกิจต้องแจ้งให้ ก.ล.ต. ทราบล่วงหน้า 30 วันก่อนเริ่มการประกอบกิจการอื่น ซึ่ง ก.ล.ต.
อาจทักท้วงการดำเนินการของผู้ประกอบธุรกิจได้ และอาจสั่งให้ปรับปรุงให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
1.5) กำหนดบทเฉพาะกาล ให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ประกอบกิจการอื่นอยู่ก่อนแล้ว โดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์
ที่กำหนดข้างต้น ต้องดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ
สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มีการซื้อหรือมีหุ้น หากลงทุนในระดับที่มีนัยสำคัญและเป็นการลงทุนระยะยาวผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดเพิ่มเติม เช่น กำหนดนโยบายหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลงทุนซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจ วิเคราะห์ความเสี่ยง และแจ้ง ก.ล.ต. ล่วงหน้า 30 วันก่อนการเข้าไปลงทุน เป็นต้น
- การประกอบกิจการซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยมีสัญญาขายหรือซื้อคืน (repo และ reverse repo)
2.1) ปรับปรุงประเภทหลักทรัพย์ในธุรกรรม repo และ reverse repo โดยหลักทรัพย์ประเภทหุ้นกู้ ต้องมีอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ BBB+ หรือเทียบเท่าขึ้นไป และยกเลิกการอนุญาตให้ทำธุรกรรมดังกล่าวบนหลักทรัพย์ประเภทหน่วยลงทุน และหลักทรัพย์จดทะเบียน
2.2) อนุญาตให้ผู้ประกอบธุรกิจทำธุรกรรม reverse repo กับผู้ลงทุนสถาบันเท่านั้น โดยต้องเป็นไปเพื่อการบริหารสภาพคล่องส่วนเกิน และผู้ประกอบธุรกิจต้องมีระบบการบริหารความเสี่ยงเพิ่มเติม
2.3) ผ่อนคลายให้คู่สัญญาเป็นผู้ที่ไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทยได้
- การให้บริการด้านสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (สัญญาฯ)
3.1) ให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ที่ไม่ว่าจะเป็นบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ด้วยหรือไม่ สามารถให้บริการสัญญาฯ ที่มีประเภทสินค้าหรือตัวแปรอ้างอิง (underlying) ได้เท่าเทียมกัน
3.2) ให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สามารถให้บริการสัญญาฯ ที่ไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. (เช่น สัญญาฯ ในต่างประเทศ หรือสัญญาฯ ที่มีสินค้าหรือตัวแปรอ้างอิงนอกเหนือจากประเภทที่กำหนดตาม พ.ร.บ. สัญญาฯ เป็นต้น) ตามหลักการเดียวกับการให้บริการลูกค้าลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ กล่าวคือ กรณีให้บริการแก่ผู้ลงทุนรายย่อย สัญญาฯ ดังกล่าวจะต้องมีการซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสัญญาฯ ที่อยู่ภายใต้กำกับดูแลของหน่วยงานที่กำหนด โดยมีลักษณะทำนองเดียวกับสัญญาฯ ที่สามารถซื้อขายได้ในประเทศ ทั้งนี้ กรณีเป็นสัญญาฯ ที่มีสินค้าหรือตัวแปรอ้างอิงเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล อนุญาตให้ทำได้เฉพาะที่เป็นโทเคนดิจิทัลที่กำหนดสิทธิในการเข้าร่วมลงทุน (Investment Token) เท่านั้น ส่วนกรณีให้บริการแก่ผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนขนาดใหญ่ สามารถให้บริการสัญญาฯ นอกเหนือจากที่กำหนดข้างต้นได้
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นซึ่งมีรายละเอียดการปรับปรุงหลักการและร่างประกาศในเรื่องดังกล่าวบนเว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=1022 และระบบกลางทางกฎหมาย https://law.go.th/listeningDetail?survey_id=NDQ2NURHQV9MQVdfRlJPTlRFTkQ= ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถศึกษาและแสดงความคิดเห็นได้ผ่านช่องทางเว็บไซต์ หรือทาง e-mail : [email protected] [email protected] หรือ [email protected] จนถึงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567