วิกฤต! 16 ตัวแทนผู้รับเหมาไทย ร้อง “บริษัทต่างชาติ” ค้างจ่ายค่าแรงโครงการ CFP กว่าครึ่งปี
ผู้รับเหมาช่วงโครงการพลังงานสะอาด 16 บริษัทใน จ.ชลบุรี รวมตัวเรียกร้อง บริษัทผู้รับเหมาหลักชาวต่างชาติโครงการ CFP เร่งจ่ายเงินค่าจ้างที่ค้าง 6 เดือน ก่อนบริษัทไทยจะแบกรับไม่ไหว ลอยแพแรงงานในสังกัดกว่า 20,000 ชีวิต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานนี้ (15 ต.ค.67) สหพันธ์ผู้รับเหมาโรงกลั่น TOP โครงการพลังงานสะอาด CFP (Clean Fuel Project) โรงกลั่นน้ำมันใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ที่เกิดจากการรวมตัวของบริษัทผู้รับเหมาช่วงไทย 16 บริษัทที่มี นายฉัตรมงคล เขมาภิรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท SCC จำกัด พร้อมด้วยนายยุทธนา กาญจนารมย์ ฝ่ายประสานงานองค์กร CAZ นายวีระพล โอชารส กรรมการผู้จัดการ CKC นายชนินทร์ เสตะปุระ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร IETL และนายณัฐวุฒิ รัฐชัยสิทธิ์, กรรมการและรองผู้จัดการทั่วไป TREL เป็นแกนนำ ได้ร่วมกันแถลงถึงผลกระทบที่เกิดจากการที่บริษัทผู้รับเหมาหลัก จ่ายเงินล่าช้าต่อเนื่อง จนส่งผลโดยตรงต่อการดำเนินงานของผู้รับเหมารายย่อย
โดยระบุว่า ปัญหาของการไม่ได้รับเงินค่างวดงานติดต่อกันนานกว่า 6 เดือนว่า ไม่เพียงแต่จะทำให้ผู้รับเหมาหลายรายประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินจนกระทบต่อความสามารถในการดำเนินงานตามกำหนดเวลา รวมถึงคุณภาพของโครงการโดยรวมเท่านั้น แต่ยังต้องเจอปัญหาเรื่องการจัดสรรงบประมาณ เพื่อจ้างงานและจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์
นอกจากนี้ บริษัทผู้รับเหมาช่วงยังต้องเผชิญความเสี่ยงที่จะไม่สามารถดำเนินงานตามสัญญาได้ หากปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที เนื่องจากขณะนี้เริ่มมีผลกระทบกับบริษัทผู้รับเหมาช่วง เช่น บริษัทผู้รับเหมาช่วงบางรายต้องติดค้างค่าแรงคนงานจนเกิดการประท้วง บริษัทผู้รับเหมาช่วงที่มีสายป่านยาวเริ่มเกิดปัญหาสภาพคล่องและอาจต้องเลิกจ้างคนงานทั้งหมดในไม่ช้า คนงานในไซด์งานอาจไม่ได้รับเงินค่าจ้างและเงินชดเชยมากถึง 20,000 คน ซึ่งอาจส่งผลกระทบถึงคนในครอบครัวกว่า 60,000 คน หากบริษัทผู้รับเหมาช่วงไม่มีทางออก จนถึงขึ้นเลิกจ้างคนงานโครงการพลังงานสะอาด ก็จะไม่สามารถก่อสร้างได้แล้วเสร็จตามกำหนด
ส่วนเหตุที่บริษัทผู้รับเหมาช่วง ไม่ได้ค่างวดงานแล้วแต่ยังต้องทำงานต่อ เนื่องจากสัญญาที่ระบุว่าบริษัทผู้รับเหมาช่วงไม่สามารถหยุดงานได้ในทุกกรณี อีกทั้งการไม่จ่ายค่าจ้าง ไม่ถือเป็นความผิดให้หยุดงานหรือเลิกสัญญา ซึ่งหากเกิดการฟ้องร้องจะต้องเดินทางไปขึ้นศาลที่ประเทศสิงคโปร์ ภายใต้การใช้กฎหมายของประเทศอังกฤษ
ทั้งนี้ ได้มีเรียกร้องให้เจ้าของโครงการประกาศความชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร ในกรณีที่บริษัทรับเหมาช่วง ไม่สามารถดูแลคนงานต่อไปได้ เนื่องจากไม่ได้ผู้รับค่าจ้างกว่า 6 เดือน โดยตั้งคำถามว่าบริษัทรับเหมาช่วง จะเรียกร้องเงินค่าจ้างได้จากใคร รวมถึงบริษัทรับเหมาช่วง ไม่ต้องการให้ผู้รับเหมาจากต่างประเทศเอาเปรียบบริษัทผู้รับเหมาในประเทศไทย และหากภายหลังการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการแล้ว บริษัทเจ้าของโครงการยังไม่มีแนวทางที่จะดำเนินการอย่างใดก็พร้อมที่จะระดมผู้บริหารทั้ง 16 บริษัทและพนักงาน เดินเท้าจากบริเวณโค้งโรงเรียนบุญจิตวิทยา ไปยังด้านหน้าโรงกลั่นฯ เพื่อยื่นหนังสือต่อผู้บริหารในเวลา 09.00 น. ของวันที่ 18 ตุลาคม
นอกจากนี้ บริษัทรับเหมาช่วง ยังมีเป้าหมายที่จะเข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เพื่อให้ช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการและแรงงานที่ทำงานในพื้นที่ และสุดท้ายหากปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขเป้าหมายต่อไปกระทรวงพลังงาน-อุตสาหกรรม
ทั้งนี้ มีรายงานว่า สำหรับโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project) มีมูลค่าโครงการรวมทั้งสิ้น 4,825 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 158,404 ล้านบาท ซึ่งมีระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี (เริ่มดำเนินการปี 2562 คาดว่าแล้วเสร็จ 2566 สถานที่ก่อสร้าง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี) โดยมีผู้รับเหมาช่วง 16 บริษัทที่ได้รับความเดือดร้อนและลงชื่อขอความช่วยเหลือประกอบด้วย 1.CAZ 2.CKC 3.CMG 4.FSC 5.IETL 6.ITE 7.LHL 8.RCS 9.RMC 10.SCC 11.SBD 12.STECON 13.SWOT 14.TJEL 15.TREL และ 16.VAP