นิรโทษกรรมส่อยืด! “แพทองธาร” ยันต้องคุย “พรรคร่วมฯ” หลังหลายฝ่ายไม่เห็นด้วย

‘อนุทิน’ ย้ำ ‘นิรโทษกรรม’ ต้องไม่มีคดีทุจริต-มาตรา 112 ด้านนายกรัฐมนตรี เตรียมหยิมปมนิรโทษกรรมหารือในวงรับประทานอาหารพรรคร่วมฯ 21 ต.ค.นี้


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (16 ต.ค. 67) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนิรโทษกรรมที่พรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรคไม่เห็นด้วยว่า ทุกเรื่องต้องคุยกัน ทั้งนี้ อาจมีโอกาสได้หารือกันในการนัดพรรคร่วมรัฐบาลรับประทานอาหาร วันที่ 21 ตุลาคมนี้

เมื่อถามว่า ได้พูดคุยกับฝ่ายกฎหมายแล้วหรือไม่ หลังจากนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ยื่นร้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทย ต่อศาลรัฐธรรมนูญใน 6 ข้อหา ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้หันมาถามกลับว่า “เอ๊ะ ใครนะใครฟ้องนะ”

ด้าน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึง

กรณีสภาผู้แทนราษฎร จะพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ในวันที่ 17 ตุลาคมนี้ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ยังไม่ได้มีการพูดคุย เข้าใจว่าเขาจะเลื่อน

เมื่อถามถึงท่าทีพรรคร่วมรัฐบาลที่จะมีมติงดออกเสียงต่อรายการงานของกมธ.ฯ นายภูมิธรรม กล่าวว่า เรื่องนี้เรายังไม่ได้คุยกัน เป็นความเห็นแต่ละพรรค แต่พอถึงเวลามีการประชุมร่วมกันก็ต้องคุยเรื่องเหล่านี้

ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ย้ำจุดยืนท่าทีของพรรคภูมิใจไทยต่อร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมควรนำเข้าสู่การพิจารณาต่อที่ประชุมรัฐสภาหรือไม่ว่า ยืนยันฝั่งของพรรคภูมิใจไทย ในเรื่องมาตรา 112 จะไม่มีการนิรโทษกรรม ซึ่งถือว่าเป็นจุดยืนของพรรค มาแต่ไหนแต่ไร

ส่วนการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ไม่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 แต่เป็นการเคลื่อนไหวด้วยความเห็นต่างหรือหวังดีต่อบ้านเมือง แต่อาจจะมีความคิดที่ไม่ตรงกัน แบบนั้นก็สามารถคุยกันได้

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ประเด็นการทุจริตจะต้องนำมากำหนดในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ด้วยหรือไม่ นายอนุทิน ตอบว่า ประเด็นทุจริตไม่ต้องถามอยู่แล้ว ใครจะไปนิรโทษกรรม

ด้าน นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชนในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวโดยสรุปว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพูดคุยในเรื่องของเนื้อหาอีก เพราะผ่านการพิจารณาร่วมกันของกมธ. ซึ่งมีตัวแทนจากทุกพรรคการเมืองมาแล้ว อีกอย่างในส่วนของตัวรายงานเป็นเพียงผลการศึกษาที่ทำให้สังคมหรือสภาฯ เห็นทางเลือก หรือทางออกของความขัดแย้ง หรือการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากคดีทางการเมืองที่ผ่านมา ฉะนั้นเราควรรับร่างรายงานให้ผ่านสภาฯ โดยเร็ว เพราะไม่น่ามีเหตุผลที่สภาฯ จะโหวตไม่รับหรือไม่ผ่านหลักการ

รายงานฉบับนี้เป็นเพียงแค่ผลการศึกษาและทางเลือก ฉะนั้นสิ่งที่สภาฯ ทำได้ คือการเปิดให้สังคมได้เห็นทางเลือกที่เป็นไปได้มากที่สุด ส่วนการตัดสินใจว่าตัวร่างกฎหมายจะทำถึงขั้นไหน เป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่กฎหมายจะถูกเสนอเข้าสู่สภาฯ จึงไม่เห็นเหตุผลหรือความจำเป็นใดๆ ที่สภาฯ จะไม่ผ่านตัวรายงานฉบับนี้

Back to top button