ก.ล.ต. เพิกถอนไลเซนส์ “สิทธิพงศ์ จุมปาลี” ปมลวงลูกค้า “ซื้อกองทุน” สูญเงิน 20 ล้านบาท

ก.ล.ต. สั่งเพิกถอนการให้ความเห็นชอบผู้แนะนำการลงทุน นายสิทธิพงศ์ จุมปาลี เป็นเวลา 10 ปี  กรณีปฏิบัติหน้าที่ไม่ซื่อสัตย์ โดยหลอกลวงลูกค้าซื้อกองทุนจำนวน 11 ราย เป็นเงินรวม 19.95 ล้านบาท ทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินของลูกค้า ขณะกระทำผิดสังกัดธนาคารกรุงศรีอยุธยา


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานการตรวจสอบจาก ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY และตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมพบว่า ระหว่างปี 2565–2566 นายสิทธิพงศ์ จุมปาลี ได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้ลงทุนโดยมิชอบ จำนวน 11 ราย เป็นเงินรวม 19,950,000 บาท

โดยให้ลูกค้าถอนเงินและมอบเงินสดหรือโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของ นายสิทธิพงศ์ เพื่อซื้อหน่วยลงทุนและให้ลูกค้าลงนามในคำสั่งซื้อหน่วยลงทุน แต่ นายสิทธิพงศ์ ไม่ได้ทำรายการตามความประสงค์ของลูกค้า รวมทั้งจัดทำรายงานการลงทุนและแจ้งผลตอบแทนเพื่อให้ลูกค้าเชื่อว่าได้ลงทุนจริง ทำให้ลูกค้าได้รับความเสียหาย

นอกจากนี้ นายสิทธิพงศ์ ยังหลอกลูกค้าบางรายให้ลงทุนต่อ โดยให้ข้อมูลว่าหน่วยลงทุนที่ลูกค้าถืออยู่ครบกำหนดและให้ลูกค้าลงนามในใบคำสั่งสับเปลี่ยนการถือหน่วยลงทุน หรือเมื่อลูกค้าต้องการไถ่ถอนหน่วยลงทุน นายสิทธิพงศ์จะให้ลูกค้าลงนามในใบคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนและโอนเงินจากบัญชีส่วนตัวของนายสิทธิพงศ์เข้าบัญชีของลูกค้า

โดย ก.ล.ต. พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของนายสิทธิพงศ์เป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือให้บริการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้ลงทุนโดยมิชอบ อันเป็นลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ก.ล.ต. จึงเพิกถอนการให้ความเห็นชอบเป็นผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 2 และกำหนดระยะเวลาในการรับพิจารณาคำขอความเห็นชอบของนายสิทธิพงศ์เป็นบุคลากร ในธุรกิจตลาดทุนในคราวต่อไป เป็นเวลา 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2567

ทั้งนี้ ในการพิจารณากำหนดระยะเวลาข้างต้น ก.ล.ต. ได้นำปัจจัยดังต่อไปนี้มาใช้ประกอบการพิจารณาด้วย ได้แก่ บทบาทความเกี่ยวข้องและพฤติกรรมของบุคคลที่ถูกพิจารณา การลงโทษที่บุคคลนั้นได้รับไปแล้ว ผลกระทบ ความเสียหายหรือผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น การแก้ไขหรือการดำเนินการอื่นที่เป็นประโยชน์หรือขัดขวางการปฏิบัติงานของ ก.ล.ต. และประวัติหรือพฤติกรรมในอดีตอื่นใดที่แสดงถึงความไม่เหมาะสมที่จะเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ขอย้ำให้ผู้ลงทุนตรวจสอบรายการซื้อขายหน่วยลงทุนที่ดำเนินการแล้วเสร็จทันทีจากหลักฐานการซื้อขายที่ออกโดยธนาคารหรือบริษัทจัดการลงทุน และตรวจสอบรายงานการถือหน่วยลงทุนและบัญชีเงินฝาก อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งในการโอนเงินลงทุนจะต้องโอนเข้าบัญชีของผู้ประกอบธุรกิจเท่านั้น โดยไม่โอนเงินเข้าบัญชีส่วนตัวของผู้แนะนำการลงทุน เพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจเกิดจากการทุจริตได้

Back to top button