จับตา “บอร์ดแพทย์ สปส.” ประชุมวันนี้! การันตีจ่ายกลุ่มโรคร่วม “ผู้ประกันตน” 1.2 หมื่นบาท

คณะอนุกรรมการทบทวนหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาลคู่สัญญาในระบบประกันสังคม นัดประชุมวันนี้ พิจารณาค่าใช้จ่ายสถานพยาบาล หลังสมาคมโรงพยาบาลเอกชนขอให้การันตีค่าบริการผู้ป่วยกลุ่มโรคร่วมขั้นต่ำที่ 1.2 หมื่นบาทต่อหน่วย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (17 ต.ค. 67) จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการทบทวนหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาลคู่สัญญาในระบบประกันสังคม (เฉพาะกิจ) เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการใช้บริการทางการแพทย์ของผู้ประกันตน, การจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาล รวมถึงปัจจัยที่มีผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายของสถานพยาบาล และจัดทำหลักเกณฑ์อัตราจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาลในระบบประกันสังคม โดยคณะอนุกรรมการฯ ต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 90 วันนับจากลงนามคำสั่ง เพื่อเสนอผลสรุปต่อคณะกรรมการบอร์ดแพทย์

ทั้งนี้ในการประชุมดังกล่าว สมาคมโรงพยาบาลเอกชน จะเสนอขอให้มีการการันตีหรือประกันอัตราการจ่ายเงินดีอาร์จี (Diagnosis Related Group : DRG หรือ กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม) ที่ 1.2 หมื่นบาทต่อหน่วย จากเพดาน 1.5 หมื่นบาทต่อหน่วย เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่ลดลงอีกเหมือนปลายปี 2566 ที่เหลือเพียง 8 พันบาทต่อหน่วย

อย่างก็ตามก่อนหน้านี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เคยให้สัมภาษณ์เห็นด้วยกับขอเสนอของสมาคมโรงพยาบาลเอกชนเรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) พิจารณาปรับเพิ่มอัตราการจ่ายเงิน ดีอาร์จี (Diagnosis Related Group : DRG หรือ กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม) มากกว่า 2 และปรับอัตราค่าบริการรายการในแต่ละหมวดให้มีความเป็นปัจจุบัน เพราะไม่ได้มีการปรับมานานกว่า 5 ปี ซึ่งเรื่องนี้อยู่ระหว่างการหารือ หลักการคือจะให้มาตรฐานเท่าเทียม คือ 1.2 หมื่นบาท ใช้ได้ทั้งปี และได้เรียกทีมประกันสังคมมาคุยแล้ว จึงเป็นที่มาที่คณะกรรมการการแพทย์ ประกันสังคม นัดหมายประชุม เพื่อพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้ได้ตามที่ตกลงกัน ไม่ใช่ว่าตอนต้นปีได้รับการจัดสรรอยู่ที่ 1.2 หมื่นบาท แล้วพอปลายปีเหลือแค่ 8 พันบาท แบบนี้ก็ไม่ได้ ตนไม่เห็นด้วยในลักษณะนี้

ส่วนที่สมาคมโรงพยาบาลเอกชน มีข้อเรียกร้องให้การันตีที่อัตรา 1.5 หมื่นบาท นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ขอให้เป็นตัวเลข 1.2 หมื่นบาทตลอดทั้งปีก่อน และขออย่าเอาไปเปรียบเทียบกับตัวเลขของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง เพราะเวลาที่ผู้ประกันตนไปรักษาโรคร้ายแรงนั้น เราจ่ายให้ไม่อั้นอยู่แล้ว ไม่ได้หยุดแค่ที่ 1.2 หมื่นบาทเท่านั้น หากจำเป็นต้องใช้ 5 หมื่นบาท หรือหลักแสนบาท เช่น โรคมะเร็งก็ไม่ได้มีเพดาน แต่ให้ตามที่ใช้จ่ายจริง เพราะฉะนั้นก็จะมีข้อแตกต่างกัน

Back to top button