โบรกเชียร์ซื้อ KTB-KBANK รับนโยบายรัฐเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ

โบรกมองกนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% มาอยู่ที่ 2.25% มองเป็นลบต่อกลุ่มธนาคาร เพราะรายได้ดอกเบี้ยจะมีโอกาสลดลงทันที ชู KTB-KBANK ท็อปพิก รับนโยบายรัฐเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงแนวโน้มการเติบโตของกำไรปี 67-68 จะยังเติบโตต่อเนื่อง


บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้ (17 ต.ค.67) ว่า กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% มาอยู่ที่ 2.25% กนง. มีมติ 5:2 ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% มาอยู่ที่ 2.25% ต่อปี ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ได้บ้าง โดยไม่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ภายใต้บริบทที่สินเชื่อมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง และอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงอยู่ในระดับที่ยังเป็นกลางและสอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจ

โดยมองเป็นลบต่อกลุ่มธนาคาร เพราะรายได้ดอกเบี้ยจะมีโอกาสลดลงทันที โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ ขณะที่ประเมินว่า กนง. จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 1 ครั้ง ในปี 68 ทั้งนี้ ธปท. ยังคงคาดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ 0.5% และ 1.2% ในปี 67-68 แต่มีการปรับเป้า GDP ปี 67 เป็น 2.7% จากเดิมที่ 2.6% และปี 68 เป็น 2.9% จากเดิมที่ 3.0% โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ ธปท. มุ่งเป้าไปที่การลดหนี้ครัวเรือน ซึ่ง ธปท. คาดหวังว่าจะช่วยลดภาระหนี้ให้กับประชาชนได้บ้าง

โดยกลุ่มธนาคารจะมี downside ต่อประมาณการกำไรสุทธิปี 67 ราวลดลง 0.5% ขณะที่หุ้นที่ได้รับผลกระทบต่อกำไรสุทธิเรียงจากมากไปน้อยคือ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ลดลง 0.65%, ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ลดลง 0.64%, ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ลดลง 0.52% และบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ลดลง 0.50% ขณะที่หุ้นที่ได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงคือธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP เพิ่มขึ้น 0.58% และบริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO เพิ่มขึ้น 0.38% จากการคำนวณที่คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ลดลง 0.25% เป็นระยะเวลา 2.5 เดือน

ทั้งนี้ยังคงน้ำหนักกลุ่มธนาคารเป็น “เท่ากับตลาด” เพราะนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ รวมถึงแนวโน้มการเติบโตของกำไรปี 67-68 จะยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่องอีก 5-6% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ valuation ยังถูกเทรดที่ระดับเพียง 0.70 เท่า ทั้งนี้ ได้รวมผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% ในปี 68 แล้ว โดยยังเลือก KBANK และ KTB เป็น Top pick

KBANK โดยยังคงแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 176.00 บาท เพราะคุณภาพของสินทรัพย์ที่ดีขึ้น และจะดีขึ้นไปอีกหลังจากทำ JV AMC กับ BAM ได้สำเร็จ และคาดการณ์กำไรไตรมาส 3/67 จะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน จากสำรองฯ ที่ลดลง รวมถึงมี valuation ถูก โดยซื้อขายเพียง 0.65 เท่าของ PBV ถูกกว่ากลุ่มที่ 0.70 เท่า และถูกกว่า SCB ที่ 0.80 เท่าของ PBV

KTB โดยยังคงแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 23 บาท เพราะกำไรสุทธิปี 67 อยู่ที่ 4.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มสูงสุดในกลุ่มที่ 15% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนจากสำรองฯ ที่ลดลง และจะเน้นการปล่อยสินเชื่อภาครัฐมากขึ้น ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ ขณะที่ราคาหุ้นยังไม่สะท้อนกำไรรายไตรมาสที่ทำจุดสูงสุดใหม่

Back to top button