คลังตั้งกองทุน 2 แสนล้าน เรียกคืนรถไฟฟ้าทุกสาย เล็งเก็บค่ารถติด จ่ายรีเทิร์นผู้ถือหน่วย
“สุริยะ” จับมือกระทรวงการคลังจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 แสนล้านบาท ซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนทุกสาย เล็งใช้รายได้ค่าธรรมเนียมรถติดปีละ 1.2 หมื่นล้านบาท จ่ายผลตอบแทนให้นักลงทุน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอต่ออายุมาตรการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายใน 2 สายทางที่จะครบกำหนดในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 นี้ คือ สายสีแดง ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต และสายสีม่วง เตาปูน-คลองบางไผ่ ซึ่งได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันจะมีการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 แสนล้านบาท เพื่อซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนทุกสาย โดยเตรียมใช้รายได้ค่าธรรมเนียมรถติดปีละ 1.2 หมื่นล้านบาท
ขณะเดียวกัน กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …. ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรในสมัยการประชุมช่วงเดือนธันวาคม 2567
ทั้งนี้เมื่อ พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมฯ ฉบับดังกล่าว มีผลบังคับใช้แล้ว จะมีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม เพื่อจัดหาเงินทุนมาสนับสนุนนโยบาย เช่น ส่วนแบ่งรายได้โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน, กองทุนอนุรักษ์พลังงาน และงบประมาณ พร้อมยืนยันว่า นโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะใช้ในโครงการรถไฟฟ้าทุกสี ทุกสาย และทุกเส้นทางภายในเดือนกันยายน 2568 ตามที่เคยประกาศไว้อย่างแน่นอน
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลังจะร่วมกันศึกษาการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้า ด้วยการระดมทุนจากนักลงทุน ระยะเวลา 30 ปี วงเงินประมาณ 200,000 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้อคืนสัมปทานในโครงการรถไฟฟ้าทุกเส้นทาง เพื่อให้ภาครัฐ สามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ถูกลง เป็นธรรมและเข้าถึงได้ง่าย อีกทั้งจะศึกษาเรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion charge) เพื่อนำเงินเข้ากองทุนฯ และอาจพิจารณานำไปเป็นดอกเบี้ย (ผลตอบแทน) ให้กับผู้ระดมทุน โดยจะดำเนินการในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า เช่น ถนนสุขุมวิท ถนนสีลม ถนนรัชดาภิเษก เป็นต้น ซึ่งการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว เป็นรูปแบบที่ได้ดำเนินการในต่างประเทศ และประสบผลสำเร็จ เช่น ประเทศอังกฤษ โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในกลางปี 2568
สำหรับการคาดการณ์แนวทางการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดเบื้องต้นนั้น มีแนวทางจะเริ่มจัดเก็บระยะ 5 ปีแรก ในอัตรา 40-50 บาท และช่วง 5 ปีถัดไป จะทยอยเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันในขณะนั้น ซึ่งคาดว่า จะสามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดในพื้นที่ที่กำหนดได้วันละประมาณ 700,000 คัน หรือประมาณ 35 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 12,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อนำมาสนับสนุนการซื้อคืนสัมปทานด้วยเช่นกัน
ด้านนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลังไปร่วมกันศึกษานโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เพราะเป็นนโยบายสำคัญที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภา และถือเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางของประชาชน ช่วยลดปริมาณการใช้รถยนต์ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม โดยต้องไปศึกษาว่าจะใช้วิธีการอย่างไรให้มีความคุ้มค่าทางการเงิน และแหล่งเงินจะมาจากที่ใด โดยจะรีบดำเนินการโดยเร็ว
นายสุริยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการที่ได้มอบหมายให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พิจารณาแก้ปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษ ระยะที่ 1 โดยที่ผ่านมาตนได้สั่งการให้ กทพ.ดำเนินการปรับปรุงระบบเก็บค่าผ่านทาง และลดอัตราค่าผ่านทางสูงสุดไม่เกิน 50 บาทตลอดสาย เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยในระยะแรกจะดำเนินการบนโครงข่ายทางพิเศษในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานคร
โดยทาง กทพ.ได้เจรจาร่วมกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ในฐานะผู้รับสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 เพื่อปรับลดอัตราค่าผ่านทางพิเศษแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการเสนอขอความเห็นชอบการแก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ฉบับแก้ไข) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ฉบับแก้ไข) ตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562
สำหรับการลดค่าผ่านทางที่ทางพิเศษเฉลิมมหานครและทางพิเศษศรีรัชนั้น ผู้ใช้ทางสามารถเดินทางข้ามระบบทางพิเศษในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพฯ จ่ายค่าผ่านทางสูงสุดไม่เกิน 50 บาท สำหรับรถยนต์ 4 ล้อ และช่วยลดเวลาในการเดินทางได้สูงสุด 30 นาที/เที่ยว ข้อดีคือ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน 1,200-3,000 ล้านบาท/ปี และทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น จากการที่ประชาชนนำค่าผ่านทางที่ประหยัดได้มาจับจ่ายใช้สอย รวมถึงช่วยลดก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม และแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง 2.5 (PM 2.5) รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนได้ดียิ่งขึ้น