“คมนาคม”’ เร่งพัฒนาสนามบินอุดรฯ ลุยผุดเทอร์มินัล 3-ปรับปรุงอาคาร 1-2 จ่อแล้วเสร็จปี 71

“คมนาคม”' เร่งพัฒนาสนามบินอุดรฯ ลุยผุดเทอร์มินัล 3-ปรับปรุงอาคาร 1-2 จ่อแล้วเสร็จปี 71 คาดแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2571 โดยสามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 7.2 ล้านคนต่อปี  


นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมท่าอากาศยานอุดรธานีว่า จังหวัดอุดรธานี ถือเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติใช้บริการท่าอากาศยานอุดรธานีเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวช่วงปลายปีนี้ จึงได้สั่งการให้กรมท่าอากาศยาน (ทย.) เตรียมความพร้อมรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยว

นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ กรมท่าอากาศยาน (ทย.) เตรียมความพร้อมของท่าอากาศยานทุกแห่งภายใต้การกำกับดูแลทั้งหมด 29 แห่ง เพื่อรองรับช่วงไฮซีซั่น โดยให้ท่าอากาศยานที่ยังไม่ได้รับใบรับรองสนามบินสาธารณะ จำนวน 23 แห่ง จากปัจจุบันได้รับใบรับรองสนามบินสาธารณะแล้ว จำนวน 3 แห่ง (ส่วนอีก 3 แห่งไม่ได้เปิดให้บริการ คือ ท่าอากาศยานตาก, ท่าอากาศยานแม่สะเรียง และท่าอากาศยานปัตตานี) โดยจะต้องเร่งกระบวนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว พร้อมทั้งรักษาและปรับปรุงการให้บริการด้านความปลอดภัยตามที่ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กำหนด เพื่อรองรับการตรวจของ องค์กรการบินระหว่างประเทศ (ICAO)

ด้านนายดนัย เรืองสอน อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) กล่าวว่า ทย. มีแผนพัฒนาท่าอากาศยานอุดรธานี ประกอบด้วย การสร้างทางเดินเชื่อมภายในและปรับปรุงอาคารที่พักผู้โดยสารในปี 2569, การก่อสร้างศูนย์ขนส่งผู้โดยสาร เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางสู่ระบบขนส่งสาธารณะอย่างไร้รอยต่อ, การก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 3 พร้อมด้วยการปรับปรุงอาคารที่พักหลังที่ 1 และ 2 พร้อมอาคารจอดรถยนต์และอาคารสำนักงาน คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2571 ซึ่งจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้นเป็น 7.2 ล้านคนต่อปี

สำหรับท่าอากาศยานอุดรธานี มีอาคารที่พักผู้โดยสารขนาด 19,200 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 1,200 คนต่อชั่วโมง หรือ 3.456 ล้านคนต่อปี ความยาวทางวิ่ง ขนาด 45 x 3,050 เมตร รองรับอากาศยาน A330/B77 ได้ 11 ลำ ในเวลาเดียวกัน และที่จอดรถรองรับได้ 655 คัน ซึ่งแผนในการพัฒนาท่าอากาศยานดังกล่าวนั้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศ เสริมสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน รวมถึงช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นอุตสาหกรรม MICE CITY ของจังหวัดอุดรธานีให้ก้าวสู่ศูนย์กลางของอาเซียน ซึ่งจากแผนพัฒนาท่าอากาศยานอุดรธานี บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) มีความพร้อมในการบริหารจัดการการจราจรทางอากาศ เพื่อให้สอดคล้องและรองรับการเพิ่มศักยภาพของท่าอากาศอุดรธานี ในการรองรับนักท่องเที่ยวและการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค

Back to top button