โบรกคัด 5 หุ้นเด่น ลุ้นโชว์กำไรไตรมาส 3 โตแกร่ง
คัด 5 หุ้นมีแนวโน้มกำไรไตรมาส 3/67 โตเด่น DMT แตะ 271 ล้านบาท ราคาเป้าหมาย 13.10 บาท, CKP กำไร 1.35 พันล้านบาท ราคาเป้าหมาย 4.70 บาท, ICHI กำไร 398 ล้านบาท ราคาเป้าหมาย 22 บาท, BEM กำไร 1.10 พันล้านบาท ราคาเป้าหมาย 10.90 บาท และ SUN กำไร 130 ล้านบาท ราคาเป้าหมาย 4.68 บาท
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มรายงานผลประกอบการงวดไตรมาส 3/67 ออกมาเติบโต ทั้งจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อนหน้า มาเพื่อให้นักลงทุนใช้ประกอบการตัดสินใจ ได้แก่ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ DMT, บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP, บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI, บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และ บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) หรือ SUN
บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” หุ้น DMT มองกำไรไตรมาส 3/67 เพิ่มขึ้นทั้งจากปีก่อน แบะไตรมาสก่อนหน้าจากปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
พร้อมกันนี้ คาดการณ์กำไรปี 67 และปี 68 ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากแนวโน้มปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและการเติบโตของผู้โดยสารสนามบินดอนเมืองหลังการกลับมาของสายการบิน AirAsia X รวมถึงอานิสงส์จากการปรับขึ้นอัตราค่าผ่านทางในเดือนธ.ค.นี้ ขณะที่ราคาหุ้นในปัจจุบันยังมีราคาไม่แพง ปัจจุบันซื้อขายอยู่ที่ PER ปี 67 ที่ 9.1 เท่า เท่านั้น และให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงถึง 8.9%
ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยคาดการณ์ว่า DMT จะรายงานกำไรสุทธิไตรมาส 3/67 อยู่ที่ 271 ล้านบาท โต 0.8% จากปีก่อน และโต 14.3% จากไตรมาสก่อนหน้า เพิ่มขึ้นจากปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นช่วงเปิดภาคเรียนและเข้าสู่ช่วงฤดูฝน ทำให้มีผู้ใช้ทางยกระดับเพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรที่ติดขัดบนถนนวิภาวดีฯ
โดยคาดการณ์รายได้ค่าผ่านทางอยู่ที่ 628 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.5% จากปีก่อน และเพิ่มขึ้น 7.7% จากไตรมาสก่อนหน้า คาดการณ์จำนวนรถใช้ทางยกระดับในไตรมาส 3/67 อยู่ที่ 112,198 คันต่อวัน เพิ่มขึ้น 4.4% จากปีก่อน, 5.2% จากไตรมาสก่อนหน้า แบ่งเป็นจำนวนรถใช้ทางด่วนสัมปทานเดิม 71,499 คันต่อวัน โต 5.3% จากปีก่อน และโต 2.9% จากไตรมาสก่อนหน้า และสัมปทานส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ 40,699 คันต่อวัน เพิ่มขึ้น 3% จากปีก่อน โต 1.5% จากไตรมาสก่อนหน้า
สำหรับอัตราค่าผ่านทางเฉลี่ยต่อคันอยู่ที่ 60.90 บาท เพิ่มขึ้น 2% จากปีก่อน แต่ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า และสำหรับอัตรากำไรขั้นต้นคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 63.6% จากเดิม 62.2% ในไตรมาสก่อนหน้า จากการบริหารด้านต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะคาดการณ์ว่าปริมาณการจราจรในไตรมาส 3/67 ยังคงเติบโตต่อเนื่อง แต่ตัวเลขปริมาณการจราจรในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 111,476 คันต่อวัน เพิ่มขึ้น 6.3% จากปีก่อน ยังคงต่ำกว่าตัวเลขที่ฝ่ายวิจัยคาดการณ์ไว้สำหรับปี 67 ที่ 128,126 ตันต่อวันค่อนข้างมาก สาเหตุมาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และปริมาณการใช้รถที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่หลัง Covid-19 ทำให้ปรับลดประมาณการปริมาณการจราจรปี 67 ลงมาอยู่ที่ 113,831 คันต่อวัน เพิ่มขึ้น 6.6% จากปีก่อน
ส่งผลให้ประมาณการกำไรปี 67-69 ของฝ่ายวิจัยปรับลดลง 11%, 15%, และ 14% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ยังคงคาดการณ์ว่าปริมาณการจราจรรวมในไตรมาส 4/67 และปี 68 จะเติบโตขึ้นจากการกลับมาให้บริการของสายการบิน AirAisa X ที่จะย้ายทุกเที่ยวบินกลับมาให้บริการที่สนามบินดอนเมือง ส่งผลให้แนวโน้มผู้โดยสารสนามบินดอนเมืองจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อปริมาณการจราจรของ DMT
นอกจากนี้การปรับขึ้นอัตราค่าผ่านทาง 5-10 บาทในเดือนธ.ค.นี้ จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ผลักดันรายได้ค่าผ่านทางและกำไรของบริษัทตั้งแต่ไตรมาส 4/67 เป็นต้นไป
พร้อมกันนี้ ยังคงแนะนำ “ซื้อ” โดยมีมูลค่าที่เหมาะสมใหม่ที่ 13.10 บาท จากเดิม 14.30 บาท โดยคิดจากวิธิ Discount Cash Flow ด้วยสมมติฐาน WACC 9.2% โดยอิงจาก risk free rate ที่ 3.2% risk premium 6.4% Beta 1 และประเมินมูลค่าถึงสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 77 ปัจจัยเสี่ยงมาจากการไม่สามารถขึ้นค่าผ่านทางได้ และจำนวนรถใช้ทางด่วนที่ต่ำกว่าคาดการณ์
นอกจากนี้ บล.ทิสโก้ ยังแนะนำ “ซื้อ” หุ้น CKP คาดการณ์ว่าจะมีกำไรที่เพิ่มขึ้นทั้งจากปีก่อน และไตรมาสก่อนหน้า สำหรับไตรมาส 3/67 โดยได้แรงหนุนหลักจากยอดขายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 (NN2) จากปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเพิ่มขึ้น และส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วม (กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวนมากจากโครงการหลวงพระบาง)
โดยยังมองบวกต่อกำไรไตรมาส 4/67 (แม้ว่าจะมีการลดลงตามฤดูกาลจากไตรมาสก่อนหน้า) เนื่องจากระดับน้ำยังคงสูงทั้งที่ NN2 และไซยะบุรี สำหรับปี 67 ยังคงคาดการณ์ว่ากำไรจะเติบโตเนื่องจากปรากฏการณ์ลานีญาส่งผลให้มีปริมาณน้ำและยอดขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ประมาณการกำไรสุทธิในไตรมาส 3/67 ของ CKP ที่ 1.35 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% จากปีก่อน และ 17 เท่า จากไตรมาสก่อนหน้า หากไม่รวมประมาณการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 32 ล้านบาท (จาก NN2) กำไรปกติคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 1.39 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 37% จากปีก่อน และ 19 เท่าจากไตรมาสก่อนหน้า
สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้ผลประกอบการแข็งแกร่งมาจาก 1) ประมาณการการเติบโตของยอดขายไฟฟ้า 12% จากปีก่อน และไตรมาสก่อนหน้า ส่วนใหญ่มาจาก NN2 (จากปริมาณน้าไหลเข้าที่แข็งแกร่ง) 2) คาดการณ์อัตรากาไรขั้นต้นขยายตัวจาก 24.6% เป็น 28.8% จากปีก่อน (ทรงตัวจากไตรมาสก่อน) และ 3) ประมาณการส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมเพิ่มขึ้น 42% จากปีก่อน
โดยได้แรงหนุนจากประมาณการกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 895 ล้านบาท จาก Luang Prabang Power (สัดส่วน 50%) จากเงินดอลลาร์สหรัฐ 390 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากเงินบาทแข็งค่าขึ้นในระหว่างไตรมาส อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของส่วนแบ่งกาไรโดยรวมจากบริษัทร่วมควรจะลดลงจากประมาณการส่วนแบ่งกาไรจากไซยะบุรีที่ลดลง 66% จากปีก่อน (จากประมาณการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 20 ล้านบาท และปริมาณการขายไฟฟ้าที่ลดลง 22% เนื่องจากการหยุดดาเนินการ 17 วันที่เกิดจากปริมาณน้ำที่มากเกินไป)
ฝ่ายวิจัยคงประมาณการและมูลค่าที่เหมาะสมที่ 4.70 บาท ซึ่งอิงจากการประเมินมูลค่าแบบ DCF และแบบ sum-of-the-parts ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” จากการคาดการณ์การปรับตัวดีขึ้นของกาไรในปี 67 รวมถึงการประเมินมูลค่าหุ้นที่ถูก ซึ่งความเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ ปริมาณน้ำไหลเข้าที่ต่ำกว่าคาดการณ์ ต้นทุนก๊าซที่เพิ่มขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น การแข็งค่าของเงินบาท และการหยุดดำเนินการที่ไม่ได้วางแผนไว้
ขณะเดียวกัน บล.ทิสโก้ จำกัด ยังแนะนำซื้อหุ้น ICHI คาดการณ์กำไรสุทธิไตรมาส 3/67 เพิ่มขึ้น จากรายได้ที่เติบโตและค่าใช้จ่ายที่ลดลง แนวโน้มผลประกอบการทั้งปียังเติบโตจากการออกสินค้าใหม่เน้นสินค้า healthy trend และเครื่องดื่มชาเขียวรสน้ำผึ้งยังเป็นที่นิยม ส่งผลให้ผลประกอบการเติบโตได้ต่อเนื่อง ในส่วนของต้นทุนวัตถุดิบและแพ็กเกจจิ้งปรับลดลงเทียบกับปีที่ผ่านมา อัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวดีขึ้น คาดการณ์ผลประกอบการเติบโตเพิ่มขึ้น 16% (CAGR 3 ปี)
ทั้งนี้ คาดการณ์กำไรสุทธิไตรมาส 3/67 อยู่ที่ 398 ล้านบาท โต 21% จากปีก่อน, โต 5% จากไตรมาสก่อนหน้า) โดยหากไม่รวมรายการพิเศษกำไรจากการขายสินทรัพย์ในไตรมาส 2/67 กำไรหลักจะเติบโต 21% จากปีก่อน, 14% จากไตรมาสก่อน โดยยอดขาย ในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. 67 บริษัทมีอัตราการใช้กาลังการผลิต 80% หรือ 100 ล้านขวดต่อเดือน มากกว่าไตรมาส 2/67 ที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิต 78% การเติบโตของรายได้มาจากกลุ่มเครื่องดื่มชาเขียว กลุ่มเครื่องดื่มสมุนไพรแบรนด์เย็นเย็น น้ำด่างอิชิตันที่มียอดขายเพิ่มขึ้น การออกสินค้าใหม่เน้นสินค้า healthy trend และเครื่องดื่มโซดาแบรนด์ “ตันซันซู” เป็นไปตามเป้าหมายบริษัท ที่มียอดขาย 20 ล้านบาท/เดือน การปรับแพ็กเกจจิ้งหลากหลาย SKU ทำให้ปีนี้ไม่มีผลต่อปัจจัยฤดูกาล สำหรับยอดส่งออกคาดการณ์ว่าลดลงจากปีก่อน และทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า จากกลุ่ม CLM ทรงตัวยกเว้นเวียดนามที่ดีขึ้นแต่สัดส่วนรายได้ยังเล็กน้อย
พร้อมคาดการณ์อัตราทำกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น และทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากกำลังการผลิตไม่เพียงพอและมีการจ้างภายนอกผลิต (OEM) ในบางสินค้ายังไม่สามารถผลิตเองได้ ได้แก่ เครื่องดื่มชาเขียวขนาด 420 มล., เครื่องดื่มพลังงาน “TAN POWER”, เครื่องดื่มชิ้นเนื้อวุ้นมะพร้าวแบรนด์ “ชิวชิว” และเครื่องดื่มชาเขียวแบบกล่อง UHT (เป้าหมายรายได้การจ้างภายนอกผลิต OEM 500 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5.6% ของเป้าหมายทั้งปี 9,000 ล้านบาท) คาดการณ์ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารลดลง จากการทำการตลาดลดลง และไม่มีบันทึกค่าใช้จ่ายเหมือนในไตรมาส 2/67 จากการซื้อเครื่องจักรนำเข้าบันทึกขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 11 ล้านบาท และไม่มีการบันทึกโบนัสล่วงหน้า 2 เดือน ส่งผลให้อัตราทำกำไรสุทธิอยู่ที่ 16.4% เพิ่มขึ้นจาก 15.8% จากปีก่อน และทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าผลประกอบการเติบโตต่อเนื่องจากเครื่องดื่มเน้นกลุ่ม healthy trend เพื่อสุขภาพ และยังมีสินค้าใหม่เพิ่มขึ้น ราคาเป้าหมายอยู่ที่ 22 บาท อ้างอิง PER forward +0.5STD ของ ICHI เฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี อยู่ที่ 20 เท่า ราคาหุ้นปัจจุบันให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงที่สุดในกลุ่มเครื่องดื่มคาดการณ์ปี 67 อยู่ที่ 7% มากกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มเครื่องดื่มอยู่ที่ 4.5%
ขณะที่มี PER และ PBV ปี 67 ต่ำที่สุดในกลุ่มเครื่องดื่มอยู่ที่ 14.2 เท่า และ 3.4 เท่า เทียบกับกลุ่มเครื่องดื่มเฉลี่ย ที่ 20.6 เท่า และ 4.5 เท่า ตามลำดับ และบริษัทมีฐานะการเงินแข็งแกร่ง มี D/E ปี 67 เพียง 0.2 เท่า ต่ำที่สุดในกลุ่ม
ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด ระบุแนะนำ “ซื้อ” หุ้น BEM คาดการณ์ไตรมาส 3/67 มีกำไรโต 14.4% จากปีก่อน โต 10.6% จากไตรมาสก่อนหน้า ที่ 1,109 ล้านบาท ตามผู้ใช้บริการ โดยไตรมาส 3/67 ผู้ใช้ทางด่วนโต 0.4% จากปีก่อนที่ 98.61ล้านคัน และรถไฟฟ้า เพิ่มขึ้น 6.6% ที่ 40.27 ล้านคน รายได้เชิงพาณิชย์คาดการณ์เพิ่มขึ้น 10.7%
ประกอบกับรถไฟฟ้ามีการปรับขึ้นค่าโดยสาร 1-2 บาท/เที่ยว ตามระยะทางเมื่อ 3ก.ค. ทำให้ค่าเฉลี่ยรายได้/ตั๋ว เพิ่มขึ้น 8% เฉลี่ยที่ 29.12 บาท คาดการณ์รายได้รวมโต 5% จากปีก่อน ที่ 4,389 ล้านบาท ต้นทุนคาดการณ์เพิ่มขึ้น 0.5% จากค่าซ่อมบำรุงที่คาดการณ์จะลดลงของทางด่วนและค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้ปรับขึ้นตามการขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้า
ส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (SG&A) คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 8.3% และมีปันผล TTW ที่ 221 ล้านบาท เท่าปีก่อนแต่เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ดีขึ้นมาจากผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเพราะไตรมาส 2/67 เป็นช่วงปิดเทอมแม้ปันผลลดลงเพราะไม่มีปันผลของCKP
ทั้งนี้ ในไตรมาส 4/67 คาดการณ์กำไรยังโตจากปีก่อน แต่จะลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า โดยในไตรมาส 4/67 แนวโน้มยังเติบโตได้จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยบวกจากการเปิดโครการ “ดุสิตเซ็นทรัลพาร์ค-วันแบงค็อก” ที่เปิดในไตรมาส 4/67 หนุนผู้ใช้รถไฟฟ้าและทางด่วนเพิ่มขึ้น รวมถึงผลดีจากการขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าแต่จะอ่อนตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าจากวันหยุดที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ผู้ใช้บริการลดลงและไม่มีเงินปันผล TTW เหมือนในไตรมาส 3/67
ด้านบริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” หุ้น SUN คาดการณ์กำไรโตก้าวกระโดดอย่างมากจากกำไรอัตราแลกเปลี่ยนและยอดขาย RTE แข็งแกร่ง โดยคาดการณ์จะรายงานกำไรสุทธิในไตรมาส 3/67 ที่ 130 ล้านบาท โต 55% จากปีก่อน และโต 98% จากปีก่อนโดยที่กำไรเติบโตก้าวกระโดดอย่างมากเป็นผลจากการประมาณว่ามีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ราว 50 ล้านบาท จากการแข็งค่าของเงินบาทอย่างมาก ณ สิ้นไตรมาสนี้
ขณะที่ คาดการณ์กำไรจากการดำเนินงานลดลง 12% จากปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 15% จากไตรมาสก่อนหน้า อยู่ที่ 104 ล้านบาท ในทิศทางเดียวกับรายได้จากการขายซึ่งคาดว่าจะลดลง 7% จากปีก่อน แต่ดีขึ้น 15% อยู่ที่ 948 ล้านบาท ขณะที่การส่งออกข้าวโพดหวานจะถูกกดดันจากการแข็งค่าเงินบาทและการแข่งขันเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม การลดลงของรายได้จากการส่งออกไม่แย่อย่างที่เคยกังวล เนื่องจากคุณภาพสินค้าที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับคู่แข่งรายอื่น ในขณะที่สินค้าคงเหลือของลูกค้าได้กลับสู่ระดับปกติ นอกจากนี้ยอดขายผลิตภัณฑ์พร้อมรับประทาน (RTE) ขยายตัวอย่างมากอยู่ที่เกือบ 1.4-1.5 แสนชิ้น/วัน จาก 9 หมื่น-1 แสน ชิ้น/วันในปีที่แล้ว กรณีนี้ยังช่วยหนุนให้อัตรากำไรขั้นต้น (GPM) เพิ่มขึ้น 0.8ppts จากปีก่อน อยู่ที่ 21% แต่อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทำให้คาดการณ์ว่า GPM จะลดลง 0.7ppts จากไตรมาสก่อนหน้า
ทั้งนี้ การส่งออกและยอดขายของ RTE ที่ดีกว่าคาด สนับสนุนให้ฝ่ายวิจัยปรับเพิ่มประมาณการรายได้จากการขายขึ้น 6% ในปี 67 และปี 68 ขณะที่การแข็งค่าของเงินบาทจะมีส่งผลลบอยู่บ้างต่อประมาณการ GPM ปี 67 แต่น่าจะถูกชดเชยด้วย GPM ที่สูงขึ้นจาก RTE ในปี 68 ภายหลังจากโรงงานแห่งใหม่เริ่มดำเนินงานได้ในช่วงต้นไตรมาส 2/68 ประกอบกับคาดการณ์ว่าจะบันทึกกำไรอัตราแลกเปลี่ยน 13 ล้านบาทในปี 67 จากเดิมคาดการณ์ว่าขาดทุน 24 ล้านบาท
ดังนั้น จึงปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิขึ้น 11% อยู่ที่ 320 ล้านบาทในปี 67 (ลดลง 10% จากปีก่อน) และ 2% อยู่ที่ 362 ล้านบาทในปี 68F (โต 13% จากปีก่อน)
อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าการดำเนินงานของ SUN จะฟื้นตัวจากครึ่งปีแรกที่ผ่านมาจากการส่งออกดีขึ้นและผลประกอบการของกลุ่ม RTE แข็งแกร่งขึ้นอย่างมากในปีหน้า ถึงแม้จะรวมผลลบจากสมมติฐานอัตราแลกเปลี่ยนของเราแบบอนุรักษ์นิยมที่ 32.5 บาท/US$ แล้วก็ตาม โดยฝ่ายวิจัยยังคาดการณ์ว่ากำไรของ SUN จะกลับมาเติบโตด้วยปัจจัยหนุนหลักจากการเพิ่มกำลังการผลิตของโรงงาน RTE แห่งใหม่
ดังนั้นจึงปรับเพิ่มคำแนะนำขึ้นเป็น “ซื้อ” จากถือ และขยับไปใช้ราคาเป้าหมายปี 68 ที่ 4.68 บาท (จากเดิม 4.20 บาท) อิงจาก PER ที่ 10 เท่า หรือ -0.25 S.D.